วันที่ 22 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 82 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดังนี้ ช่วงที่ 1
นายอภิสิทธิ์ เริ่มต้นรายการว่า สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมาขอเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่ผมคิดว่าทำให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ รู้สึกสะเทือนใจ นั่นคือเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรวมทั้งผู้ที่ได้ทำงานเพื่อที่จะผลักดันโครงการตามแนวพระราชดำริ อยากจะขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง และขอเรียนครับว่าการเสียชีวิตครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการเสียชีวิตในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วก็คือการไปติดตามโครงการปิดทองหลังพระ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในแง่ของการเผยแพร่งานที่เป็นงานที่สืบเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ และมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่ยากจนและอยู่ในชนบทที่ห่างไกล สำหรับตัวท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช) นั้น ผมเองได้มีโอกาสทำงานกับท่าน ซึ่งท่านก็อยู่ในช่วงที่ต้องมาเผชิญกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งถือว่ายากพอสมควร ทั้งในเรื่องของการทำงานภายในประเทศเอง เช่น ปัญหาของมาบตาพุด ไปจนถึงเรื่องระหว่างประเทศ เรื่องของการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภาวะโลกร้อน ก็ขอแสดงความเสียใจมายังครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกท่านอีกครั้งหนึ่งครับ
เชิญเที่ยวงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ และงาน OTOP
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ยังมีงาน 2 งานที่ขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์ วันนี้เป็นวันสุดท้ายของมหกรรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำอยู่ที่ไบเทค บางนา และเป็นวันที่จะเริ่มต้นงาน OTOP ที่เมืองทองธานี สำหรับงานของ OTOP นั้นจะจัดได้อีกหลายวัน 21-29 ในเดือนนี้ ส่วนงานของมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่ไบเทคนั้น จะจบลงวันนี้ครับ เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงาน ผมไปเกือบทุกปี และได้มีโอกาสในการที่จะเห็นถึงความสามารถของคนไทย และสถาบันต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งเอกชนด้วย ที่ได้มีการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ก็อยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชน ถ้ามีเวลาวันนี้เป็นวันสุดท้ายครับ คงถึงประมาณสองทุ่ม อยากจะให้เผื่อเวลาสัก 2-3 ชั่วโมงครับเป็นอย่างน้อยในการที่จะไปเยี่ยมชมงานต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ทั้งที่เป็นงานวิจัยที่ทางด้านการเกษตรก็ดี ทางด้านอื่น ๆก็ดี ทางด้านอุตสาหกรรมไปจนถึงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติด้วยที่เกี่ยวข้องกับทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยและพัฒนาของภาครัฐเข้ากับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม
ซึ่งเมื่อวานนี้นอกจากที่ผมจะได้ไปเยี่ยมชมงานแล้ว ก็เลยได้ใช้โอกาสนั้นพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้มีการพูดถึงปัญหาของงานวิจัย และการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งต้องยอมรับว่าในการประเมินของสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ นั้นก็ยังจัดประเทศไทยให้อยู่ในอันดับที่ไม่ดี และเห็นได้ชัดว่าการเติบโตหรือการขยายตัวของการวิจัย และการพัฒนานั้นยังน้อยเกินไป ส่วนหนึ่งรัฐบาลก็พยายามที่จะผลักดันโดยการแก้ไขในเรื่องของสัดส่วนงบประมาณ ในเรื่องของการทุ่มเทไปยังบางโครงการ เช่น โครงการมหาวิทยาลัยวิจัย แต่ว่าปัญหาพื้นฐานจริง ๆ ก็ยังเป็นเรื่องซึ่งสัปดาห์ที่แล้วก็ได้พูดคุยกับทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองในเรื่องของการที่จะสนับสนุนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มาตั้งแต่การเรียนการสอนในโรงเรียน และที่สำคัญคือว่าการเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยและพัฒนากับทางด้านของภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจหรือภาคสังคม ยังมีน้อยเกินไป
สิ่งที่ได้มีการปรึกษาหารือกันเมื่อวานนี้ และคิดว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นการผลักดันอีกขั้นหนึ่ง ก็คือว่าเราจะเริ่มต้นจากการที่จะให้ทุกหน่วยงาน ที่ทำงานทางด้านการวิจัย และมีโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานที่ว่าก็หมายถึงในเรื่องของอุปกรณ์ ในเรื่องของบุคลากรต่าง ๆ ต้องจัดทำฐานข้อมูลทั้งหมด แล้วก็ส่งข้อมูลนี้มารวบรวมไว้ ก็ตั้งใจว่าจะมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้รวบรวมฐานข้อมูลตรงนี้ไว้ แล้วเสร็จจากนั้นจะให้ฐานข้อมูลนี้สามารถที่จะเปิดไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมได้ ในหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง ก็จะเป็นกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ หรือหน่วยงานกลางอย่างสำนักงบประมาณ แล้วก็จะมีในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน เช่น ในส่วนของสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และก็ไปถึงเรื่องของภาคประชาสังคมด้วย ในแง่ของชุมชนต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สิ่งที่เราคาดหวังคือว่าเมื่อภาคส่วนต่าง ๆ เหล่านี้สามารถที่จะรับทราบว่ามีโครงสร้างพื้นฐานทางวิจัยตรงไหน เช่น มีเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ใด ๆ แล้วอยากจะใช้ก็สามารถที่จะติดต่อใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น หลายเรื่องซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทางหน่วยงานของทางด้านวิจัย หรือหน่วยงานภาครัฐมีอยู่ อาจจะใช้เฉพาะในเวลาราชการ แต่ว่าถ้าเรามีข้อมูลตรงนี้ และมีความต้องการที่จะใช้ เราก็จะเปิดโอกาสให้ใช้นอกเวลาราชการได้
เช่นเดียวกันนะครับการมีฐานข้อมูลตรงนี้ ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนหรือเอสเอ็มอี ภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งมีความประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาบางอย่าง โดยต้องการที่จะให้มีการวิจัยเข้ามาสนับสนุนในเรื่องกิจการของตัวเอง ก็จะมีโอกาสทราบว่ามีนักวิจัย หรือมีผู้เชี่ยวชาญทำงานทางด้านที่คาบเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองอยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาอยู่ที่ไหน อย่างไร หลังจากนั้นผมคิดว่าเมื่อเราเริ่มต้นจากก้าวแรกก้าวนี้แล้ว การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมก็ดี ภาคสังคมก็ดี กับงานวิจัยต่าง ๆ ที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า ก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น และจะเป็นการส่งเสริมในที่สุดต่อไปว่าภาคเอกชนกับภาครัฐจะสามารถเข้ามาทำงานทางด้านการวิจัยร่วมกันได้ จะไปดูในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้นักวิจัยที่จะเป็นนักวิจัยที่สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาครัฐ ไปจนถึงนักเรียนที่กลับมาใช้ทุนในภาครัฐ สามารถไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดเราก็หวังว่าจะนำไปสู่การที่เราจะเอางานวิจัยและพัฒนาไปใช้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง
เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น
ซึ่งคาบเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีสิ่งที่รัฐบาลจะผลักดันอีก 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการที่จะใช้เครื่องมือของการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการที่มีการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่มีความจำเป็นในการที่จะต้องนำเอานักวิจัยมาจากต่างประเทศ เพื่อที่จะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งกำลังจะมีการผลักดันให้มีมาตรการใหม่ออกมา เรื่องที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น คือว่าเราจะมีการทำในเรื่องของโครงการที่อยู่ในโครงการการปฏิรูปประเทศ ที่เน้นบทบาทของสถาบันการศึกษา ที่เคยได้ปรารภเอาไว้ในความคิดในเรื่องของ 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งความจริงแล้วคงจะไม่ใช่ 1 มหาวิทยาลัย แต่หมายความว่าในทุกจังหวัดนั้นจะมีการระดมสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่นั้น ๆ โดยมี 1 สถาบันที่จะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลัก ในการที่จะเชื่อมโยงเอาความรู้และความสามารถที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้าไปสู่การพัฒนาชุมชนหรือการพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นงานสำคัญที่เราจะได้มีการผลักดันให้เกิดการนำเอางานวิจัย รวมทั้งงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง
การปรับค่าตอบแทนของภาคราชการให้ใกล้เคียงกับภาคเอกชน
สัปดาห์ที่ผ่านมามีงานที่อยากจะรายงานให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบอยู่ เรื่องแรกคงจะเป็นเรื่องของระบบราชการ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไม่เพียงแต่เรื่องของการที่จะปรับบัญชีเงินเดือนราชการ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนอย่างที่ได้เคยเล่า และพี่น้องประชาชนคงทราบอยู่แล้ว แต่ว่าได้มีการอนุมัติในโครงการซึ่งจะช่วยปรับในเรื่องของค่าตอบแทนของภาคราชการให้มีความใกล้เคียงกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยจุดแรกที่เราเข้าไปดูคือจุดของการบรรจุข้าราชการที่รับเข้าไปเป็นครั้งแรก พูดง่าย ๆ คือว่าบรรดาผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ที่ตัดสินใจที่จะก้าวเข้ามาสู่ระบบราชการ ปัจจุบันเราพบว่าช่องว่างระหว่างเงินเดือนของคนที่จบใหม่เข้ารับราชการกับภาคเอกชน ห่างกันพอสมควร เข้ารับราชการก็ไม่ถึงหมื่น และเราก็มีการดูตัวเลขและกำหนดเป้าหมายเบื้องต้นที่จะลดช่องว่างตรงนี้ พยายามจะทำให้เท่าเทียมกันให้ได้ภายใน 5 ปี สิ่งแรกที่เราได้อนุมัติไปคือว่าจะมีการปรับเรื่องของเงินเดือนสำหรับคนที่แรกเข้า หรือเข้ารับบรรจุเป็นครั้งแรกขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท นั่นเป็นประเด็นแรก
แต่ว่าที่เราทำมากกว่านั้นคือว่าเราต้องการที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องของการที่จะรับคนเข้าสู่ระบบราชการตั้งแต่แรกเลย ความยืดหยุ่นที่ว่าก็คือว่าปัจจุบันนี้เวลาที่มีการบรรจุเข้ารับราชการ เงินเดือนไม่ว่าจะจบมาจากสถาบันไหน ไม่ว่าจะมีความสามารถพิเศษหรือไม่อย่างไร ก็จะเท่ากันหมด ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาเพราะว่าทำให้แรงดึงดูดของคนที่จะเข้าระบบราชการน้อยเกินไป สิ่งที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบคือว่านอกเหนือจากการที่จะเพิ่มเงินเดือนที่บรรจุในครั้งแรกแล้ว ยังกำหนดให้มีความยืดหยุ่นคือเป็นช่วง นั่นหมายความว่าจะมีเงินเดือนขั้นต่ำ แล้วก็จะสามารถที่จะมีการเพิ่มให้เงินเดือนที่แรกรับเพิ่มขึ้นได้จากเงินเดือนขั้นต่ำนี้ โดยจะมีการกำหนดปัจจัยสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะไปพิจารณา เช่น ถ้าสมมติว่ามาทำงานในสาขาที่ขาดแคลน ก็จะมีโอกาสได้เงินเดือนสูงขึ้น ถ้าสมมติว่ามีความสามารถพิเศษ เช่น อาจจะมีความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศที่เป็นที่ต้องการ ก็จะได้เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง หรือดูจากคะแนนในการสอบ เพราะฉะนั้นคนที่เก่งจริง ๆ เก่งมาก ๆ สามารถที่จะทำคะแนนได้ มีความโดดเด่น ก็จะมีส่วนเพิ่มเข้าไปเป็นเงินเดือนที่เข้ารับราชการตอนแรกแล้วสูงกว่าเงินเดือนขั้นพื้นฐาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพยายามที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เราสามารถที่จะดึงดูดให้คนเก่ง ๆ คนดี ๆ เข้ามารับราชการมากขึ้น และทำให้การรับราชการนั้นมีค่าตอบแทน มีความก้าวหน้า ที่จะเหมาะสม เพราะว่าเมื่อเราปรับเงินเดือนเมื่อแรกรับเข้าแล้ว ในที่สุดแล้วจะมีการไล่ปรับในระดับอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต อันนี้ก็เป็นความพยายามที่จะให้ระบบราชการนั้นยังคงความดึงดูดในการที่จะได้คนดีคนเก่งเข้ามาทำงานเพื่อรับใช้บ้านเมือง ก็เป็นงานสำคัญงานหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไปราคาข้าวน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
เรื่องที่ 2 ที่อยากจะขอใช้เวลาตรงนี้ก็เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาและเรื่องของข้าว เพราะว่าจริง ๆ ขณะนี้สถานการณ์ทางด้านการเกษตรในปีนี้ จะพบว่าราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ค่อนข้างจะดีมาก แต่ว่าผลผลิตได้รับผลกระทบจากเรื่องของภัยแล้งอยู่บ้าง รวมทั้งเรื่องของผลไม้ด้วย แต่ว่ามีข้าวครับที่เป็นปัญหาในเรื่องของราคา ซึ่งอันนี้ก็มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ได้มีการพิจารณากันไปในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ส่วนหนึ่งก็คือยอมรับครับว่าปัญหาของราคาข้าวที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาของการแทรกแซงในอดีตของรัฐบาล ในเรื่องของโครงการที่มีการจำนำ และเก็บเอาข้าวมาอยู่ในสต็อกของรัฐบาลจำนวนมาก ก็ขอเรียนว่าขณะนี้แนวทางของรัฐบาลก็ชัดเจนครับคือเร่งระบายข้าวส่วนนี้ออก แต่เป็นการระบายซึ่งจะไม่ให้มีข่าวคราว หรือมีผลกระทบต่อเรื่องของราคาในตลาด ผมอยากจะเรียนเพียงสั้น ๆ ว่าได้มีการดำเนินการไปพอสมควรแล้ว และคิดว่าแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากการมีสต็อกข้าวที่มีผลกระทบต่อราคาในส่วนนี้ เมื่อเข้าสู่ประมาณช่วงปลายปีจะลดลงไปมาก ซึ่งผมคิดว่าจะมีโอกาสทำให้ราคาข้าวกระเตื่องขึ้นมา พร้อมๆ กันนั้นก็จะเห็นว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายต่อหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าว ก็คงจะทำให้ความต้องการเทียบกับปริมาณข้าวที่ออกมาสู่ตลาด ตั้งแต่ช่วงปลายปีเป็นต้นไป น่าจะทำให้ราคาข้าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกันการแทรกแซงในรูปแบบของการประกันรายได้ซึ่งทำมา ก็ได้มีการประเมินผลอย่างกว้างขวาง ก็ขอเรียนว่าในภาพรวม การใช้นโยบายการประกันรายได้ของเกษตรกรก็ได้ช่วยให้การช่วยเหลือของรัฐบาลมีความทั่วถึงมากขึ้นอย่างชัดเจน และไม่เป็นการไปบิดเบือนกลไกตลาด และเป็นแนวทางที่เรามั่นใจว่ามาในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นในฤดูกาลนี้ที่กำลังมีการเพาะปลูกอยู่ ก็มีการเดินหน้าในโครงการของการประกันรายได้ โดยคงในเรื่องของราคาและปริมาณที่เป็นสิทธิที่ให้กับพี่น้องเกษตรกร พี่น้องชาวนา แต่ว่าเรื่องของจำนวนผลผลิตต่อไร่ ที่ใช้คำนวณในการที่จะจ่ายเงินชดเชยนั้นก็มีการปรับขึ้นทั้งในพื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน ส่วนปัญหาที่มีอยู่บ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโครงการประกันรายได้ ก็จะมีการแก้ไขไปโดยลำดับ ประการแรกคือสำหรับกรณีของข้าวนาปรัง และช่วงที่ผ่านมาที่ปรากฏว่าหลายพื้นที่ยังมีการร้องเรียนเข้ามาว่ายังไม่ได้รับราคา หรือการชดเชยที่เป็นธรรม ทางคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามันมีช่วงรอยต่อระหว่างวันที่ 25 กับวันที่ 26 เมษายน ซึ่งทางการไปเปลี่ยนสูตรในการคำนวณราคาอ้างอิง เพราะฉะนั้นทำให้พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับเงินชดเชยก่อนวันที่ 26 เมษายนได้รับในอัตราค่อนข้างต่ำ สิ่งที่เป็น มติของคณะกรรมการฯ ขณะนี้ก็คือให้มีการไปคำนวณ โดยใช้สูตรคำนวณราคาอ้างอิง ที่ใช้หลังจากวันที่25 เมษายน ย้อนกลับไปคำนวณ และมีการเพิ่มเงินชดเชยให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ได้ใช้สิทธิ์ก่อนวันที่ 25 เมษายน ซึ่งกำลังจะไปคำนวณตัวเลขในรายละเอียด และคงจะได้มีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และจะได้มีการชดเชยเพิ่มเติมต่อไป
รัฐผลักดันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา
ผมขอเรียนว่านอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว ในส่วนของสวัสดิการของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาทาง กขช. ก็ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการเช่นเดียวกันครับ ที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นไปยกร่างกฎหมายที่จะมาทำในเรื่องของกองทุนสวัสดิการชาวนา หลักคิดตรงนี้ก็คงจะเหมือนกับที่รัฐบาลได้มีการผ่านกองทุนเงินออมแห่งชาติ และกำลังจะนำเสนอเข้าสู่สภาฯ คือจะเปิดโอกาสให้ชาวนา สามารถที่จะนำเงินที่ได้จากการขายข้าว หักออกมาสมทบเข้าเป็นกองทุน และได้รับการสมทบจากรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง เพื่อจะนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชาวนา อันนี้ก็จะเป็นการเพิ่มหลักประกัน และเป็นไปตามแนวทางที่ผมได้พูดตลอดเวลาว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่จะมีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องชาวนาด้วย อันนี้ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ได้มีการผลักดันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
สภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 54 ต่อวันอังคารนี้
สุดท้ายครับสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกันครับ สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาในเรื่องของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ในวาระที่ 2 แต่ปรากฏว่าหลังจากพิจารณาไปได้ประมาณ 3 วัน ปรากฏว่ายังไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ครบทุกมาตรการ ตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรครับ เพราะว่าตามกฎหมายนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็จะมีเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ถึงวันที่ 26 สิงหาคม ท่านประธานรัฐสภาก็จะนัดให้มีการประชุมต่อในวันอังคาร และถ้ามีความจำเป็นก็เป็นวันพุธอีก 1 วัน ผมขอเรียนว่าบรรดาประเด็นที่เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หยิบยกขึ้นมา โดยเฉพาะในกรณีที่มีความห่วงใยว่ามีโครงการใดหรือการใช้งบประมาณในส่วนไหน ซึ่งขาดความโปร่งใส และก็จะการดำเนินการตรวจสอบ และข้อคิดข้อเสนอแนะหลายอย่างจากสมาชิก ก็เป็นประโยชน์ในการที่จะทำให้เราสามารถปรับปรุงในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณในปีต่อ ๆไปได้ด้วย ก็ขอความร่วมมือจากเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าคงจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนวันพุธนี้ และรัฐบาลจะได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีฯ เสนอต่อวุฒิสภาต่อไป สำหรับสัปดาห์นี้คงจะใช้เวลาเพียงเท่านี้ เดี๋ยวกลับมาเราจะมาพูดคุยกับทางพิธีกรรับเชิญในเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ ซึ่งก็มีความคืบหน้าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกันครับ
ช่วงที่ 2
ผู้ดำเนินรายการ (นายวีระ ธีรภัทร) สวัสดีครับคุณผู้ชมครับ กลับมาพบกับรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ วันนี้ผมได้เป็นพิธีกรรับเชิญที่มาพูดคุยในการรายการนะครับ ก็คงจะมีหลายเรื่องที่จะพูดคุยรวมทั้งที่ท่านนายกฯ ทิ้งท้ายไว้ว่าจะคุยเรื่องหนี้นอกระบบด้วย รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจเรื่องอะไรทั้งหลายทั้งปวงที่จะต้องคุยกัน สวัสดีครับท่านนายกฯ ครับ
นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ
ผู้ดำเนินรายการ เกือบปีนะครับไม่ได้เจอกัน ครั้งที่แล้วไปสหรัฐอเมริกา
นายกรัฐมนตรี สหรัฐอเมริกาก็เกือบ ๆ ปีพอดีครับ
ผู้ดำเนินรายการ คนก็ไม่คิดว่ารัฐบาลจะอยู่กันได้ยาวนานขนาดนี้ ขนาดนี้ก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งครับ ก่อนที่จะไปคุยเรื่องหนี้นอกระบบนี้ เมื่อกี้นี้ท่านนายกฯ ทิ้งท้ายไว้เรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ ในการพูดคุยเรื่องงบประมาณผมก็เข้าใจว่ามีหลาย ๆ คนพูดถึงเรื่องหนี้เหมือนกัน
นายกรัฐมนตรี หนี้สาธารณะ
ผู้ดำเนินรายการ หนี้สาธารณะ ผมคิดว่าถ้าอย่างนี้เราแบ่งออกเป็น 3 ก้อนนะครับ
นายกรัฐมนตรี ได้ครับ
ผู้ดำเนินรายการ ก้อนหนึ่งเรื่องหนี้สาธารณะ ก้อนหนึ่งอาจจะเป็นหนี้ของธุรกิจ และอีกก้อนหนึ่งจะเป็นหนี้ของครัวเรือนหรือประชาชนซึ่งจะมีส่วนหนึ่งเป็นหนี้นอกระบบ และส่วนหนึ่งเป็นหนี้ในระบบ ผมจะค่อย ๆ ไล่ไปนะครับ เพราะส่วนของหนี้นอกระบบผมเข้าใจว่าท่านนายกฯ ได้มีแคมเปญใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เอาเรื่องหนี้นอกระบบก่อน ผมฟังแล้วได้เกิดความสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณรายจ่ายปี 54
นายกรัฐมนตรี หนี้สาธารณะก่อน
ผู้ดำเนินรายการ หนี้สาธารณะ ในงบประมาณรายจ่ายปี 54 ที่รัฐบาลตั้ง เป็นงบประมาณใช้คืนเงินกู้ แล้วก็ใช้คืนเงินต้นด้วย ส่วนที่เป็นเงินกู้นี้ใช้คืนเงินต้นแค่ประมาณสัก 30,000 กว่าล้านถ้าผมจำไม่เป็นนะครับ และที่ใช้คืนเป็นดอกเบี้ยแต่ละปีที่เกิดขึ้นประมาณเกือบ ๆ 180,000 ล้านบาท คำถามที่คนถามคือว่า ทำไมรัฐบาลจ่ายดอกเยอะจัง ทำไมไม่ใช้ต้นเลย มันมีกฎเกณฑ์อะไรที่มันเกี่ยวข้องในงบประมาณรายจ่าย
นายกรัฐมนตรี คือเอาตัวดอกเบี้ยที่เยอะก่อนนะครับ หลายคนทราบว่าจริง ๆ แล้วดอกเบี้ยของเงินกู้ก้อนใหญ่ตรงนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่แล้ว คือปี 2540 ซึ่งระบบสถาบันการเงินทั้งหมดมีปัญหา และสุดท้ายหนี้ตัวนี้ก็เข้ามาสู่การเป็นหนี้ของรัฐบาล และเป็นเงินก้อนใหญ่ เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยก็ค่อนข้างจะเยอะนะครับ จริง ๆ แล้วทางกระทรวงการคลังเขาก็จะมีหน้าที่ในการที่จะคอยดูอยู่ตลอดเวลา ว่าตรงไหนจะสามารถที่จะปรับโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อจะนำไปสู่การบริหารหนี้ไม่ให้เป็นภาระมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นส่วนไหนนะครับที่สามารถที่จะชำระต้นเงินได้เร็วขึ้น มีประโยชน์ ถามว่าทำได้ สัญญาหรือตัวมูลหนี้ที่เกี่ยวข้องนี้อนุญาตให้ทำได้เขาก็จะทำนะครับ พร้อม ๆ กันไปนี้
ผู้ดำเนินรายการ คล้าย ๆ กับว่าชำระก่อนกำหนด
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ ๆ เพราะฉะนั้นก็จะทำตลอดเวลานะครับในการที่จะลดภาระตรงนี้ เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่ที่มาถกเถียงกันนี้ ก็คือความคิดที่ว่าหนี้ตรงนี้มาจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย จะรับกลับคืนไปได้ไหมอย่างไร ก็เป็นที่ห่วงใยกันในเรื่องของ ใช้คำว่าคลังหลวงบ้าง อะไรบ้างนะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ยังไม่ได้มีการที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร
ผู้ดำเนินรายการ เงินต้นที่เป็นยอดคงค้างอยู่นี้ยังไม่มีการชำระสะสาง เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยก็จะต้องเกิดขึ้นแต่ละปี ๆ
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ ๆ ทีนี้ก็เมื่อพูดถึงตรงนี้ก็ดีแล้วนะครับ เพราะว่าคำว่าหนี้สาธารณะนี้หลายคนก็มีความวิตกกังวลกันมากนะครับว่า เกิดมาแล้วมีหนี้เท่าไรอะไร เกิดขึ้นมาปั๊บรับหนี้ไปแล้วจะต้องใช้เงินกันเมื่อไรอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ เอาหนี้สาธารณะเป็นตัวตั้งปั๊บ เอาจำนวนประชากรหารว่ามีคนหัวละ 80,000 – 100,000 อะไรอย่างนี้
นายกรัฐมนตรี สิ่งที่ผมอยากจะเรียนก็คือว่า อันนี้เป็นเรื่องของการบริหารงบประมาณนะครับ ผมว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีหนี้สาธารณะนะครับ เพราะว่ารัฐบาลจะมีบทบาทอยู่เรื่อย ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง เวลาเศรษฐกิจตกต่ำ รวมไปถึงการลงทุนของรัฐบาลเอง ในโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง รถไฟ ซึ่งอาจจะมีเอกชนเข้ามาร่วมบ้าง แต่ว่ายังมีอีกหลายส่วนนะครับ อย่างน้อยโรงเรียนโรงพยาบาลอะไรต่าง ๆ รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนไปก่อน เพราะฉะนั้นหนี้ตรงนี้จะเกิดขึ้น รัฐบาลทุกรัฐบาลจะมีหนี้ ถามว่ารัฐบาลเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ ผมก็พูดมาตลอดครับรัฐบาลไม่มีเงินของตัวเองหรอก รัฐบาลก็เก็บจากประชาชน เก็บจากอะไร จากภาษีอากร ทีนี้ถามว่าหนี้สาธารณะนี้ถ้ามันมีมากขึ้น ๆ ๆ มันไปอันตรายตอนไหน 1. ก็คือบอกว่าถ้าหนี้มันเริ่มเพิ่มเร็วกว่ารายได้ของรัฐ ก็เหมือนกับตัวคนหรือเหมือนกับองค์กร ในที่สุดก็เหมือนกับล้มละลายนะครับ หรือ 2.
ผู้ดำเนินรายการ คือหามาเท่าไรก็ใช้แต่หนี้ก็หมด
นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเอาเงินมาใช้อย่างอื่นแล้ว และก็ไม่พอด้วยอะไรอย่างนี้นะครับ ซึ่งพอเกิดอย่างนั้นปั๊บนี้หมายความว่าเจ้าหนี้เขาก็จะเริ่มมีปัญหากับเรา เขาก็จะไม่ให้เรากู้เพิ่ม ไม่ให้อะไรต่าง ๆ นะครับ 2. นี้ถ้าหากว่าหนี้สาธารณะมันเพิ่มขึ้นรวดเร็วนะครับ จนกระทบกับความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นนี้ก็หมายความว่าจะทำให้เจ้าหนี้บอก อย่างนี้ประเทศนี้ไม่น่าให้กู้แล้ว
ผู้ดำเนินรายการ หนี้ใหม่ไม่ให้กู้ หนี้เก่าหรือว่า
นายกรัฐมนตรี หรือว่าคิดดอก ดอกขึ้น หรือเรียกเงินกลับคืนเร็วขึ้นหรืออะไรต่าง ๆ อันนี้ก็จะเป็นปัญหา ทีนี้ผมก็ขอยืนยันนะครับ หลายคนบอกรัฐบาลชุดนี้เข้ามากู้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่จริงไม่ใช่หรอกครับ ไม่ใช่หรอกครับ ผมยกตัวอย่างว่า เดิมนี้เราเจอวิกฤตที่ต้องถือว่าแรงที่สุด เราก็คิดว่าต้องกู้เยอะ เราก็บอกว่าประกาศว่าเราพร้อมจะกู้ 800,000 ความจริงถึงกู้ครบ 800,000 นะครับ และหนี้สาธารณะอาจจะขึ้นไปแตะเกือบจะ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลิตภัณฑ์มวลรวมนี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับซึ่งสากลยอมรับได้นะครับ และก็เวลานี้บอกได้เลยว่าปีที่ผ่านมาในที่สุดนี้ พอเศรษฐกิจฟื้นเร็วกว่าที่คิด เราก็บอก 400,000 หลังไม่กู้ ลดมาครึ่งหนึ่งแล้ว และก็แถมที่เราบอกว่าต้องกู้มาชดเชยงบประมาณขาดดุล เดิมนี้งบไม่ใช่ที่พูดกันในสภาฯ นะ งบที่ใช้อยู่ขณะนี้ จะขาดดุล 350,000 ล้านนะครับ แต่พอผ่านมาจะครบ 12 เดือนนี้ปรากฏว่าจัดเก็บรายได้เกินเป้า อาจจะขาดดุลไม่กี่หมื่นล้าน หรือถ้าโชคดีจริง ๆ อาจจะกลายเป็นงบประมาณสมดุลก็ได้
ผู้ดำเนินรายการ อันนี้อาจจะเกี่ยวกับเรื่องส้มหล่นได้เงินมาอีก 40,000 กว่าล้าน
นายกรัฐมนตรี นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งนะครับ แต่ว่าเรื่องใหญ่ก็คือว่าฐานะในเรื่องของหนี้มันดีกว่าที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้นะครับในช่วงที่เกิดวิกฤต และก็เสร็จสรรพขณะนี้ก็บอกว่าหนี้สาธารณะเพิ่มจากประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์มาเป็น 42 -43 -44 ไม่น่าจะเกินนี้มากนัก ซึ่งใครที่อ่านข่าวเศรษฐกิจระหว่างประเทศนี้จะทราบ ประเทศในภูมิภาคขณะนี้ปวดหัวกันหมด ของเขาขึ้นไปเกิน 100 ก็มี 80 – 70 -60 และไม่มีประเทศไหนปีที่ผ่านมาไม่เพิ่มขึ้นสักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ละครับ เพราะว่าทุกคนจำเป็น
ผู้ดำเนินรายการ ก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลใช้ตังค์
นายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือว่ารัฐบาลได้ดูอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลเลยว่าหนี้ตรงนี้กำลังจะทำให้ประเทศล้มละลาย หรือลูกหลานเราเกิดขึ้นมาแล้วไม่มี โอ้โหต้องมาปวดหัว ไม่มีปัญหาในการที่จะมาใช้หนี้ ไม่มีกรณีอย่างนั้น มันเป็นเรื่องการบริหารปกติของรัฐบาลครับ
ผู้ดำเนินรายการ ถ้าหนี้สาธารณะหรือหนี้ของรัฐบาลไม่เป็นปัญหานี้ ขณะนี้ที่มาโพกัสกันหรือมาให้ความสนใจกันนี้ ผมเข้าใจว่าคงจะเป็นหนี้ของประชาชน
นายกรัฐมนตรี ก่อนไปถึงตรงนั้นอีกนิดเดียวก็คือว่าอย่างที่บอกว่าเงินที่จะเอามาใช้หนี้ในที่สุดก็คือภาษี สิ่งที่ยืนยันว่าไม่ต้องกังวลก็คือ ขณะนี้รัฐบาลไม่มีความคิดว่าจะต้องเพิ่มภาษีเพราะมีปัญหาเรื่องการขาดดุล
ผู้ดำเนินรายการ เคยเก็บเท่าไรก็เก็บเท่านั้น
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ คือเก็บเท่าไรนี้อัตรานะครับ แต่ว่าการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นเพราะยังมีคนจำนวนเยอะซึ่งไม่ได้เสียและควรจะเสียนี้นะครับ นั่นก็ส่วนหนึ่งที่จะต้องทำ กับเรื่องของแม้กระทั่งภาษีที่เราจะปรับโครงสร้าง เช่น ภาษีที่ดินทรัพย์สินนี้ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ว่าอยากจะได้เงินเข้ามาเพิ่ม เป้าหมายอยู่ที่ว่าลดความเหลื่อมล้ำ อยู่ที่เรื่องของการปล่อยให้ทางท้องถิ่นเขามีรายได้ของตัวเองมากขึ้น มีภาษีอยู่สองตัวเท่านั้นที่ผมพูดมาตลอดว่าผมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือเหล้ากับบุหรี่ อันนี้ก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนในเรื่องของเหล้ากับบุหรี่
ผู้ดำเนินรายการ แต่ที่ท่านนายกฯ พูดถึงก่อนจะไปหนี้นอกระบบ หนี้ประชาชน ท่านนายกฯ พูดอย่างนี้ก็ดีแล้วนะครับ คือขณะนี้รัฐบาลท่านนายกฯ เข้ามานี้มันมีหลาย ๆ อันซึ่งผมคิดว่ามันเป็นค่าใช้จ่ายประจำ อันเกิดจากการให้สวัสดิการคนมีรายได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น 500 บาท เบี้ยยังชีพ หรือโครงการเรียนฟรี พวกนี้พอเข้าเป็นงบประมาณแล้วมันเลิกไม่ได้ ส่วนใหญ่มันจะเลิกไม่ได้
นายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่จะเลิกไม่ได้
ผู้ดำเนินรายการ รัฐบาลไหนมาถ้าเกิดอีกหน่อยเลิกจ่ายเงิน 500 บาทให้กับคนผู้สูงอายุ ผมคิดว่าเสร็จแน่นอนนะครับ เพราะฉะนั้นพวกนี้มันเป็นรายจ่ายที่อยู่ในนั้น ฝังอยู่ แล้วมันก็จะเพิ่มพูน ๆ ถ้าต่อไปเพิ่มจาก 500 เป็น 600 / 800 จำนวนคนเพิ่มขึ้นอย่างนี้ แบบนี้ในระยะยาวถ้ารัฐบาลอื่นมาทำอย่างอื่นอีก ไปแจกอย่างอื่นอีกหรือไปเพิ่มอย่างอื่นอีกนี้ พวกนี้มันจะทำให้ภาระที่เป็นงบประจำนี้มันมากขึ้น ๆ ๆ ถ้ารายได้มันไม่สัมพันธ์กันอย่างนี้มันก็จะเป็นปัญหาได้
นายกรัฐมนตรี เราดูล่วงหน้าครับ เราดูล่วงหน้า อย่างสิ่งที่ผมพูดถึงว่าเกี่ยวข้องกับสวัสดิการทั้งหมดนี้ เราก็ตั้งใจว่าพอถึงปี 2559 ทุกอย่างเข้าระบบ คำว่าเข้าระบบนี้ พูดฟังเหมือนน่ากลัวว่าเอามาเข้าระบบทำไม จริง ๆ ยังไงก็มันมาจากตรงนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เดิมค่อนข้างจะเป็นนโยบายประเภทที่ว่าเฉพาะกิจบ้างอะไรบ้างนะครับ และก็มีความไม่แน่นอน และก็สุดท้ายนี้ผมว่ามันไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดหลักประกันความมั่นคงนะครับ ทีนี้เราก็เอาให้ชัดนะครับว่าต่อไปนี้ ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือว่าโครงการเรียนฟรีมันเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องให้ โดยส่วนตัวนี้ผมมองว่ารูปแบบของโครงสร้างเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายทางสังคมยังไงก็ต้
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1219 ครั้ง