นายวีระกล่าวว่า เอกสารที่นายสุวิทย์ไปลงนามระบุว่า ข้อ 1 แสดงเจตนารมณ์ว่าไปยอมรับแผนการบริหารจัดการที่กัมพูชายื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก ข้อ 2 ไปยอมรับว่าไทยต้องปฏิบัติตามผลการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31, 32, 33 ส่วนข้อที่ 3 ได้ยอมรับว่าที่ประชุมรับเอกสารแผนการบริหารจัดการของทางกัมพูชา โดยไม่ถือว่าเป็นการยื่นที่ผิดระเบียบ ทั้งที่รัฐบาลไทยเคยคัดค้านมาตลอดว่ากัมพูชายื่นเอกสารไม่ทันตามกำหนดเวลา
ข้อ 4 เอกสารดังกล่าวแสดงความยินดีให้กัมพูชาเดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการปกป้องคุ้มครองและพัฒนาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ หรือไอซีซี เพื่ออนุรักษ์ปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และข้อที่ 5 ได้บันทึกกันว่าในการประชุมปีหน้าที่ประเทศบาห์เรนจะพิจารณาแผนพัฒนาปราสาทพระวิหารชิ้นนี้ ดังนั้นในการประชุมปีหน้าเราอาจจะโดนกฎหมายปิดปาก ถึงจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีแต่ผลผูกพันยังคงเดิม
“ขอถามว่าการลงนามของคุณสุวิทย์เป็นการกระทำเกินอำนาจหรือไม่ รัฐบาลต้องตอบประชาชน อาจจะร้องผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่คุณสุวิทย์ไปยอมให้กัมพูชาตั้งกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการบนพื้นที่ของไทยนั้นขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ และถ้าขัดจะถือว่ามีผลผูกพันกับประเทศไทยหรือไม่ คู่ตกลงจะยอมยกเลิกให้ประเทศไทยหรือไม่ เพราะขณะนี้รัฐมนตรีของกัมพูชาประกาศว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่
ตรงข้ามกับรัฐบาลไทยที่บอกว่าไทยไม่เสียเปรียบ ฉะนั้นรัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจน เชื่อว่านายกรัฐมนตรีอาจยังไม่รู้ ทั้ง 5 ข้อไม่มีจุดใดที่แสดงให้เห็นว่าคุณสุวิทย์คัดค้านแผนการบริหารจัดการของกัมพูชาตามที่รัฐบาลสั่งไป โดยเฉพาะไม่มีการคัดค้านแผนที่แนบท้าย แอล 7017 ที่มีสัดส่วน 1 ต่อ 2 แสน” นายวีระกล่าว และว่า ตนและเครือข่ายจะทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของนายสุวิทย์ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ และในวันที่ 7 สิงหาคม จะไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อฟังคำตอบจากปากนายกฯ ว่าจะยกเลิกเอ็มโอยู 43 หรือไม่
สำหรับเอกสารที่นายวีระอ้างถึงว่านายสุวิทย์ได้ลงนามนั้นคือ “ร่างการตัดสินใจข้อประนีประนอมที่เสนอโดยประธาน : 34 COM 7B, 66” ระบุว่า คณะกรรมการมรดกโลก 1.ได้รับเอกสาร WHC-10/34.COM/7B.Add.3. แล้ว
2.ยกเลิกการตัดสินใจ 31 COM 8B, 24, 32 COM 8B, 102, และ 33 COM 7B, 65 ซึ่งได้กระทำเมื่อคราวการประชุมครั้งที่ 31 (เมืองไครส์เชิร์ช ปี 2550) การประชุมครั้งที่ 32 (เมืองควิเบก ปี 2551) และการประชุมครั้งที่ 33 (เมืองเซวิลล์ ปี 2552) ตามลำดับ
3.รับทราบว่าศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารที่ยื่นโดยรัฐภาคีแล้ว 4.ตอบรับเพิ่มเติมการดำเนินการของรัฐภาคีที่มุ่งสู่การจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ เพื่อการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน 5.ตัดสินใจที่จะพิจารณาเอกสารต่างๆ ที่ยื่นโดยรัฐภาคีในการประชุมครั้งที่ 35 ในปี 2554
ด้านนายสุวิทย์แถลงชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นร่างข้อมติของประธานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งตนก็ดูแล้วไม่มีข้อผูกพันอะไร จึงลงนามเพื่อให้รับทราบไว้เท่านั้น โดยมติทั้ง 5 ข้อนั้นเป็นมติเดิมที่เคยตกลงไว้ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ไม่ใช่มติใหม่ แต่มีข้อหนึ่งเป็นข้อมติที่ให้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นปีหน้า ดังนั้นถือว่าเป็นผลประโยชน์ของฝ่ายไทย ถ้าเราลงมติตามข้อเสนอ 7 ข้อของกัมพูชาต่างหาก จะเป็นการยอมรับว่าที่ประชุมเห็นชอบตามกัมพูชา และทำให้การขึ้นทะเบียนมีความสมบูรณ์
“ยืนยันว่าที่ผมได้ลงนามไป ไม่มีข้อใดที่ระบุว่าพิจารณา หรือยอมรับเอกสารแผนบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วย และยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว ดังนั้นจะให้เราพิจารณาได้อย่างไร ถึงแม้ว่าจะมีลายเซ็นย่อของผมก็ไม่ถือเป็นเอ็มโอยูหรือเป็นข้อผูกพันใดๆ ที่มีผลผูกมัดกับประเทศไทยไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม” นายสุวิทย์กล่าว
ส่วนข้อมติว่าให้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานนานาชาติหรือไอซีซีนั้น นายสุวิทย์กล่าวว่า เป็นการรายงานของกัมพูชาตามข้อมติเดิมที่ควิเบก แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ยอมรับ เพราะถึงแม้เป็นมติ แต่ถ้าจัดตั้งโดยกัมพูชาฝ่ายเดียวเราก็ยอมรับไม่ได้ ถ้าจะจัดตั้งไอซีซี ต้องพิจารณาองค์ประกอบว่ากรรมการจะมาจากไหน กระบวนการสรรหาเป็นอย่างไร และอำนาจหน้าที่จะเป็นอย่างไร ถ้าข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนเราก็ไม่เอาด้วย
“ผมได้ทำความเข้าใจกับประธานคณะกรรมการมรดกโลกแล้วว่าการลงนามครั้งนี้ไม่มีข้อความใดที่ไปยอมรับเอกสารของกัมพูชาทำให้เกิดการผูกมัดกับไทยไม่ว่ากรณีใดก็ตาม” นายสุวิทย์กล่าว
เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดนายซก อาน รมว.ต่างประเทศกัมพูชาจึงประกาศว่าการประชุมครั้งนี้เป็นชัยชนะของกัมพูชา นายสุวิทย์กล่าวว่า นายซก อาน จะพูดอะไรก็ได้ที่จะสร้างคะแนนในนิยมในทางการเมืองในประเทศตัวเอง ตนจะประกาศว่าเป็นชัยชนะของไทยก็ไม่เสียหาย
“แต่ความจริงกัมพูชาไม่ได้ชนะ เพราะเอกสารของฝ่ายกัมพูชายังไม่ถูกพิจารณา คณะกรรมการมรดกโลกยังไม่ได้รับเอกสารของกัมพูชาด้วยซ้ำ สถานภาพของกัมพูชาจึงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ยังอยู่จุดเดิมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว”
เขาย้ำว่ารัฐบาลไทยนอกจากจะไม่ยอมรับแผนของกัมพูชาแล้ว ยังคัดค้านไปถึงทุกฝ่ายตั้งแต่ประธานและคณะกรรมการมรดกโลก จุดยืนสำคัญของรัฐบาลไทยคือต้องปักปันเขตแดนให้ชัดเจนก่อน หากทำไม่เรียบร้อยก็ขอเลื่อนระเบียบวาระการประชุมได้ต่อไปจนกว่าจะเรียบร้อย เพราะการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะมองข้ามความสำคัญของอำนาจอธิปไตยหรือดินแดนของประเทศที่อยู่ติดกันไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลง นายสุวิทย์ได้นำเอกสารที่รัฐบาลไทยยื่นคัดค้านแผนการบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารต่อคณะกรรมการมรดกโลกแจกจ่ายสื่อมวลชน พร้อมทั้งบ่นว่า “หนักใจที่สุดตอนนี้คือคนไทยไม่เป็นเอกภาพ ต่อสู้มาขนาดนี้แล้วยังจะกล่าวหาว่าไปเสียค่าโง่ รู้สึกเหนื่อยใจมาก ถ้าจะถูกถอดถอนเพราะเรื่องนี้ก็ยอม เพราะไม่ใช่เพิ่งโดนครั้งแรก”
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับฟังการบรรยายสรุปการเดินทางไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศบราซิลของนายสุวิทย์ และมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยมีนายสุวิทย์เป็นประธาน เพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมมรดกโลกในปี 2012 แข่งขันกับกัมพูชาและญี่ปุ่น ที่เสนอตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับเจ้าภาพการจัดประชุมในปีหน้าคือประเทศบาห์เรน
นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดนี้จะเร่งติดตามเอกสารแผนบริหารพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารของกัมพูชา เพื่อหาช่องทางในการต่อสู้คัดค้านการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และนำไปสู่การขึ้นทะเบียนร่วมกันระหว่างสองประเทศ พร้อมกับการดำเนินการปักปันเขตแดนให้แล้วเสร็จ ซึ่ง 1 ปีหลังจากนี้ไป ทางฝ่ายไทยจะเดินสายล็อบบี้ประเทศใหญ่ที่ให้การสนับสนุนประเทศกัมพูชา 4 ชาติ ที่ต้องการให้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ปราสาทพระวิหาร แต่ทางฝ่ายไทยจะเร่งให้ข้อมูลถึงความเป็นมาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่อย่างรุนแรง
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีนายวีระระบุว่านายสุวิทย์ลงนามทำไทยเสียเปรียบว่า ลายเซ็นของนายสุวิทย์ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศไม่ผูกพัน ไม่ใช่หนังสือสัญญา เป็นเพียงการรับทราบการยื่นเอกสารของกัมพูชาไปยังสำนักเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น ไม่ได้มีการพิจารณา และมีการระบุชัดเจนว่าจะเลื่อนไปพิจารณาปีหน้า
ส่วนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการไอซีซีพัฒนาพื้นที่ร่วม ขอเรียนว่าต้องแยกออกจากกัน เพราะคณะกรรมการไอซีซีเป็นอำนาจของกัมพูชา ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ทั้งนี้คณะกรรมการไอซีซีจะต้องทำหน้าที่ตามอำนาจขอบเขตที่มีอยู่เท่านั้น และต้องไม่รุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย หากมีการเชิญไทยเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าวเราก็ไม่เอา ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกเขาก็จะเห็นว่าเรื่องก็ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับเอ็มโอยูปี 2543 นั้น เขาอ้างว่าได้แสดงคุณูปการอย่างชัดเจน ถ้าเราไม่มีเอ็มโอยูปี 43 สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการประชุม ประเทศกัมพูชาจะแนบแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนมาด้วย ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกก็จะบอกว่าแผนที่ฉบับดังกล่าวเป็นแผนที่เพียงฉบับเดียวที่เรามีระหว่างไทยกับกัมพูชา และประเทศไทยก็ไม่เคยปฏิเสธเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ในทางกลับกัน เมื่อเรามีเอ็มโอยู 43 เป็นเหตุผลให้กัมพูชาไม่สามารถแสดงถึงเส้นเขตแดนที่ชัดเจน พื้นที่บริหารจัดการที่ชัดเจนได้
“ย้ำว่าเอ็มโอยู 43 เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยอย่างมาก ร้อยปีเราไม่เคยมีเอกสารหรือหลักฐานใดๆ เลยในการที่จะไปต่อสู้กับกัมพูชาว่าเราไม่ยอมรับอย่างชัดเจน” นายชวนนท์กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นในประเด็นเอ็มโอยูปี 2543 ที่แตกต่างออกไป โดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ในนามเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ.2543 (เอ็มโอยู 43) ได้ระบุหลักใหญ่ 2 ประการคือ ให้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา และการปักปันเขตแดนนั้นให้เป็นไปตามแผนที่ฝรั่งเศส 1:200,000
“ผลจากเนื้อหาดังกล่าวส่งผลให้ไทยเสียพื้นที่กว่า 3 พันไร่ และนับจากนี้ สุ่มเสี่ยงจะเสียดินแดนใน 7 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่อุบลราชธานี-ตราด กว่า 1.8 ล้านไร่ และจะสูญเสียพื้นที่ทางทะเลฝั่งอ่าวไทยอีก 1 ใน 3” นายไชยวัฒน์กล่าว
เขาบอกว่า เครือข่ายภาคประชาชนได้แสดงความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเอ็มโอยู 43 ทั้งนี้ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าการไม่ยกเลิกเอ็มโอยู 43 จะทำให้ไทยได้เปรียบกัมพูชานั้นไม่เป็นความจริง เพราะพื้นที่ที่นายกฯ กล่าวถึงนั้นไทยได้เสียดินแดนให้กัมพูชาไปแล้ว
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า หลังศาลโลกมีคำพิพากษาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ไทยก็ได้สงวนสิทธิ์มาโดยตลอดโดยการล้อมรั้วเขตแดนนานกว่า 38 ปี จนกระทั่งมีการทำเอ็มโอยูเมื่อปี 2543 พื้นที่ของไทยจึงกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน เป็นเหตุให้มีประชาชนและกำลังทหารของกัมพูชาเข้ามา แต่รัฐบาลไทยไม่ทำการผลักดัน
“เนื่องจากข้อตกลงในข้อที่ 8 ของเอ็มโอยู 43 ระบุว่า ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องระงับด้วยการเจรจา รัฐบาลไทยจึงได้ทำหนังสือประท้วงไปยังกัมพูชาถึง 11 ครั้ง แต่ไม่เป็นผล อีกทั้งทางการกัมพูชายังเป็นฝ่ายบอกด้วยว่าข้อพิพาททางดินแดนที่เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายไทยเป็นฝ่ายบุกรุก ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นของฝั่งไทย”
นายปานเทพกล่าวต่อว่า วันนี้รัฐบาลเป็นเด็กดี ยึดมั่นในสัญญาข้อตกลงตามเอ็มโอยู 43 จนทำให้ขณะนี้มีทั้งกำลังทหาร ประชาชนกัมพูชาที่มาปักหลักในพื้นที่พิพาทจนกระทั่งเราไม่สามารถผลักดันให้ออกจากพื้นที่ได้แล้ว ขณะที่รัฐบาลไทยบอกว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็นพื้นที่ทับซ้อน กัมพูชากลับบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา มีแต่รัฐบาลไทยพูดกับคนไทยเท่านั้นว่าไทยได้เปรียบกัมพูชา ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล มีรายงานว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กองทัพได้มีการเสนอของบประมาณจำนวน 239,344,400 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมรองรับพื้นที่พิพาทกรณีปราสาทพระวิหาร โดยให้กองทัพบก จำนวน 155,047,100 ล้านบาท กองทัพเรือ 14,510,200 ล้านบาท และกองทัพอากาศ 69,787,100 ล้านบาท ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติโดยไม่มีใครแสดงความเห็นแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 มีรายงานคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 252 ล้านบาทให้กับสามเหล่าทัพ ตามข้อเสนอของกระทรวงกลาโหม โดยงบประมาณดังกล่าวอ้างว่าเพื่อให้เหล่าทัพนำไปใช้ในการเก็บกู้ระเบิดเพื่อมนุษยธรรมใกล้บริเวณเขาพระวิหาร เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าวัตถุและเป็นเชื้อเพลิงให้กับกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ นอกจากนี้ยังมีการของบประมาณอีกส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการทำงานบริเวณพิพาทตามแนวชายแดนรองรับความกรณีเกิดเหตุความขัดแย้งรุนแรงระหว่างไทยกับกัมพูชา
พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ราษฎรทั้งสองประเทศก็ยังมีการค้าขายไปมาหาสู่กันตามห้วงเวลาหรือตามเทศกาล เพราะเป็นญาติพี่น้องกัน เขาก็ยังไปมาหาสู่กันได้ปกติ คือขณะนี้สถานการณ์ถ้าเทียบกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เข้าอยู่ในภาวะปกติดี ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ
ช่วงเย็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายสุวิทย์ว่า เข้าใจว่าเป็นช่วงที่นายสุวิทย์เจรจาเพื่อหาจุดประนีประนอมเรื่องข้อมติของตัวคณะกรรมการฯ เพียงแต่ยืนยันว่าคือสิ่งที่พูดคุยกันหลังจากนั้นเป็นเรื่องที่กัมพูชาเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา ไม่มีอะไรที่สลับซับซ้อน และวันนี้ก็มีการรายงานตัวข้อมติของคณะกรรมการฯ ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากร่างที่เขาเตรียมไว้ในการที่จะยื่นเข้าไป
“ความแตกต่างจะชัดเจนว่าข้อมติของกรรมการมรดกโลกจะไม่มีการรับทราบเอกสาร ที่มีการยื่นเพียงแต่ยอมรับว่าเอกสารส่งถึงสำนักงานแล้ว และจะไปพิจารณากันในปีหน้า” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เครือข่ายหัวใจรักชาติห่วงว่าอาจมีบางส่วนที่ไปผูกพันและทำให้ไทยเสียสิทธิ์ในการทักท้วงในอนาคต นายกฯ บอกว่า ไม่มีหรอก เพราะยังไม่ได้มีการพิจารณา หัวใจสำคัญของมติปีนี้คือยังไม่มีการพิจารณาอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นจุดยืนของเราที่ไม่ต้องการเห็นการพิจารณาในปีนี้ ก็ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง และวันนี้ ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา เพื่อให้นายสุวิทย์เป็นประธานเตรียมในช่วง 1 ปีข้างหน้า
เมื่อถามว่า ตอนนี้มีการยื่นคำขาดมาว่า ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากยังไม่มีการยกเลิกเอ็มโอยูปี 43 จะมีการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากเรียนว่าจริงๆ โอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนั้นมี และรัฐบาลยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตนไม่คิดว่าการที่จะใช้วิธีการในการยื่นคำขาด อย่างที่ตนย้ำรัฐบาลนี้ไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย และต้องการที่จะปกป้องอธิปไตย ใครที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน เรามาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีเหตุอะไรเลยที่ต้องมากล่าวหาอะไรกัน
“ฉะนั้นหากเราผนึกกำลังกัน เราจะประสบความสำเร็จ แต่หากเราสะท้อนภาพความขัดแย้งภายในประเทศจะทำให้งานเรายากขึ้น และจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงาน อยากเชิญชวนว่ามาพูดคุยกันได้ ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรต้องมากล่าวหายื่นคำขาดกัน” นายกฯ กล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1486 ครั้ง