ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) วันที่ 19 กรกฎาคม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวสั่งไม่ฟ้องบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) กรณีถูกกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรณีไซฟอนเงิน 263 ล้านบาท บริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ ว่า คดีนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบริษัททีพีไอเนื่องจากพบว่ามีพฤติการณ์กระทำความผิดตามตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในช่วงเดือน ก.ค.2547-ก.พ.2548 บริษัทดังกล่าวคือทีพีไอฯ ได้จ่ายเงินค่าจ้างบริษัท เมซไซอะ บิซีเนสแอนด์ครีเอชั่น จำกัด เพื่อจัดทำสื่อโฆษณาและที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ในโครงการต่างๆ รวม 263 ล้านบาท
ต่อมาบริษัทเมซไซอะได้ไปรับทำประชาสัมพันธ์ด้วยการทำป้ายและสื่อโฆษณาหาเสียงและประชาสัมพันธ์ให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในจำนวนเงิน 258 ล้านบาท อาจจะไม่ได้มีการว่าจ้างกันจริง แต่เป็นการจ่ายเงินให้กับพรรคการเมืองโดยตรง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550
นายธาริตระบุว่า คดีบริษัททีพีไอโพลีนไซฟอนเงิน ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นคดีหลักที่มีการร้องเข้ามา แต่ที่ผ่านมามีการร้องเรียนว่า ดีเอสไอมุ่งทำแต่คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยที่ไม่ทำคดีหลัก และหลังจากที่พนักงานสอบสวนชุดเดิมที่ไม่ดำเนินการให้คดีมีความคืบหน้าได้ขอถอนตัวทั้งหมด ตนจึงตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ มี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน กระทั่งคณะพนักงานสอบสวนชุดใหม่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาและตนในฐานะอธิบดีดีเอสไอก็เห็นชอบสั่งไม่ฟ้อง
“จากการสอบสวนพบว่า การกล่าวหาบริษัททีพีไอฯ เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากการบอกเล่ามาอีกทอดหนึ่ง ผู้กล่าวหาไม่สามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่น อาทิเช่น งบการเงินประจำปี ซึ่งได้จัดส่งให้ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ และศาลล้มละลายกลาง และหลักฐานการทำงานที่ว่าจ้างซึ่งมีความชัดเจนและเชื่อได้ว่า บริษัทเมซไซอะได้มีการทำงานตามที่บริษัททีพีไอโพลีนว่าจ้างจริง” อธิบดีดีเอสไอกล่าว
นายธาริตกล่าวว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวจึงเห็นว่าพยานหลักฐานทั้งปวงยังไม่พอที่จะใช้ยืนยันหรือพิสูจน์ว่าบริษัททีพีไอฯ ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือสรุปได้ว่าไม่มีการไซฟอนเงินออกจากบริษัททีพีไอฯ แต่มีการว่าจ้างบริษัทเมซไซอะทำสื่อโฆษณาจริง
“ผมคงไม่ตอบว่าการสั่งไม่ฟ้องคดีไซฟอนเงินของบริษัททีพีไอฯ จะทำให้น้ำหนักในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ของศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นหรือลดลง เนื่องจากไม่อยากก้าวล่วงศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันการทำงานของดีเอสไอตรงไปตรงมา ไม่มีใบสั่งในการช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ พยานหลักฐานเป็นเอกสารตรวจสอบได้ เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกพยานหลักฐานสั่งไม่ฟ้องคดีของดีเอสไอไปตรวจสอบ” นายธาริตกล่าว
เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีนี้ก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สรุปสำนวนการสอบสวน และส่งเรื่องไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาตามอำนาจ ขณะนี้เรื่องดังกล่าว นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ส่งให้อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์แล้ว โดยอัยการสูงสุดเสนอให้เพิกถอนสิทธิ์การเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จำนวน 40-50 คน
ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายเพื่อต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังดีเอสไอแถลงข่าวว่า กรณีที่กล่าวหาว่าไซฟอนเงินนั้น เดิมเหตุที่ทะลุจนถึงศาลรัฐธรรมนูญได้เกิดจากการสมคบกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงของดีเอสไอกับนักการเมืองระดับแกนนำของพรรคการเมืองหนึ่ง โดยแอบถ่ายข้อมูลจากสำนวนมาทำลายล้างพรรคประชาธิปัตย์ โดยยังไม่มีการสรุปสำนวนว่าใครผิด ใครถูก ใครเกี่ยวข้อง ซึ่งตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามชี้แจงให้สังคมเข้าใจว่าเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้มีอำนาจในดีเอสไอกับนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์กันระดับลึก ทั้งที่จริงดีเอสไอต้องสรุปให้ได้ว่าใครผิด ซึ่งโดยปกติแล้วต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
“ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสรุปได้ 2 ทางคือ หากบริษัททีพีไอฯ และนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารบริษัททีพีไอฯ มีความผิด ก็ต้องส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็จะมาดูว่าในสำนวนมีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งในสำนวนก็คือพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นจึงค่อยมาดำเนินการแจ้งให้ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบริษัททีพีไอฯ ไม่มีความผิด ก็ถือว่าจบกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถหยิบยกกระบวนการใดๆ มาพิจารณาต่อ” นายวิรัตน์กล่าว
เขาบอกว่า อธิบดีดีเอสไอ และรองอธิบดีทั้ง 2 คนเติบโตมาในดีเอสไอก่อนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ซึ่งยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แทรกแซง ก้าวล่วงการทำงานของดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม เมื่อดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องบริษัททีพีไอฯ และนายประชัย ซึ่งแปลว่าเมื่อต้นน้ำไม่ผิด มาถึงพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ควรต้องรับผิดใดๆ เลยในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น กระบวนการจึงสรุปได้ว่า เมื่อดีเอสไอบอกไม่ผิด กระบวนการควรต้องยุติ แต่เนื่องจากระแสการเมืองไปกดดันในสภา กกต.จึงรีบทำสำนวนยุบพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นเหตุให้มีการรีบฟ้องคดีนี้ ทั้งหมดจึงเป็นกระบวนการที่ผิดขั้นตอน ผิดฝา-ผิดตัว หากเดินตามระบบที่ถูกต้องนั้น เมื่อดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องจะไม่สามารถดำเนินคดีกับบริษัททีพีไอฯ และนายประชัย และโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ควรรับผิด
นายวิรัตน์กล่าวต่อว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไปแล้ว อยู่ระหว่างการอ่านสำนวนก็คงต้องพิจารณาต่อ จากนั้นก็คงจะส่งมาให้พรรคประชาธิปัตย์ได้แก้คำร้องภายใน 15 วันถึง 1 เดือน ซึ่งประเด็นนี้เราก็จะชี้แจงต่อศาลให้เข้าใจด้วย โดยจะนำมาเป็นข้อต่อสู้หนึ่งให้เห็นว่าเราถูกกลั่นแกล้ง ถูกกระแสการเมืองบีบ บีบทางด้านความคิด บีบการทำงาน กกต. เพราะที่ผ่านมามีการสร้างความวุ่นวายด้วยการส่งคนสีเสื้อต่างๆ ไปชุมนุมกดดันการทำงานของ กกต.มาแล้ว สำหรับคดี 29 ล้านบาทเป็นเงินสนับสนุนจาก กกต.อนุมัติให้ทำป้ายหาเสียง ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน
นายบัณทิต ศิริพันธุ์ หัวหน้าทีมทนายความเพื่อต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับคดีเงินบริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 258 ล้านบาทโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาดีเอสไอชุด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการสอบสวนกันมาโดยอ้างว่า สัญญาระหว่างบริษัททีพีไอโพลีนกับบริษัทเมซไซอะนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง แต่เมื่อดีเอสไอชุดปัจจุบันดำเนินการสอบสวนแล้วเห็นว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้อง ก็ถือว่าตรงกับข้อต่อสู้ของเราด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
“จะมีการนำกรณีที่ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องครั้งนี้ไปพูดคุยและหารือกันในทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีกรณีนี้ที่ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องเกิดขึ้นเราก็ไม่รู้สึกหวั่นไหวอยู่แล้ว เพราะเรามีหลักฐานและข้อมูลอื่นๆ อีกหลายอย่างที่สามารถพิสูจน์และชี้ให้เห็นได้ว่าการดำเนินการของดีเอสไอชุดของ พ.ต.อ.ทวีนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องอย่างไร” นายบัณฑิตกล่าว
ส่วนกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงการว่าจ้างทนายความคนนอกมาช่วยในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายบัณฑิตกล่าวว่า นายชวนไม่ได้หมายความว่าให้หาทนายความคนนอกมาเสริมหรือมาทำแทนทีมกฎหมายชุดเดิม เพียงแต่นายชวนแสดงความเป็นห่วงหากคดีเงินกองทุนพัฒนาการเมืองของ กกต.29 ล้านบาท มาประดังพอดีกับคดีเงินบริจาคเข้าพรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้านบาทจะทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบากได้ เพราะคดีความนั้นหากมันมาซ้อนๆ กันก็คงจะไม่สามารถแยกภาคไปทำได้ ไม่ใช่ว่าทีมกฎหมายที่ทำคดีนี้มาตั้งแต่ต้นจะทำคดีต่อไปไม่ไหว คาดว่าในสัปดาห์หน้าอาจจะมีการประชุมของทีมกฎหมายพรรคอีกครั้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากจะให้เข้าใจว่าเรื่องนี้ที่ดีเอสไอรับมาทำเป็นเรื่องคดีของทีพีไอ แต่ว่าต่อมาคณะสอบสวนเขาก็มาพาดพิงถึงพรรคประชาธิปัตย์ก็เลยเป็นที่มาคดีของพรรค ส่วนที่ดีเอสไอแถลงเข้าใจว่าคือผลของคดีหลักก็คือตัวของบริษัททีพีไอฯ แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะมีผลอย่างไรต่อคดีของพรรค
ผู้สื่อข่าวถามว่าดีเอสไอมาแถลงช่วงนี้อาจถูกครหาว่าทำเพื่อช่วยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าไม่ทราบรายละเอียด แต่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ก็ต้องสามารถตอบได้ว่าที่แถลงมามีข้อเท็จจริงที่รองรับยังไง
“ไม่มีหรอก จริงๆ แล้วเขาก็ทำงานตามข้อเท็จจริงของแต่ละคดี ไม่มีลักษณะที่จะมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง” นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการกล่าวหาว่ามีการนำดีเอสไอมารับใช้การเมือง
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวตอบโต้ดีเอสไอว่า เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นตนเรื่องนี้สั่งฟ้อง 100 เปอร์เซ็นต์ หลักฐานมันชัดเจนขนาดนี้ไม่รู้ว่าดีเอสไอคิดอะไรถึงไม่ฟ้อง ต้องบอกว่าแน่มาก อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่ยุติต้องส่งให้อัยการพิจารณาอีกครั้ง ตนเพียงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงต้องรีบออกมาแถลงกันเร็วนัก อธิบดีคนนี้ก็ไม่รู้เป็นอะไรชอบเอาเรื่องในสำนวนที่ไม่ควรเปิดเผยมาแถลงข่าว ตนถึงบอกพรรคเพื่อไทยว่าขอให้ทำเป็นนโยบาย หากชนะเลือกตั้ง จะต้องย้ายอธิบดีดีเอสไอภายใน 24 ชั่วโมง
“สำหรับประเด็นนี้ต้องแยกส่วนจากคดียุบพรรค มันไม่เกี่ยวกัน เรื่องยุบพรรคจะยุบหรือไม่ผมไม่ติดใจ แต่ถ้าไม่ยุบ พรรคเพื่อไทยได้ 300 เก้าอี้ขึ้นแน่นอน การปราศรัยจะสะดวกขึ้น วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ยุบก็พังไม่ยุบก็พัง” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ทางด้านนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานช่วยเหลือกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด หนึ่งในคณะทำงานคณะทำงานยุบพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีดีเอสสั่งไม่ฟ้อง บ.ทีพีไอฯ ว่า ไม่มีผลกระทบกับรูปคดียุบพรรคในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคนละส่วนกัน กรณีคดีไซฟอนเงินเกี่ยวโยงกับภรรยานายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งเป็นคดีอาญา แต่กรณีคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นการรับบริจาคเงิน ซึ่งเป็นคดีพิเศษที่ต้องนำเข้าศาลรัฐธรรมนูญและใช้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ โดยองค์คณะตุลาการจะเป็นผู้แสวงหาความจริงของพยานหลักฐานและพยานบุคคล
“การที่ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้อง ย่อมเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถนำมายกเป็นข้อต่อสู้ในคดียุบพรรคได้ เป็นสิทธิของผู้ร้อง ซึ่งก็ต้องดูว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร แต่ถ้าถามถึงความเชื่อมโยง 2 คดีนี้แตกต่างกันในรูปคดีชัดเจน อัยการไม่ได้ติดใจหรือสงสัย กรณีไซฟอนเงิน เพราะระบบการสืบคดีแตกต่างกันสิ้นเชิง” นายนันทศักดิ์กล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1240 ครั้ง