วันที่ 22 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนภัย “ฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน ” ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2553 โดยระบุว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านบริเวณ จังหวัดน่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก และปราจีนบุรี ระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากที่อาจเกิดขึ้นในช่วง วันที่ 22-25 สิงหาคมนี้ไว้ด้วย
ขณะเดียวกัน จากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเกิดเหตุน้ำป่าจากลำห้วยแม่ลาและลำห้วยแม่ผึ้ง ในพื้นที่ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เอ่อไหลเอ่อล้น ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในเขตพื้นที่ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม ส่งผลทำให้ราษฎรในพื้นที่ ต.บ้านสา กว่า 50 หลังคาเรือน มีน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร และมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของชาวบ้านในพื้นที่ ถูกน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมเสียหายหลายคันแล้ว ส่วนประชาชนชาวบ้าน ต้องตื่นมากันตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเก็บข้าวของหนีน้ำกันอย่างอลหม่าน มีรายงานอีกว่า ถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม บริเวณหน้าวัดสามัคคี ต.บ้านสา มีน้ำป่าไหลผ่านถนนส่งผลให้รถยนต์ ไม่สามารถขับผ่านบริเวณจุดดังกล่าวได้ เนื่องจากมีน้ำป่าไหลเข้าท่วมถนน
นายทิวา พันธ์ไม้สี หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดลำปาง ได้รับหนังสือด่วน จากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ให้แจ้งเรื่องด่วนผ่านไปถึงนายศุภกิจ บุญญฤทธิพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้รับทราบและเฝ้าระวัง หลังกรมอุตุฯได้รับรายงานว่าอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อ.ห้างฉัตร จะมีระดับน้ำน้ำที่สูงและมีโอกาสน้ำล้นตลิ่ง ประกอบกับมีรายงานน้ำฝนในพื้นที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง สามารถ วัดได้ ถึง 86 มิลลิเมตร และมีร่องมรสุมพัดผ่านภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้พื้นที่อำเภอห้างฉัตร จ.ลำปาง มีฝนตกชุกและหนาแน่น
ขณะนี้ทางสถานีอุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ประกาศเตือน พื้นที่ใน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปางและพื้นที่ต่างๆของ จ.ลำปางให้เฝ้าระวัง น้ำป่าไหลลหาก น้ำท่วมฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นใด้ ส่วนรายงานน้ำฝนสูงที่สุดของ จ.ลำปางวันนี้ อยู่ที่อ.เถิน จ.ลำปาง สามารถวัดค่าได้ถึง 156.5 มิลลิเมตร รองลงมา คือ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 86 มิลลิเมตร
ที่จังหวัดชัยภูมิ เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นวันที่สามบนเทือกเขาภูแลนคา ฝั่งทิศใต้ เขต ต.ห้วยต้อนอำเภอเมืองชัยภูมิ ทำให้น้ำป่าไหลหลากล้นอ่างเก็บน้ำห้วยยางบ่า ความจุกว่า 11 ล้าน ลบ.เมตร ต.โคกสูงเข้าท่วมสู่ตัวเมืองเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ มีบ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วมแล้วหลายร้อยหลังคาเรือน ในเขตชุมชนโนนสาทร,เมืองน้อยใต้,กุดแคน,หนองบ่อ,หนองหลอด,ชุมชนขี้เหล็กใหญ่ และสถานที่ราชการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจ.ชัยภูมิ (สวท.) มีปริมาณน้ำท่วมสูงกว่า 30-50 ซม. และยังมีปริมาณระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆเนื่องจากยังมีฝนตกหนักมีน้ำป่าบนเทือกเขาภูแลนคาไหลหลากผ่านเข้าสู่ตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง
ฝนถล่มหนักด้านทิศเหนือ ของเทือกเขาภูแลนคา ทำให้มีปริมาณน้ำบนเขื่อนลำปะทาว เขต อ.แก้งคร้อ ทั้งตอนบนความจุกว่า 44 ล้าน ลบ.เมตร และตอนล่างความจุกว่า 16 ล้าน ลบเมตร มีปริมาณน้ำล้นสันเขื่อนเพิ่มสูงกว่า 20 เซนติเมตร ไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมืองชัยภูมิเพิ่มอีกทางด้านทิศเหนือเข้าตัวเมืองเป็นวงกว้างท่วมตัวเมืองมากขึ้น ในเขต 25 ชุมชน เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ สูงกว่า 50 เซนติเมตร สถานที่ราชการโรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ,โรงเรียนเทศบาล 4 ,โรงพยาบาลชัยภูมิ และบริเวณรอบอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ไม่สามารถให้รถทุกชนิดสัญจรผ่านไปมาได้
ด้านนายบรรยงค์ เกียรติก้องชูชัย นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ หลังวานนี้ได้จัดชุดเร่งแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในโซนน้ำป่าบนภูเทือกเขาภูแลนคาทิศใต้ไหลหลากเข้าม่วมเมือง ต้องคอยติดตามสถานการณ์การแจ้งเตือนจากทางจังหวัดอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากมีปริมาณน้ำท่วมขึ้นสูงผิดสังเกตขอให้รีบเก็บสิ่งขอมีค่าขึ้นสูงที่สูงไว้ก่อนทันที ส่วนการเร่งแก้ปัญหาขณะนี้ทางเทศบาลเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไปแล้ว จำนวน 8 จุด มาตั้งแต่เมื่อวานนี้ ล่าสุดเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่นอกเมืองลงหนองตาดำ ได้มีการเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีกกว่า 12 จุด เพื่อเร่งระบายน้ำเป็นการด่วน ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ระดับน้ำทรงตัวและไม่ขยายวงท่วมเพิ่มขึ้นอีกได้ ถ้าฝนหยุดตกและไม่มีน้ำป่าหลากเข้ามาเพิ่มเติม ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลจึงจำเป็นต้องคอยติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากบนเทือกเขาภูแลนคาต่อเนื่อง หากมีปริมาณน้ำลงมามาก เครื่องสูบน้ำอาจระบายไม่ทัน จำเป็นต้องรีบอพยพขึ้นสู่ที่สูงไว้ก่อนหากมีการแจ้งเตือนจากทางจังหวัดได้ทันที
นายไพรัตน์ ประเสริฐสังข์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านนิคมพัฒนา ต.เกาะแก้ว อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พร้อมด้วยพระสงฆ์ และกรรมการวัดนิคมพัฒนาราม เร่งสำรวจความเสียหายของพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ คอนกรีตเสริมเหล็กยาว 22 เมตร สูง 5 เมตร ซึ่งกำลังสร้างขึ้นภายในวัด แต่เกิดพลิกพังครืนลงมาเสียงสนั่น ได้ยินกันทั้งหมู่บ้าน ในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. ของเมื่อคืนวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีใครออกมาดู จนกระทั่งตอนเช้าจึงทราบว่าพระองค์ดังกล่าวพังทลายลง และจากการนสำรวจพบว่าสาเหตุมาจากการก่อสร้าง ทั้งเสาและการก่อสร้างคานรองรับองค์พระที่ยกลอยจากพื้นเกือบ ๑ เมตรไม่แข็งแรง เพียงพอ เมื่อเกิดการยุบตัวของพื้นดินหลังจากฝนตกหนักต่อเนื่องกัน 2 วัน จึงเป็นต้นเหตุให้พังลงมาทั้งองค์พระ และเนื่องจากพังลงมาในเวลากลางคืน และช่วงหยุดไปทำนา จึงไม่มีใครได้รับอันตราย
การก่อสร้างพระองค์นี้ดำเนินการวางศิลาฤกษ์ เมื่อ 27 ก.พ. ตามความต้องการของพระครูอุทิศ อุบขาโร เจ้าอาวาส และจ้างช่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ มารับเหมาเฉพาะค่าแรง 3.5 แสนบาท และดำเนินการก่อสร้างสิ้นค่าใช้จ่ายด้านวัสดุอุปกรณ์จากการบริจาคจากชาวบ้านและประชาขนทั่วไป ไปแล้วกว่า 5 แสนบาท และพังลงมาในช่วงที่ช่างหยุดงานไปทำนา ในหน้าฝน ซึ่งหลังจากการสำรวจความเสียหายแล้งจะมีการปรึกษากันกับกรรมการวัดว่า หากการก่อสร้างฐานรากไม่แข็งแรงเป็นต้นเหตุให้องค์พระพังลงมาได้รับความเสียหาย ช่างก่อสร้างจะต้องมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคำนวณก่อสร้างโครงสร้างไม่แข็งแรงด้วยหรือไม่ต่อไป
นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ โฆษกกรมชลประทาน กล่าวถึงปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ ว่า เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 4,450 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำใช้การ 650 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 5 โดยตั้งแต่วันที่ 17-21 สิงหาคมที่ผ่านมา เขื่อนภูมิพลมีน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละประมาณ 35-60 ล้านลูกบาศก์เมตรขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 4,645 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 49 มีปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 19 ซึ่งถือว่าทั้งสองเขื่อนมีปริมาณน้ำไหลเข้าเป็นอย่างดีนอกจากนี้ที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 277 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาณน้ำ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23
โฆษกกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคมนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่าอาจเกิดฝนตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่ จึงได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ ชิด และเตรียมพร้อมกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนแต่ละแห่ง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1646 ครั้ง