นักวิเคราะห์เศรษฐกิจของกัมพูชาได้ประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจอันเกิดจากปัญหาทางการเมืองกับประเทศไทย เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวตกต่ำอย่างรุนแรงถึงขั้นอันตราย
ทั้งนี้จากการรายงานของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ เมื่อวันศุกร์ (27 ส.ค.) ว่า ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจกัมพูชา ชี้ว่า การลงทุนจากธุรกิจไทยในกัมพูชาลดลงจากระดับ 178 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 สู่ระดับ 2 ล้านดอลลาร์ ในครึ่งแรกของปีนี้ ขณะเดียวกันการส่งออกจากกัมพูชาไปยังไทย ลดลงถึง 50% ต่ำลงเป็นสถิติใหม่เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าจากกัมพูชาไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆนอกจากนั้นความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างไทยกับกัมพูชายังส่งผลเสียต่อการลงทุนจากไทย เพราะแม้แต่บริษัทการบินไทย ก็ระบุด้วยว่า อาจจะถูกรัฐบาลกัมพูชาคว่ำบาตรในช่วงต้นปีนี้ ระหว่างที่เกิดคดีจับกุมนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือบริษัทสามารถฯ เพราะเปิดเผยข้อมูลการเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เชื่อได้ว่า มีบริษัทธุรกิจของไทยชะลอการลงทุนในกัมพูชาอีกจำนวนหนึ่ง
เหน็บให้คำแนะนำพื้นๆไม่เกิดประโยชน์
ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณยังได้ให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการค้าและการคลังในแบบพื้นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้เรียนรู้จากการเรียนในระดับปริญญาตรีเมื่อหลายสิบปีก่อน แม้กัมพูชาไม่ได้จ่ายค่าจ้างอย่างเป็นทางการให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ความเสียหายของเศรษฐกิจของประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลได้นำเอาคำแนะนำของ พ.ต.ท.ทักษิณเกี่ยวกับการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศมาพิจารณา พบว่าคำแนะนำเหล่านั้นไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจประเทศอย่างที่ควรจะเป็น
รายงานข่าวระบุด้วยว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะพ.ต.ท.ทักษิณยังทำให้ทั้งสองประเทศไม่หันหน้าเข้าหากัน ทำให้การแก้ปัญหาระดับทวิภาคีเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะความไม่ลงรอยเรื่องเขตแดนนอกชายฝั่งในพื้นที่อ่าวไทยที่ทับซ้อนกัน หากทั้งสองประเทศมีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันเชื่อว่าจะทำให้สภาพเศรษฐกิจกัมพูชาดีขึ้นในระยะยาว โดยมาจากการแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจกัมพูชายังให้ความเห็นด้วยว่า แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชายืนยันว่าการลาออกของพ.ต.ท.ทักษิณเกิดขึ้นจากการสมัครใจ แต่สภาพัฒน์ไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง อย่างไรก็ตาม การลาออกของพ.ต.ท.ทักษิณถือเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดที่ให้แก่กัมพูชา หลังจากที่ให้คำแนะนำในทิศทางที่ทำให้กัมพูชาย่ำแย่ลงมาโดยตลอด
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1478 ครั้ง