ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผย อาหาร เครื่องดื่ม ดันเงินเฟ้อเดือนส.ค. พุ่ง 3.3% คาดเงินเฟ้อทั้งปีสูงขึ้น 3.4% ตามเป้า
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อ เดือนส.ค. สูงขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.ปีก่อน สงผลให้เงินเดือนเฟ้อ 8 เดือน สูงขึ้น 3.5 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สาเหตุที่เงินเฟ้อสูงขึ้น เป็นผลมาจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 7.5% โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และข้าวเหนียว ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.0%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี จะสูงขึ้น 3.4% เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เพราะแนวโน้มเงินเฟ้อ 47 เดือน หลังจากนี้ มีทิศทางลดลง โดยเฉพาะเงินเฟ้อเดือนหน้า คาดว่าจะสูงขึ้นในอัตรา 3.2-3.3%
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดเล็กเป็นกรณีพิเศษช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ ในเวลาประมาณ 07.00 น. เพื่อหารือถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ, นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง, นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์, เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.), ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นต้
ด้าน นักบริหารเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.26/27 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 31.28/30 บาท/ดอลลาร์ หลังจากนั้นทยอยปรับตัวแข็งค่าลงไปทำนิวไฮในรอบ 26 เดือนที่ระดับ 31.21 บาท/ดอลลาร์ เมื่อเวลา 08.55 น.โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินในภูมิภาค
“(เงินบาท)โดนถล่มลงไปทำนิวไฮแต่เช้า หลังจากเปิดตลาดแล้วปรับตัวแข็งค่าลงอย่างรวดเร็ว” นักบริหารเงิน กล่าว
เมื่อวานนี้(31 ส.ค.)ช่วงที่ค่าเงินในภูมิภาคเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เข้ามาแทรกแซงให้เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.29 บาท/ดอลลาร์
เนื่องจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคออกมาค่อนข้างดี ทั้งออสเตรเลีย จีน และอินเดีย น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้าได้อีก แม้ภาวะการลงทุนในตลาดทุนจะถูกมองว่า over bought ไปแล้ว แต่นักลงทุนยังเห็นว่าไม่มีที่ไหนจะเข้าไปลงทุนได้อีก
“ตัวเลขที่ออกมาสะท้อนภาพว่าเอเซียไม่ได้รับผลกระทบ และน่าจะเป็นตัว drive เศรษฐกิจโลก” นักบริหารเงิน กล่าว
ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลหลักต่างประเทศ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 84.37/41 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 84.45/50 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2680/2682 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับ 1.2695/2697 ดอลลาร์/ยูโร
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทมีโอกาสปรับตัวแข็งค่าได้อีก โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวไว้ที่ 31.10-31.27 บาท/ดอลลาร์
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1441 ครั้ง