เมื่อวิกฤตอาหารโลกลามเหมือนไฟป่า
โอกาสของไทยอยู่ที่ไหน
หากจะพูดถึงหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนเป็นกังวลมากและถือเป็นหนึ่งในแนวโน้มและความเสี่ยงของโลกในศตวรรษที่21คงหนีไม่พ้นเรื่องวิกฤตอาหารโลกซึ่งกลับมาลุกลามและสร้างความหวาดกลัวอีกครั้ง
และงานนี้ดูเหมือนว่าหลังจากเสียงเตือนภัยที่รัสเซียดังขึ้น
ไฟแห่งวิกฤตนี้จะเริ่มลุกลามเผาผลาญระบบเศรษฐกิจและแม้กระทั่งเสถียรภาพของรัฐบาลต่างๆแล้ว
สภาพอากาศที่ปั่นป่วนทั่วโลกส่งผลให้เกิดภัยแล้งในรัสเซีย
ซึ่งเกิดจากคลื่นความร้อนพาดผ่านแถบเอเชียกลางและพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชริมแม่น้ำโวลก้าจนทำให้ท้ายที่สุดรัฐบาลรัสเซียต้องประกาศห้ามการส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชอื่นๆไปจนถึงสิ้นปี2010เมื่อวันที่5สิงหาคม2010แต่ด้วยสถานการณ์ที่ฝ่ายรัฐประเมินแล้วว่าคงบานปลายและสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งรัฐ
จึงประกาศยืดเวลาการใช้มาตรการนี้ไปจนถึงสิ้นปี2011เมื่อวันที่2กันยายน2010ที่ผ่านมาหรือเป็นเวลาราว1เดือนหลังจากมีการประกาศเส้นตายแรกภายใต้มาตรการนี้ขณะเดียวกันก็มีข่าวของภาวะที่ฝนตกหนักทั่วโลกเช่นในแคนาดา
สหรัฐฯ ออสเตรเลีย
หรือน้ำท่วมหนักในปากีสถานที่ทำลายผลผลิตข้าวและฝ้ายปริมาณมหาศาล
ส่งผลต่อชีวิตผู้คนมากกว่า20ล้านคนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยในทันที
สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ต่อประเทศปากีสถานอย่างมาก
แต่หนังเรื่องนี้ดูจะมีภาคต่อที่ทำท่าว่าจะไม่จบลงง่ายๆหลังจากเกิดเหตุจลาจลกลางเมืองมาปูโต้
เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิก
หลังจากรัฐบาลขึ้นราคาขนมปังซึ่งเป็นอาหารหลักของประชาชนไปถึง30%อันเป็นผลมาจากราคาข้าวสาลีที่พุ่งขึ้นตามหลังวิกฤตในรัสเซีย
ส่งผลให้เมืองนี้กลายเป็นแดนมิคสัญญีไปในบัดดล
โดยการปะทะกันระหว่างประชาชนหลายพันคนกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า10ราย
และบาดเจ็บไปกว่า 443ราย
ตลอดช่วงการปะทะระหว่างวันที่1-3กันยายน2010ขณะเดียวกันหลายฝ่ายเริ่มแสดงความวิตกถึงเหตุการณ์ในลักษณะนี้ในพื้นที่อื่นๆด้วย
เหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของสหภาพแรงงานในประเทศแอฟริกาใต้นั้น
นักวิเคราะห์หลายรายต่างระบุว่า
สาเหตุหนึ่งมาจากเรื่องของราคาอาหารที่แพงขึ้น
ราคาสิ่งครองชีพทั้งอาหาร
เชื้อเพลิง
และสาธารณูปโภคที่แพงขึ้นทั่วแอฟริกากำลังกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อไปแล้ว
เรื่องที่เกิดขึ้นในโมซัมบิกนั้นถือเป็นสัญญาณเตือนภัยที่แรงที่สุดในปีนี้
ซึ่งบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลต่างๆเฝ้าจับตามองอยู่
ประเทศอิยิปต์ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ในแอฟริกาคงตระหนักและคิดหนักมากในเรื่องนี้
เช่นเดียวกับประเทศในตะวันออกกลาง
และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นลูกค้าผู้นำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียรายใหญ่ทั้งสิ้น
ซึ่งแม้ปากของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจะพร่ำบอกว่ามีสินค้าเกษตรสำคัญๆอยู่ในคลังอย่างเพียงพอ
แต่ในใจลึกๆย่อมวิตกต่อเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในบ้านตัวเองไม่น้อย
นั่นเพราะเรื่องเหล่านั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี2008หรือ2ปีที่ผ่านมานี้เอง
และกรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว
โดยหนักที่สุดก็คือ
การนำมาซึ่งเหตุผลในการก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลในประเทศมาดากัสการ์
หลังจากรัฐบาลก่อนหน้านั้นตกลงที่จะให้บริษัทแดวู
ลอจิสติกส์ กลุ่มทุนรายใหญ่ของเกาหลีใต้เช่าที่ทำนา
ส่งผลให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจรัฐบาลอย่างมากและเกิดความหวาดกลัวถึงความมั่นคงด้านอาหาร
แม้ว่าหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นFAOหรือบรรดานายทุนเกษตรครอบโลกจะออกมาปลอบใจหลายๆคนว่า
ปัจจุบันคลังเมล็ดพืชทั่วโลกจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงวิกฤตอาหารปี2007-2008มาก
และราคาก็ไม่ได้อยู่สูงขนาดนั้น
และผลผลิตจากสหรัฐฯสามารถทดแทนผลผลิตที่หายไปจากรัสเซียและประเทศแถบเอเชียกลางได้ก็ตาม
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าประเทศที่ประสบปัญหาล้วนเป็นประเทศยากจน
และไม่มีเงินมากพอจะไปซื้อผลผลิตแพงๆที่ควบคุมโดยบริษัทเกษตรใหญ่ๆแค่5-6บริษัทเท่านั้น
แม้แต่ประเทศอินโดนีเซียที่ได้ชื่อว่าเป็น
“ยักษ์เศรษฐกิจนอกกลุ่มBRIC”ยังถึงกับออกอาการบ่นกับเรื่องนี้เลยว่า
ผลผลิตจากสหรัฐฯนั้นแพงมากถ้าไม่จำเป็นคงไม่ซื้อ
เพราะปกติจะซื้อจากรัสเซียเพราะราคาถูกกว่าเยอะ
นอกจากนั้นแล้ว
ประเทศหลายๆประเทศในแอฟริกายังมีการปกครองแบบเผด็จการแถมยังถูกหมายหัวจากสหรัฐฯไว้เป็นเวลานานแล้ว
อีกทั้งประเทศเหล่านี้ก็ใช้นโยบายตอบโต้สหรัฐฯด้วยการคบจีน
ซึ่งนั่นย่อมสร้างช่องว่างด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่น้อย
ขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ยังติดบัญชีดำของพวกNGOตะวันตกในแง่สิทธิมนุษยชนด้วย
และสถานการณ์ดูจะแย่ไปอีกหากพิจารณาพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ที่มีสภาพของโครงสร้างพื้นฐานที่แย่มาก
และหลายๆประเทศก็มองมาที่จีนส่วนหนึ่งก็เพื่อประโยชน์ในการลงทุนด้านนี้จากประเทศจีน
นั่นย่อมทำให้เกิดอุปสรรคขนาดใหญ่เป็นสิ่งอุดตันการไหลเวียนของสินค้าเกษตรในระบบโซ่อุปทานของทวีปแอฟริกา
วิกฤตในโมซัมบิกนั้นส่งผลสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้นำในรัฐบาลต่างๆและแม้กระทั่งกลุ่มทุนด้วย
วิกฤตครั้งนี้ย่อมนำมาสู่การกักตุนสินค้าเกษตรซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในบรรดาประเทศผู้นำเข้าทั้งหลาย
การออกไปลงทุนในภาคเกษตรในต่างประเทศของประเทศผู้นำเข้าย่อมเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
และน่าจะทำในเชิงรุกมากขึ้น
แต่ขณะเดียวกันก็จะมีคำถามเกิดขึ้นถึงการลงทุนด้านนี้ในแอฟริกาซึ่งดูแล้วมีความเสี่ยงสูงมาก
แม้หลายฝ่ายจะพูดถึงโอกาสอันมหาศาลจากผืนดินที่มีศักยภาพในการพัฒนาการผลิตในอนาคต
แต่ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่แย่มากในปัจจุบันทำให้ต้นทุนการลงทุนในทางปฏิบัตินั้นสูงมาก
อีกทั้งวิกฤตอาหารรอบใหม่ที่อาจรุนแรงกว่าเดิมเริ่มชัดเจนมากขึ้น
แต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องระยะยาว
ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5ปีในการลงทุน
ซึ่งคงไม่ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างแน่นอน
ดังนั้นทางเลือกที่มีอยู่และพอจะเป็นไปได้ในอนาคตคงเหลือเพียงพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์
มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีกว่า
และมีการเมืองที่ดูจะนิ่งกว่าและระบบกฎหมายเป็นที่ยอมรับของสากลอย่างทวีปอเมริกา
และรองลงมาก็คือ เอเชียอาคเนย์
และประเทศในยุโรปตะวันออก
ทวีปแอฟริกาถือเป็นทวีปที่อัตราการเติบโตของประชากรสูงที่สุดในโลก
ขณะเดียวกันประชากรที่มีกว่า1,000ล้านคน
และทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลทั้งน้ำมัน
แร่ธาตุ ทองคำ
ทำให้ทวีปนี้น่าสนใจและมีการกล่าวถึงกันมากขึ้นในหมู่นายทุนในWall
Street แม้ว่าจะมีวิกฤตต่างๆถาโถมเข้ามาจากทั้งภายในและภายนอก
แต่เศรษฐกิจในภูมิภาคก็มีการเติบโตที่สูง
เศรษฐกิจโมซัมบิกเองก็มีการเติบโตสูงถึง7%แต่ปัญหาด้านการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึงส่งผลให้การจลาจลพร้อมจะปะทุได้ตลอดเวลา
ดังนั้นท่ามกลางวิกฤตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ประเทศไทยสมควรที่จะฉกฉวยโอกาสนี้บุกเข้าสู่ทวีปแอฟริกานี้ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการทูต
โดยปัญหาในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้คนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความน่าเชื่อถือของประเทศรัสเซียในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก
ประเทศควรวางจุดยืนด้านนี้ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตที่สามารถ
“ไว้วางใจได้”
โดยสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยควรตระหนักก็คือ
การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้สามารถเปิดทางไปสู่ตลาดผู้บริโภคระดับล่างขนาดใหญ่ในแอฟริกา
โดยสิ่งที่ควรทำนอกจากการขนส่งระบบรางเพื่อเชื่อมโยงทั้งประเทศภายใต้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นแล้ว
ควรส่งเสริมการปรับปรุงการขนส่งทางคลองและแม่น้ำให้ดีขึ้น
ท่าเรือขนาดเล็กในจังหวัดควรมีการพัฒนาควบคู่ไปกับท่าเรือน้ำลึกในแถบอันดามัน
ขณะเดียวกันรัฐบาลน่าจะลองใช้การทูตอาหารให้เป็นประโยชน์โดยการยื่นไมตรีจิต
ทำสัญญาค้าอาหารระหว่างรัฐในราคาที่เป็นธรรมกับทั้ง2ฝ่าย
ซึ่งนั่นย่อมเหนือชั้นกว่าการทูตการค้าของจีนซึ่งในปัจจุบันแม้ว่าจีนจะโปรยเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ลงไปในทวีปนี้
แต่ก็ยังไม่ถึงกับสามารถซื้อใจประชาชนระดับล่างๆในทวีปนี้ได้
ซึ่งต่างกับมิตรภาพกับผู้นำรัฐบาลและกลุ่มทุนในทวีปนี้ซึ่งดีมากๆ
แต่ในหลายๆกรณีซึ่งไม่เคยมีข่าวออกมาทางสื่อจีนยังคงแสดงถึงการต่อต้านจากประชาชนอยู่พอสมควร
และจีนยังคงไม่สามารถสลัดภาพผู้สูบทรัพยากรในสายตาประชาชนได้
แต่การทูตอาหารนี้จะทำให้ประชาชนและรัฐบาลซาบซึ้งประเทศไทย
เพราะประเทศเหล่านี้ยังยากจนมาก
และคงไม่มีปัญญาไปซื้ออาหารแพงๆที่โขกราคาโดยกลุ่มทุนในสหรัฐฯ
การช่วยเหลือของไทยถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนและความอยู่รอดของรัฐบาลด้วย
และนั่นย่อมจะเป็นการเปิดโอกาสไปสู่การเข้าถึงทรัพยากรที่ประเทศไทยขาดแคลนรวมถึงการบุกเบิกตลาดในด้านอื่นๆในอนาคตด้วย