บาร์เคลย์ แคปิตอล ซึ่งเป็นบริษัทด้านวาณิชธนกิจของธนาคารบาร์เคลย์ของอังกฤษได้ออกผลิตภัณฑ์ด้านการเงินอิสลามตัวใหม่ในรูปของสัญญาซื้อคืนพันธบัตรหรือ Repo (Repurchase Agreement) ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารอิสลามและนักลงทุนมีเครื่องมือในการบริหารเงินทุนมากขึ้น
บาร์เคลย์ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ทั่วโลกเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วและกำลังมุ่งเน้นการให้บริการไปที่ลูกค้าในมาเลเซียและตะวันออกกลางซึ่งทั้ง 2 ที่ล้วนเป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินอิสลามที่ใหญ่ที่สุด นายแฮริส เออร์ฟาน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์การเงินอิสลามของธนาคารบาร์เคลย์ประจำนครดูไบเปิดเผยกับบลูมเบิร์ก “สัญญา Repo พร้อมเดินออกจากประตูแล้ว” นายเออร์ฟานกล่าวในการตอบคำถามทางอีเมล์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม
สัญญาซื้อคืนพันธบัตรอิสลาม (Islamic Repurchase Agreement) จากบาร์เคลย์จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการขายที่เคร่งคัดกับกฎชารีอะห์และสัญญาซื้อคืนพันธบัตร และวินทรัพย์อ้างอิงที่จะใช้เป็นหลักทรัพย์คำ้ประกันจะเป็นพันธบัตรอิสลามหรือ sukuk ซึ่งจะไม่ละเมิดกฎของการห้ามจ่ายดอกเบี้ย ตลาดการเงินอิสลามระหว่างประเทศ (International Islamic Financial Market) หน่วยงานในบาห์เรนที่ตั้งขึ้นโดยธนาคารกลางจากบาห์เรน อินโดนีเซีย และ มาเลเซียในสัปดาห์นี้ได้เสนอให้มีการตั้งบุคคลที่ 3 ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย sukuk ซึ่งใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินระยะสั้น
“การบริหารสภาพคล่องยังคงเป็นความท้าทายสำหรับสถาบันการเงินอิสลาม และตอนนี้ก็มีความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านนี้สูงมาก” นายเออร์ฟานระบุ สัญญา Repo จะช่วยเพิ่มระดับของกระแสเงินสดให้ดีขึ้นเนื่องจากสัญญา Repo ช่วยให้สถาบันการเงินนำเงินสดที่มีมาลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ แม้แค่ชั่วข้ามคืน นายเออร์ฟานกล่าว
ความต้องการบริการด้านการเงินอิสลามเพิ่มขึ้นในอัตรา 15% ต่อปี จากข้อมูลของคณะกรรมการบริการการเงินอิสลามของมาเลเีซียหรือ IFSB (Islamic Financial Services Board) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงินอิสลามของประเทศ IFSB ยังคาดอีกว่าสินทรัพย์ของระบบการเงินอิสลามจะพุ่งขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2015
ที่มา Bloomberg