จีนเพิ่มการถือครองพันธบัตรเกาหลีมากกว่าเท่าตัวในปีนี้ ช่วยให้ราคาพันธบัตรวิ่งขึ้นนานที่สุดในรอบ 3 ปี จากการที่ผู้ดำเนินนโยบายของจีนโยกทุนสำรองส่วนหนึ่งออกจากดอลลาร์
พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีัหรือ Korean Treasury Bonds ถือโดยนักลงทุนจีนพุ่งขึ้นกว่า 111% มาอยู่ที่ 3.99 ล้านล้านวอน (3,400 ล้านดอลลาร์) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินเกาหลี (Financial Supervisory Board) ขณะที่นายติง จือเจี่ย (Ding Zhijie) ที่ปรึกษากองทุน China Investment Corporation หรือ CIC ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีนกล่าวว่า จีนควรกระจายทุนสำรองมายังสินทรัพย์ในเอเชียเพื่อ “รักษาระดับผลตอบแทนและลดความเสี่ยง”
“นี่ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องสำหรับจีนในการจัดสรรทุนสำรองส่วนหนึ่งมายังสินทรัพย์การเงินของประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจเอเชีย” นายติง คณบดีภาคการเงินจากมหาวิทยาลัยธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of International and Economics) ในกรุงปักกิ่งกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กในวันที่ 16 สิงหาคม “ความสำคัญของเงินดอลลาร์และยูโรลดลงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากวิกฤตการเงินโลกและวิกฤตหนี้ในยุโรป ขณะที่บทบาทของเงินตราบางสกุลของประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น”
การซื้อของจีนในครั้งนี้คิดเป็น 19% ของเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 10% เมื่อปี่ที่แล้ว และธนาคารโซซิเอเต้ เจนเนอราล เอสเอ (Societe Generale SA) ของฝรั่งเศสหรือซ็อคเจ็น (SocGen) คาดการณ์ว่า การไล่ซื้อครั้งนี้จะช่วยให้ราคาตราสารหนี้พุ่งขึ้นอีก การถือครองพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีของจีนคิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.1% เศษๆจากทุนสำรองมูลค่ากว่า 2.45 ล้านล้านดอลลาร์ การเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีครั้งนี้ยังคงน้อยกว่าการเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นของจีนมูลค่ากว่า 20,100 ล้านดอลลาร์ของทางการจีน
“ด้วยอัตรานี้ จีนอาจซื้อพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีอีก 4 ล้านล้านวอนภายในสิ้นปีนี้ และนั่นถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก” นายคริสเตียน คาร์ริลโล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดตราสารหนี้ของธนาคารซ็อคเจ็นในกรุงโตเกียวให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก “นั่นจะทำให้ตลาดเข้าสู่ภาวะกระทิง มันจะก่อให้เกิดความไม่สมดุลอย่างมากระหว่างอุปสงค์-อุปทานในตลาดพันธบัตรรัฐบาลเกาหลี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรลดลงต่อเนื่อง”
ผลตอบแทนพันธบัตร
พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีหรือ KTB ให้ผลตอลแทน 5.6% ในปีนี้ในรูปของเงินดอลลาร์และให้ผลกำไรในทุกเดือนที่ผ่านมา จากข้อมูลของดัชนีพันธบัตรของเอชเอสบีซี การวิ่งขึ้นของราคาพันธบัตรครั้งนี้ถือว่าวิ่งนานที่สุดนับแต่มีนาคม 2007 ขณะที่ข้อมูลดัชนีพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ US Treasury Master Index ของแบงก์ออฟอมเริกา เมอร์ริล ลิ้นช์ (Bank of America Merrill Lynch) ระบุว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯให้ผลตอบแทน 7.9% ในปีนี้
การกระจายควรจะเป็น “หลักการพื้นฐาน” ของการบริหารทุนสำรอง นายอี้ว์ หยงติง (Yu Yongding) อดีตที่ปรึกษาธนาคารกลางจีนให้สัมภาษณ์ในเดือนนี้ การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯของจีนลดลง 6% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มาอยู่ที่ 843,700 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลล่าสุดจากจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุ
ธนาคารกลางจากเอเชียซึ่งเป็นเจ้าของทุนสำรองทั้งโลกกว่า 60% กำลังลดการถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และ อินเดียลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ข้อมูลระบุ การจัดสรรทุนสำรองทางการของทั่วโลกไปยังเงินดอลลาร์ลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มาอยู่ที่ 61.5% ลดลงจาก 62.2% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2009 ไอเอ็มเอฟแถลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน
“สวรรค์ที่ปลอดภัย”
มูลค่าของ KTB ที่ถือครองโดยจีนอยู่ที่ 1.87 ล้านล้านวอนในวันที่ 31 ธันวาคม 2009 เพิ่มจาก 79,600 ล้านวอนในปี 2008 ข้อมูลจากทางการเกาหลีระบุ การถือครอง KTB โดยนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น 18.6 ล้านล้านวอนในปี 2009 และเพิ่มขึ้น 11.3 ล้านล้านวอนมาอยู่ที่ 67.8 ล้านล้านวอนในช่วงครึ่งแรกของปี 2010 นั่นคิดเป็นสัดส่วน 6.3% ของมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีทั้งหมดที่หมุนเวียนในตลาด
“นักลงทุนระยะยาวจำนวนมากซึ่งมองว่าพันธบัตรเกาหลีเป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายคิม จุง ควาน ผู้อำนวยการกองนโยบายพันธบัตรรัฐบาลจากกระทรวงยุทธศาสตร์และการเงินเกาหลีใต้ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเมื่อเดือนที่แล้ว “พันธบัตรเกาหลีมีความน่าสนใจในแง่ของผลตอบแทนและสภาพคล่องเช่นเดียวกับในแง่ของใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายในการกระจายการลงทุน”
ผลตอบแทนอ้างอิงของพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีอายุ 3 ปีอยู่ที่ 3.75% วานนี้ (17 สิงหาคม 2010) ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่อัตราผลตอบแทนบนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 3 ปีเช่นกันอยู่ที่ 0.78% ผลตอบแทยในรูปของดอลลาร์อาจเพิ่มขึ้นจากการแข็งค่าของเงินวอน ซึ่งอาจแข็งขึ้นอีก 3% เทียบกับดอลลาร์มาอยู่ที่ 1,140 วอนต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ จากค่าเฉลี่ยการประมาณการณ์ของ 20 นักวิเคราะห์ที่สำรวจโดยบลูมเบิร์ก
“ผลตอบแทนที่สูงขึ้นของ KTB และ ความเป็นไปได้ที่วอนจะแข็งค่าขึ้นถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับจีนนอกเหนือจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ” นายแมทธิว หวง นักวิเคราะห์ตราสารหนี้จากบาร์เคลย์ แคปิตอล อิ้งค์ ในสิงคโปร์ “การถือครองทั้งหมดของจีน (หมายถึงพันธบัตรเกาหลี) เปรียบเสมือนหยดน้ำหยดเดียวเมื่อเทียบกับปริมาณทุนสำรองทั้งหมด”