เมื่อเงินจีนและเงินอาหรับอยากเป็นเงินตราสกุลหลักของโลก
ปี2010ซึ่งตามปฏิทินจีนถือว่าเป็นปีเสือเป็นประเภทธาตุทอง
และก็นับว่าปีนี้เสือทองหรืออาจเรียกได้ว่า
“เสือเหล็ก”
ตัวนี้ได้วิ่งโฉบไปป่วนระบบเศรษฐกิจโลกนับแต่วิกฤตยุโรปเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา
และโดยรวมแล้วในปีนี้ต้องถือว่าเป็นปีที่มีความยากลำบากมากปีหนึ่งเลยในการบริหารจัดการปัจจัยจากโลกาภิวัตน์ทางการเงิน
จากการที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆมีความผันผวนอย่างมาก
แต่เสือก็ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่รักเกียรติ
มีศักดิ์ศรี มีสัจจะ
ใครที่คิดจะมุ่งมั่นทำอะไรก็จะได้รับรางวัลความสำเร็จเป็นสิ่งตอบแทน
ปีเสือปีนี้นับว่ามีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกก็ว่าได้
ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มังกรจีนถือโอกาสท้าทายกรงเล็บแห่งอำนาจของพญาอินทรีสหรัฐฯในหลายๆด้าน
ด้านการทหาร
จีนเองก็มีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นถึงขั้นประกาศว่าทะเลจีนใต้เป็นเขตทะเลที่อยู่ภายใต้จีน
หาใช่เป็นน่านน้ำสากลที่อเมริกาจะเข้าควบคุมหรือไม่
ในทางการเงินเองจีนก็ได้ถือโอกาสเปิดตัวบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่ชื่อว่า
“ต้ากง” ขึ้นมา
เพื่อจัดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลต่างๆ
ซึ่งปรากฏว่าจีนเองจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือเครดิตเรตติ้งน้อยกว่าที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือตะวันตกจัดให้AAAทั้งนี้จีนให้เหตุผลถึงการที่สหรัฐฯเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวและการขาดวินัยทางการคลังถึงการที่ให้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าสำนักของตะวันตก
และในโอกาสนี้เองจีนก็ถือโอกาสโจมตีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างMoody’sและS&Pว่าไร้มาตรฐาน
ขาดความน่าเชื่อถือ
และเป็นหนึ่งในต้นเหตุของวิกฤตการเงินในช่วง2007-2010ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป
จากความผิดพลาดในการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งมักใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงของนักลงทุน
ในปีเสือนี้เช่นกันที่มังกรเศรษฐกิจจีนเริ่มเปิดตัวเงินหยวนอย่างเป็นทางการมากขึ้นหลังจากยกเลิกการตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์เมื่อวันที่19มิถุนายน2010ที่ผ่านมา
และได้ออกมาตรการสารพัดเพื่อให้เงินหยวนสามารถไหลเวียนได้มากขึ้นในระบบการเงินในจีนและฮ่องกง
และระบบการค้าระหว่างประเทศ
โดยสรุปแล้วมาตรการในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปลายเดือนสิงหาคม2010ทางการเจีนได้มีการเปิดโอกาสให้มีการนำเงินหยวนไปลงทุนในระบบการเงินจีนได้มากขึ้น
เปิดช่องทางการค้าระหว่างประเทศโดยใช้เงินหยวนทั่วประเทศจีน
และให้ต่างประเทศทีช่องทางในการระดมทุนเป็นเงินหยวนและนำเงินหยวนกลับมาลงทุนในประเทศจีนได้
ซึ่งในเรื่องสุดท้ายถือเป็นจุดสำคัญของปีก็ว่าได้
เพราะหลังจากที่จีนเทดลองปิดประตูให้เงินหยวนโลดแล่นในระบบธนาคารและตลาดทุนฮ่องกงมาหลายปีและมีการทำสัญญาสว็อปเงินหยวนกับเงินสกุลท้องถิ่นกับธนาคารกลางหลายๆประเทศมูลค่ากว่า800,000ล้านหยวน
หรือมากกว่า 120,000ล้านดอลลาร์
สิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้ย่อมทำให้มีเงินหยวนหมุนเวียนในมือสถาบันการเงินเอกชนและธนาคารกลางต่างๆ
การที่จีนเปิดตลาดตราสารหนี้และอนุยาตให้เงินเหล่านี้กลับมาหมุนเวียนในจีนได้
ถือเป็นการเตรียมตัวให้เงินหยวนมีคุณสมบัติของสภาพคล่องที่ธนาคารกลางต่างๆสามารถพิจารณาใช้เป็นทุนสำรองได้ในอนาคต
นอกจากความเปลี่ยนแปลงในบูรพาทิศแล้ว
ในศูนย์กลางโลกมุสลิมอย่างตะวันออกกลางเองก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเช่นกัน
แม้จะไม่เป็นที่ฮือฮาและมีพลวัตมากเท่าฝั่งจีน
แต่ก็ไม่สามารถละสายตาได้เช่นกัน
โดยในปีนี้กลุ่มประเทศสมาชิกGCC
4 ประเทศจากทั้งหมด6ประเทศได้แก่
ซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์
และ บาห์เรน ได้มีการประชุมสภาการเงินหรือMonetary
Council เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่30มีนาคม2010ที่ผ่านมา
ซึ่งองค์กรนี้จะเป็นองค์กรตั้งต้นที่จะนำไปสู่การจัดตั้งธนาคารกลางของภูมิภาคแบบเดียวกับธนาคารกลางยุโรปในอนาคต
แม้ว่าหลังจากนั้นจะยังไม่เห็นพัฒนาการที่สำคัญๆออกมา
แต่บรรดาผู้นำรัฐบาลต่างๆในภูมิภาคนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าจะเดินหน้าแผนการตั้งเงินตราสกุลเดียว(ซึ่งมีชื่อว่าKhaleeji)ต่อไป
แม้ว่าจะเผชิญกับวิกฤตการเงินในยุโรปก็ตาม
เรื่องที่เกิดขึ้นในคนละซีกโลกนี้ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มากและสมควรอย่างยิ่งที่ประชาคมการเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศต้องจับตามอง
เพราะทั้งจีนและอาหรับต่างเป็นผู้ที่กุมสินทรัพย์ทางการเงินรายใหญ่ที่สุดของโลก
อาหรับเป็นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรป
จีนเป็นผู้ลงทุนหรือเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของทั้งสหรัฐฯและยุโรปเช่นกัน
ทั้ง 2ฝ่ายจึงเป็นตัวแปรสำคัญยิ่งต่อค่าเงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์และยูโร
และเป็นผู้กำหนดทิศทางเงินทุนโลกรายสำคัญ
การที่ทั้งจีนและอาหรับคิดจะออกจากดอลลาร์และหันมาสร้างเครือข่ายระบบการเงินและการค้าของตนเองย่อมกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจและอำนาจโลกที่สหรัฐฯครอบงำอยู่อย่างแน่นอน
ในเรื่องนี้หากเทียบกันแล้ว
ฝั่งจีนดูจะมีความคืบหน้ามากกว่าฝั่งอาหรับเพราะเศรษฐกิจจีนดูจะมีความหลากหลายในตัวเองมากกว่าซึ่งมีทั้งภาคการผลิต
ภาคการค้า ภาคเทคโนโลยี
และภาคการเงิน
ซึ่งล้วนแล้วมีความใหญ่โตและมีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้
อีกทั้งสยายปีกไปทั่วทุกมุมโลก
ดังนั้นแล้วหากเทียบบทบาทกัน
เงินหยวนมีศักดิ์ที่จะแข่งบารมีเป็นเงินตราสกุลหลักของโลกกับดอลลาร์และยูโรได้มากกว่า
ขณะที่ชาติอาหรับทั้ง 6ชาติในกลุ่มGCCยังคงพึ่งพาภาคน้ำมันอยู่มาก
การรวมกลุ่มทางการค้ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น
และที่สำคัญค่าเงินทุกสกุลยังตรึงค่าคงที่กับเงินดอลลาร์(ยกเว้นคูเวตที่ไหไปใช้ระบบตะกร้าเงินแทน)และด้วยขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่น้อยกว่า
เงินอาหรับน่าจะเป็นได้อย่างมากก็แค่เงินตราภูมิภาคเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม
ก็ถือได้ว่าเป็นเงินสกุลใหญ่ทีเดียว
เว้นแต่ว่ากลุ่ม GCCจะสามารถทำให้เงินสกุลนี้เป็นที่ยอมรับของชาติมุสลิมทั้งโลก
เงินสกุลใหม่นี้ก็จะมีฐานะที่แข่งกับเงินดอลลาร์และยูโรได้เช่นเดียวกับเงินหยวน
หากการออกตัวก่อนของจีนในเรื่องการดันเงินหยวนเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากดอลลาร์เป็นไปอย่างรวดเร็ว
จริงจัง และมีความคืบหน้ามาก
ซึ่งสามารถสังเกตได้จากปริมาณการใช้เงินหยวนในการค้าขายระหว่างประเทศและความคึกคักของตลาดทุนจีนที่มีธนาคารกลางและสถาบันการเงินขนาดใหญ่เข้ามามากขึ้น
ย่อมส่งผลอย่างสำคัญต่อการชะลอตัวลงของทุนสำรองของจีนในระยะยาว
ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงแรงซื้อดอลลาร์และสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์ที่น้อยลง
และนั่นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กระทบต่อปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนเงินดอลลาร์และสินทรัพย์ดอลลาร์
ปัจจัยจากเงินหยวนที่ผงาดขึ้นนี้ย่อมส่งผลให้บรรดาผู้ส่งออกน้ำมันอาหรับต้องคิดหนักไม่น้อย
เพราะในปัจจุบันนั้นค่าเงินดอลลาร์และตลาดทุนสหรัฐฯมีปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคงจากการสนับสนุนจาก3ผู้ยิ่งใหญ่ได้แก่
ธนาคารกลางจีน
ธนาคารกลางและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น
และ รัฐบาลอาหรับ
นอกจากเงินหยวนจะลดความต้องการของดอลลาร์โดยตรงจากจีนแล้ว
จะส่งผลทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าอื่นๆของจีนให้ลดการใช้ดอลลาร์ลงไปด้วยอย่างน้อยก็ในการค้าขายกับจีน
ซึ่งแน่นอนบรรดาประเทศในเอเชียและผู้ส่งออกน้ำมันทั่วโลกคือคู่ค้ารายใหญ่จากจีน
และนั่นจะเป็นการลดแรงซื้อดอลลาร์จากอาเซียนซึ่งมีข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน
จากไต้หวันซึ่งกำลังผนวกเศรษฐกิจกับจีน
และจากเกาหลีและญี่ปุ่นด้วย
การรวมตัวทางเศรษฐกิจผ่านเงินหยวนและการขยายความร่วมมือทางการค้าจะเร่งให้เกิดแรงซื้อดอลลาร์น้อยลง
และนั่นจะเป็นปัจจัยกระทบมายังอาหรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งต้องไม่ลืมอีกว่ารัฐบาลอิหร่านก็กำลังวิ่งเต้นอย่างสุดฤทธิ์ในการขายน้ำมันให้จีนเป็นเงินหยวนเพื่อดิ้นสู้มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ
ฉะนั้นแล้วในระยะเวลาข้างหน้าพัฒนาการทางการเงินของชาติอาหรับย่อมถูกกำหนดอย่างสำคัญจากอิทธิพลที่มากขึ้นของเงินหยวน
นอกจากนั้นแล้วการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศGCCเองจะเป็นตัวเร่งให้กลุ่มGCCสามารถรวมเป็นสหภาพทางการเงินที่สมบูรณ์และรวดเร็วยิ่งขึ้น
และสถาปนาเงินตราของตัวเองขึ้นมาได้ภายใต้เงื่อนไขทางการค้า
การคมนาคม การสื่อสาร
และการเงินที่พร้อม
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1049 ครั้ง