“สุเทพ” พร้อมรับบัญชานายกฯ ถ้าสั่งถก “ฮุนเซน” เพื่อให้สถานการณ์ชายแดนกัมพูชาคลี่คลาย ไม่รู้กุนซือกษัตริย์เขมรร่อนหนังสือถึง “มาร์ค” เรียกร้องนำเรื่องปราสาทพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือ 2 ประเทศ คุณชายสุขุมพันธ์ ออกแถลงการณ์ MOU43 มีประโยชน์ต่อไทย
วันที่ 4 ส.ค. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวที่ปรึกษาของกษัตริย์สีหมุนีแห่งกัมพูชาได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของไทยเรียกร้องให้มีการดำเนินการเรื่องเขาพระวิหารให้เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่และจะเริ่มต้นจะจุดนี้อย่างไรว่า ตนไม่ทราบเรื่องจดหมายที่ว่านี้ แต่ในหลักการประเทศไทยยึดหลักการที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านเมืองด้วยความเข้าใจและสันติ ไม่ต้องการให้มีความขัดแย้ง
“กรณีเรื่องเขาพระวิหารเราไม่ได้ไปโต้แย้งเรื่องตัวปราสาทพระวิหาร และได้ทำตามที่ศาลโลกได้ตัดสินไว้เมื่อปี พ.ศ.2505 แต่ว่าในพื้นที่ที่อยู่รอบๆ เขาพระวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังเป็นกรณีพิพาทกันอยู่ระหว่างกัมพูชากับไทยก็จะต้องหาวิธีการในการที่จะตกลงกันให้ได้ว่าเขตแดนอยู่ตรงไหนกันแน่ ซึ่งก็มีคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายเพื่อพิจารณาดำเนินการปักปันเขตแดนในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดทำงานกันได้เสร็จเร็วเท่าไหร่เขตแดนก็ชัดเจน ไม่ต้องทะเลาะขัดใจกัน แต่ถ้าในระหว่างที่เขตแดนยังไม่เรียบร้อยมีหนทางไหนที่จะพูดคุยกันเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาขัดแย้งก็สมควรที่จะต้องหาทางกระทำ”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้บรรยากาศเอื้ออำนวยให้คณะกรรมการปักปันเขตแดนหรือยังที่จะสั่งเริ่มดำเนินการไปในคราวเดียวกัน นายสุเทพกล่าวว่า บรรยากาศมันอยู่ที่คน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ถ้าคนเรามีสติตั้งหลักกันได้ก็สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง
เมื่อถามว่า ท่านในฐานะที่บอกว่ามีความสนิทสนมกับสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะไม่ริเริ่มพูดคุยกันกับสมเด็จฯ ฮุนเซนก่อนเลยหรือ นายสุเทพกล่าวว่า ตนยินดี ได้เรียนนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ถ้าเมื่อไหร่ท่านนายกรัฐมนตรีจะให้ตนไปพบท่านนายกฯ ฮุนเซนตนยินดีทั้งนั้น นายกรัฐมนตรีใช้อะไรตนทำทั้งนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าเราต้องเร่งรีบดำเนินการหรือไม่ เพราะระยะเวลาเพียง 1 ปีถือว่าน้อยมาก นายสุเทพกล่าวว่า ต้องทำ จะได้ทางใดทางหนึ่งก็ตามต้องหาทางให้เหตุการณ์คลี่คลาย ประเทศเพื่อนบ้านรั้วติดกันจะให้มีความเครียดกันอยู่เป็นปีๆ ก็ไม่ไหว ต้องมีลู่ทางทำให้เห็นความสงบสุขมีมิตรไมตรีต่อกัน ประชาชาชนจะได้สบายใจ
วันเดียวกันที่รัฐสภา นายชนินทร์ รุ่งแสง และน.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเอกสารแถลงการณ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตรมช.ต่างประเทศสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ชี้แจงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำบันทึกความเข้าใจ ไทย – กัมพูชา(MOU) ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2543
โดยมีใจความว่า บันทึกฉบับดังกล่าวเป็นไปเพื่อเสริมสัมพันธ์ไมตรีของรัฐบาลทั้งสอง ที่มีเจตนารมณ์ตรงกันในเรื่องความจำเป็นที่ต้องจัดทำหลักเขตแดนทางบกขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากว่าหลักเขต ซึ่งได้จัดทำโดยคณะปักปันเขตแดนร่วมกรุงสยามและประเทศฝรั่งเศสได้สูญหาย ชำรุด หรือ ถูกเคลื่อนย้ายในช่วงเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดสงครามในกัมพูชากว่า 20 ปี
การสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและในทางปฎิบัติมีอุปสรรคนานัปการในการดำเนินการ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงต้องมีความเข้าใจตรงกันก่อนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร มิฉะนั้น ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้ วิธีดำเนินการที่ดีที่สุด คือ การดำเนินการจัดทำหนังสือสัญญา เพื่อนำไปใช้เป็นกรอบและประเด็นอ้างอิงในการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนใหม่ได้ ซึ่งหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นข้อผูกมัดในเรื่องวิธีการดำเนินการเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดถึงผลของการดำเนินการ
“ตามธรรมเนียมปฎิบัติทางการทูตลักษณะของหนังสือสัญญาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ คือ บันทึกลงนามความเข้าใจ (MOU) ซึ่งไทยได้ทำกับประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศก่อนหน้านี้มานานแล้ว คือ มาเลเซียและลาว ทั้งนี้ การทำบันทึกลงนามความเข้าใจทั้งสองฝ่ายเป็นฝ่ายได้ประโยชน์เพราะถ้าไม่สามารถได้ข้อสรุปในกรอบการทำงาน ก็ไม่สามารถเริ่มต้นการทำงานได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ปัญหาเขตแดน เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งต่อไป อาจกล่าวได้ว่ามาตรา 5 ของบันทึกลงนามความเข้าใจ เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยด้วยซ้ำ เพราะในช่วงนั้นฝ่ายกัมพูชาเริ่มทำถนนเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งมีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน และ ชาวกัมพูชาได้เข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ดังกล่าว แต่ด้วยบันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้ทำให้ฝ่ายไทยมีเครื่องประกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ากัมพูชาจะไม่ทำถนนเข้าไปในพื้นที่ และจะดูแลไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น”
นับตั้งแต่ปี 2544 ฝ่ายกัมพูชามิได้ทำตามคำมั่นสัญญา ปล่อยให้ชาวกัมพูชาเข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ซึ่งมีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน โดยที่รัฐบาลไทยในช่วงนั้นมิได้มีการทักท้วงแต่อย่างใดแต่ในขณะเดียวกัน ยังไม่ควรสรุปว่าบันทึกลงนามความเข้าใจไม่เป็นประโยชน์ในทางใดทั้งสิ้น บันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้ได้เป็นกรอบสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาชายแดน ไทย-กัมพูชา เห็นได้จากที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (JBC) ขึ้นถึง 3 ครั้งโดยนายประชา คุณเกษม เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยทั้ง 3 ครั้ง และในช่วงที่เกิดข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ใช้บันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้เป็นเอกสารอ้างอิงในการทักท้วงทุกครั้งไป
บันทึกลงนามความเข้าใจ ยังไม่มีรัฐบาลของฝ่ายใดมองว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ประเทศตนเองเสียเปรียบ แม้แต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ (ตั้งแต่ปี2544) และรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้นำบันทึกลงนามความเข้าใจไปใช้ ซึ่งหากบันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้สร้างความเสียหายแก่ฝ่ายไทยจริง ก็คงได้มีการวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้แล้วและอาจได้มีการดำเนินการแก้ไข เนื้อหาไปอีกด้วย โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้ดำเนินการไปอย่างไม่ถูกต้อง
“ผลของการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามบันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นพ้องต้องกันในทุกประเด็น ดังนั้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถยอมรับในประเด็นใดๆก็ตามสามารถชะลอการพิจารณาไป ก่อนได้ เพราะไม่มีอำนาจใดบังคับให้เกิดการยอมรับในสิ่งที่ไม่ต้องการได้ ยิ่งไปกว่านั้นผลสรุปของJBC ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเพราะจะต้องได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาอีกด้วย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าบันทึกลงนามความเข้าใจฉบับนี้เป็นเครื่องประกันไม่ให้ไทยต้อง สูญเสียดินแดนในพื้นที่มีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อนกัน”