เดือนรอมฎอน ในประเทศไทย ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมแล้ว มุสลิมไทย 6 ล้านกว่าคน และมุสลิมทั่วโลกอีก 1,800 ล้านทั่วโลก ได้ถือศีลอดเป็นเวลา 1 เดือน ที่พวกเขาต้องอดอาหาร อดน้ำ งดเพศสัมพันธ์ และทำจิตใจให้สงบนิ่งตลอดเวลากลางวัน ตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า
การถือศีลอด เป็น 1 ใน 5 บทบัญญัติที่พระผู้เป็นเจ้ามีคำสั่งให้มนุษย์ทุกคนปฏิบัติ บทบัญญัติอีก 4 ประการ คือ การปฏิญาณตนศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและเชื่อว่า มูฮัมหมัดเป็นศาสดาทูต การละหมาดวันละ 5 เวลา การออกซากาซ(การบริจาค) และการไปประกอบพิธีฮัจย์ที่มักกะห์ หากมีความสามารถ ข้อบัญญัติทั้ง 5 ข้อนี้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติจะถูกลงโทษในวันสิ้นโลก ตามคัมภีร์อัลกุรอ่าน ที่ระบุว่า การถือศีลอด เป็นหนทางให้ผู้ศรัทธาอยู่ในแนวทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เป็นการยำเกรงต่อพระองค์ เพื่อไปสู่หนทางที่พระองค์ทรงโปรดปราน ไม่ใช่หนทางของมารร้ายและกลุ่มของผู้ซึ่งถูกสาปแช่งและกลุ่มของผู้หลงผิด อันนำไปสู่ความปลอดภัยในวันแห่งการตัดสิน
การเตรียมตัวที่ดีที่สุด เพื่อการถือศีลอดนั้น ไม่ใช่เพียงการเตรียมจัดหาอาหารอร่อย อาหารที่ดี หรือเตรียมของหวานของคาวไว้สำหรับการละศีลอด หากแต่การเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในเดือนอันสำคัญ ความยำเกรงต่อพระองค์ การปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้และละเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็น มรรคผลแห่งความรับผิดชอบของผู้ที่เกิดมาเป็นมุสลิม ซึ่งเป็นประชาชาติที่พระองค์ทรงรับรองแล้วในวันกิยามัต(วันแห่งการสิ้นโลก)
การถือศีลอด พระผู้เป็นเจ้าได้มีโองการในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซูเราะห์อัลบากกอเราะห์ ความว่า [2.183] บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอด นั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ ถูกกำหนดแก่ บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่า พวกเจ้าจะได้ยำเกรง
[2.184] (คือถูกกำหนดให้ถือ) ในบรรดาวันที่ถูก นับไว้ แล้วผู้ใดในพวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดิน ทางก็ให้ถือ ใช้ในวันอื่น และหน้าที่ของบรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความลำบากยิ่าง (โดยที่เขาได้งดเว้น การถือ) นั้น คือการชดเชยอันได้แก่การให้อาหาร (มื้อหนึ่ง) แก่คนมิสกีนคนหนึ่ง (ต่อการงดเว้น จากการถือหนึ่งวัน) แต่ผู้ใดกระทำความดีโดยสมัครใจ มันก็เป็นความดีแก่เขา และการที่พวกเจ้าจะถือศีลอดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าแก่พวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้
[2.185] เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอาน ได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับ มนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่าง ความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้า เข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้มีความสะดวก แก่พวกเจ้าและไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้า และเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วน ซึ่งจำนวนวัน (ของเดือนรอมฏอน) และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความ เกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ
[2.186] และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้า แล้วก็ (จงตอบเถิดว่า) แท้จริงข้านั้นอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของ ผู้ที่วิงวอน เมื่อเขาวิงวอนต่อข้า ดังนั้นพวกเขาจงตอบรับข้าเถิด และศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง
[2.187] ได้เป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งการสมสู่กับบรรดาภรรยาของพวกเจ้า ในค่ำคืนของการถือศีลอด นางทั้งหลายนั้นคือเครื่องนุ่มห่มของพวกเจ้า และพวกเจ้าก็คือเครื่องนุ่งห่มของพวกนาง อัลลอฮ์ทรงรู้ว่า พวกเจ้านั้นเคยทุจริตต่อตัวเอง แล้วพระองค์ก็ทรงยกโทษให้แก่พวกเจ้า และอภัยให้แก่พวกเจ้าแล้ว บัดนี้พวกเจ้าจงสมสู่กับพวกนางได้ และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้แก่พวกเจ้าเถิด และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นดำเนื่องจากแสงรุ่งอรุณ แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็ม จนถึงพลบค่ำและพวกเจ้าจงอย่าสมสู่กับพวกนาง ขณะที่พวกเจ้าเอียะติก๊าฟอยู่ในมัสยิดนั่นคือบรรดาขอบเขตของอัลลอฮ์ ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้ขอบเขตนั้น ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮ์จะทรงแจกแจงบรรดาโองการ ของพระองค์ แก่มนุษย์ เพื่อว่าพวกเขาจะได้ยำเกรง
การถือศีลอดเพื่อให้ผลบุญอย่างเต็มที่ จะต้องอย่าให้เกิดความบกพร่อง ระมัดระวังตนเองอย่าได้ออกนอกขอบเขตของการถือศีลอด ดังที่ศาสดา มูฮัมหมัด (ซ.ล.)ได้กล่าวเกี่ยวไว้ว่า ” การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนโดยศรัทธาและบริสุทธิ์ใจนั้น เขาจะได้การอภัยโทษ ทั้งก่อนและหลัง “รายงานโดย อัลคอติบ จาก อิบบิอับบาส
“ในการถือศีลอด ไม่มีการโอ้อวด”..รายงานโดย ฮันนาด, อัลบัยฮะกีย์ จาก อิบนิซิฮาบอัซซุฮฺรีย์
” การเงียบเฉยของผู้ถือศีลอดนํ้น (ได้ผลเทียบเท่า) การกล่าวตัสบีฮฺ การนอนของเขา (ได้ผลเทียบเท่า) การทำนมัสการ การวอนขอของเขา ได้รับการตอบสนอง และความประพฤติของเขาได้รับการทวีคูณ ” รายงานโดย อะบียะลา จาก อิบนิอุมัร บินคอตตอบ
ดังนั้น การถือศีลอดจึงไม่ใช่เพียงการอดอาหาร อดน้ำ หรืองดการมีเพศสัมพันธ์ในตอนกลางวัน แต่รวมถึงการสำรวมตนให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง ทั้งร่างกาย วาจา และจิตใจ พูดในสิ่งที่ดีๆไม่ด่าทอ นินทาว่าร้ายกันและกัน สายตามองในสิ่งที่ดีๆ กระทำในสิ่งที่ดีๆ อยู่ห่างไกลความชั่วร้ายทั้งปวง เพื่อให้การถือศีลอดมีความบริสุทธิ์ เพื่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง และพระองค์จะตอบแทนแก่ผู้ที่ปฏิบัติเช่นนี้
ข้อมูล นิตยสาร MTODAY
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 4088 ครั้ง