การออกมาเปิดเผยถึงปฏิบัติการกระชากสหรัฐฯลงจากบัลลังก์อภิมหาอำนาจโลกของรัสเซียโดยอดีตรมว.คลังสหรัฐฯ นาย Henry Paulson ด้วยการใช้สิ่งที่เรียกว่า “อาวุธทางการเงิน” เป็นการตอกย้ำถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไปถึงระดับโครงสร้างอำนาจที่ทุกวันนี้โครงสร้างอำนาจถูกปรับเปลี่ยนโดยการเคลื่อนตัวของศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกสู่ทิศตะวันออกและทิศใต้มากขึ้น สิ่งที่ Paulson ออกมาเปิดเผยนั้นเป็นการย้ำเตือนถึงความซับซ้อนของการวางยุทธศาสตร์และดำเนินนโยบายในปัจจุบันที่มีการใช้เครื่องใหม่ๆอย่างเช่น อำนาจทางการเงิน อำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อหวังผลนอกเหนือจากเป้าหมายทางเศรษฐกิจล้วนๆด้วยภายใต้สภาพแวดล้อมที่ทุกประเทศมีเศรษฐกิจร้อยโยงกันและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจถูกกำหนดด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ หากพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว กรณีนี้เป็นการตอกย้ำถึงกรอบคิดว่าด้วย ความมั่งคั่งและอำนาจ (Wealth and Power) ซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้านเสมอ หากมีอำนาจก็สามารถใช้อำนาจไปแสวงหาและรักษาความมั่งคั่งได้ และในทางกลับกันหากบุคคลใด กลุ่มบุคคล องค์กร หรือแม้แต่ประเทศมีความมั่งคั่ง มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่สูงแล้ว ย่อมสามารถแปรเปลี่ยนความมั่งคั่งไปเป็นอำนาจในการต่อรองและในทางการเมืองได้ไม่ยากเลย
Paulson ออกมาเปิดเผยถึงแผนการของรัสเซียในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่ชื่อ On the Brink ว่า เขาได้รับทราบเรื่องนี้ในวันที่ 8 สิงหาคม 2008 ซึ่งตรงกับการจัดพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนพอดี และในขณะนั้นเขาได้ติดตามประธานาธีบดี Bush ไปร่วมงานนั้นด้วย และในวันเดียวกันนั้นเองขณะที่ Bush นั่งชมพิธีเปิดอันตระการตาข้างนายกรัฐมนตรีรัสเซีย Vladimir Putin นั้นก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่ Putin สั่งให้กองทัพเข้าถล่ม South Ossetia ทางตอนเหนือของจอร์เจียเช่นกันและตอนนั้นที่เมืองหลวงของจอร์เจีย รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯในขณะนั้นคือ นาง Condoleeza Rice ก็อยู่ในระหว่างการเยือนจอร์เจียอย่างเป็นทางการกับผู้นำจอร์เจียพอดี Paulson เล่าต่อว่าในขณะที่เหตุการณ์กำลังปั่นป่วนอยู่นั้นเขาก็รับทราบมาเพิ่มเติมว่ารัสเซียวางแผนทำลายความเชื่อมั่นและหวังถล่มระบบตลาดทุนสหรัฐฯโดยการแอบเจรจากับจีนเพื่อนัดแนะกันให้ช่วยกันเทขายพันธบัตรที่ออกโดย GSE (Government-Sponsored Enterprise) หรือในภาษาทางการเงินที่เรียกว่า Agency Bond นั่นเอง ซึ่งผู้ออกหลักๆก็คือ Freddie Mac และ Fannie Mae ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่สนับสนุนการปล่อยกู้ในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯผ่านการซื้อตราสารการเงินที่เรียกว่า MBS (Mortgage-Backed Securities) ที่ออกโดยธนาคารต่างๆและผ่านการค้ำประกันสินเชื่อทั้งระบบ ซึ่งเฉพาะ 2 แห่งนี้ก็มีภาระการค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ จากมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯก่อนวิกฤตที่มีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์
โดยงานนี้ Paulson อ้างว่าทางการรัสเซียได้ทำการติดต่อเจรจากับผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของจีน (ในหนังสือใช้คำว่า Top-level approach) เพื่อให้ร่วมมือกับรัสเซียในการเทขายตราสารหนี้ที่ออกโดย 2 บริษัท เพื่อบังคับให้สหรัฐฯต้องใช้มาตรการฉุกเฉินในการรีบเข้ามาอุ้มทั้ง 2 บริษัท ซึ่งแน่นอนว่าหากทั้ง 2 แห่งล้มย่อมสะเทือนระบบเศรษฐกิจสหรัฐมหาศาล และนั่นย่อมเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินของรัฐบาลด้วย แต่ล่าสุดทางการรัสเซียก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของนาย Paulson
ประเด็นของการหวั่นถึงอำนาจคุกคามของรัฐบาลต่างชาติโดยการใช้อาวุธทางการเงินนั้นจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่และตอนนี้ถือได้ว่าเป็นประเด็นร้อนทั้งในแวดวงวิชาการและผู้ดำเนินนโยบายในตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ กระแสนี้มีการจับตามมาอย่างต่อเนื่องโดยนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวกันมาก ทั้งนี้เนื่องจากว่าในทางการเมืองระหว่างประเทศนั้นพลังทางเศรษฐกิจถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายในลักษณะของการใช้ Soft Power ขณะเดียวกันในปัจจุบันประเด็นทางเศรษฐกิจกำลังถูกขยายความไปสู่มิติใหม่ของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติแล้ว โดยหากจะยกตัวอย่างงานวิเคราะห์วิจัยกันนั้นที่น่าสนใจเห็นจะไม่พ้นงานของ Dr.Brad Setser แห่ง CFR และ Peterson โดยก่อนเกิดเหตุการณ์เขย่าขวัญในเดือนสิงหาคมนั้น Setser ได้นำเสนอทัศนะและการวิเคราะห์ของเขาในรายงานพิเศษที่มีชื่อว่า Sovereign Wealth and Sovereign Power : The Strategic Consequences of American Indebtedness ในรายงานนี้ Setser ได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สหรัฐฯต้องเผชิญจากกการพึ่งพาทางการเงินจากต่างชาติซึ่งเกิดจากการขาดดุลแฝดมหาศาลในแต่ละปีทั้งขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณ
ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ การเป็นหนี้สินอย่างล้นพ้นตัวของครัวเรือน ธุรกิจ และรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งหนี้สินเหล่านั้นล้วนกู้มาจากต่างประเทศ และคนที่เข้ามาปล่อยกู้ก็ล้วนเป็นรัฐบาลต่างชาติซึ่งอยู่ในฐานะคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ และมีปัญหาความไม่ลงรอยทางการเมืองกับสหรัฐฯทั้งสิ้น และไม่มีเจ้หานี้คนไหนที่เป็นประเทศประชาธิปไตยเลย โดย Setser ระบุไปเป็นพิเศษโดยเน้นไปที่จีน รัสเซีย และตะวันออกกลาง
Setser กล่าวว่าการตกอยู่ในสภาพการเป็นลูกหนี้รัฐบาลต่างชาติจะทำให้สหรัฐฯขาดอิสระในการดำเนินนโยบายทั้งทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศ นอกจากนั้นเขายังเตือนให้สหรัฐฯระวัง “Nuclear Option” ทางการเงินซึ่งประเทศเจ้าหนี้ใหญ่ๆทั้งจีน รัสเซีย และตะวันออกกลางอาจตัดสินใจตอบโต้สหรัฐฯด้วยการเทขายเงินดอลลาร์ในทุนสำรองทิ้งหมดหากเกิดปัญหาความไม่ลงรอยหรือความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงกับสหรัฐฯ ซึ่งรายงานฉบับนี้ออกในเดือนมิถุนายน 2008 หรือ 2 เดือนก่อนที่สหรัฐฯจะรอดพ้นจาก Nuclear Option ที่เกือบจะเกิดขึ้นจริงๆ
อีกตัวอย่างของทัศนะที่น่าสนใจก็คือ ทัศนะของ Daniel W. Drezner ในบทความที่ชื่อว่า Sovereign Wealth Funds and The Insecurity of Global Finance ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารด้านนโยบายกาต่างประเทศที่ทรงอิทธิพลอย่าง International Affairs ฉบับฤดูใบไม้ร่วงปี 2008 ความเห็นของ Drezner ในเรื่องข้อจำกัดด้านนโยบายของสหรัฐฯที่เกิดจากการเป็นลูกหนี้รัฐบาลต่างประเทศนั้นสอดคล้องกับ Setser นอกจากนั้น Drezner ยังให้ทัศนะที่น่าสนใจในการวางกรอบการถกเถียงประเด็นเศรษฐกิจและการเงินโลกในปัจจุบันว่าเกมการต่อรองทางการเงินไม่ต่างจากเกมการต่อรองในทางความมั่นคงอีกต่อไปแล้ว (ในท้ายบทความ Drezner กล่าวเต็มๆว่า “ Changes in policy, technology and the distribution of power are shifting the cooperation game in finance to more closely resemble the cooperation game in security studies.”)
การที่สหรัฐฯตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากพลวัตภายในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สัมพันธ์กับโลกันั่นเอง ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นก่อนวิกฤตขับเคลื่อนด้วย 2 ปัจจัยหลักนั่นคือ การบริโภคซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 65-70% ของ GDP และฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยมีการวิเคราะห์กันว่าการเพิ่มขึ้นของราคาบ้านในแต่ละปีคือองค์ประกอบสำคัญ GDP Growth ในแต่ละปี โดยตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวนั้นเป็นแหล่งของ GDP Growth สหรัฐฯถึง 1% ในแต่ละปีจากที่สหรัฐฯในช่วงก่อนวิกฤตการเงินนั้นมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4% ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯขนาดไหน
ฟองสบู่ในตลาดบ้านยังมีบทบาททางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯผ่านทางการบริโภคด้วย โดยกลไกนั้นทำผ่านการแปลงเอาความั่งคั่งที่ได้จากมูลค่าบ้านหรือ Home Equity มาแปลงเป็นกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มอีกทางหนึ่ง และตราบใดที่ราคาบ้านสูงขึ้น ประชาชนสหรัฐฯจะมี Home Equity เป็นบวกเสมอและมีแต่จเพิ่มขึ้นด้วย เพราะในงบดุลนั้นทรัพย์สินคือ บ้าน ขณะที่หนี้สินคือ เงินกู้ซื้อบ้านนั้นคงที่ แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นทำให้ความมั่งคั่งสุทธิเพิ่มขึ้นด้วย
และที่ผ่านมาการขาดดุลแฝดของสหรัฐฯได้ไผล่ในรูปของสภาพคล่องทางการเงินในรูปของทุนสำรองระหว่างประเทสของผู้ส่งออกรายใหญ่จากเอเชียและกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน แต่การที่ต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันโดยการยันไม่ให้เงินดอลลาร์อ่อนลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความต้องการในการใช้เงินในประเทศมีไม่มาก ทำให้ต้องมีการนำเงินส่วนเกินนี้หมุนกลับไปยังสหรัฐฯและตราสารที่เป็นที่พักเงินยอดนิยมของบรรดาธนาคารกลางใหญ่ๆก็ไม่พ้นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯและ Agency Bond ที่ออกโดย Freddie Mac และ Fannie Mae ซึ่งแม้จะเป็นบริษัทมหาชนแต่ก็มีรัฐบาลคอยมห้การสนับสนุนข้างหลัง ทำให้อันดับความน่าเชื่อถืออยุ่ในระดับเดียวกับรัฐบาลสหรัฐฯไปด้วย ทำให้การถือ Agency Bond ไม่ต่างจากการถือพันธบัตรรัฐบาลแถมผลตอบแทนที่ได้นั้นก็สูงมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลด้วย
หากมาดูข้อมูลรายประเทศจะเห็นว่าในช่วงกลางปี 2008 นั้นสถานะของการลงทุนของแต่ละประเทศในสหรัฐฯนั้นมีโครงสร้างการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยทั่วโลกนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในระบบการเงินสหรัฐฯมากกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ และในจำนวนนั้นกว่า 1 ใน 8 อยู่ในมือของ 2 มหาอำนาจจากเอเชียคือ จีน และ ญี่ปุ่น โดยที่การกระจุกตัวของการลงทุนนั้นแตกต่างกัน โดยหากมาดูที่ Agency Bond อย่างเดียวจะพบว่าทั่วโลกมีการลงทุนใน Agency Bond ระยะยาวสูงถึง 1.46 ล้านล้านดอลลาร์ และจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดคนเดียวมากกว่า 520,000 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าที่นักลงทุนต่างประเทศทั้งหมดถืออยู่ ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างญี่ปุ่นถึงกว่าเท่าตัว ขณะที่รัสเซียเองลงทุนไปประมาณ 62,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพียงแค่ 4% เศษๆเท่านั้น
แต่หากมาดูที่ตราสารระยะสั้นที่ออกโดย GSE จะพบความจริงอีกด้านที่น่าสนใจเพราะรัสเซียเพียงประเทศเดียวเป็นผู้ถือพันัธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปีที่ออกโดย Freddie และ Fannie ถึง 65,000 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 173,000 ล้านดอลลาร์ คือมากกว่า 1 ใน 3 ที่ทั้งโลกถือรวมกัน ขณะที่จีนมีสัดส่วนแค่ 9% เศษๆเท่านั้น
ดังนั้นหากสิ่งที่เรียกว่า Nuclear Option ถูกงัดขึ้นมาใช้จริงๆตามที่ Paulson อ้างก็นับว่าน่ากลัวมากๆเพราะทั้งจีนและรัสเซียต่างมีไพ่ตายที่แต่ละคนไม่มีและหากรวมพลังเข้าด้วยกันแล้วย่อมสร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ เนื่องจากจีนกุมชะตากรรมในระยะยาวของ Freddie และ Fannie ในขณะที่การหมุนเวียนเงินในระยะสั้นอยู่ในมือของรัสเซีย และการที่ Putin คิดเช่นนั้นเหตุก็เนื่องมาจากว่าในตอนนั้นรัสเซียมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก รัสเซียเป็นประเทศที่มีทุนสำรองมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยรัสเซียมีทุนสำรองกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์ ประเทศรัสเซียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า 8% ขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าของและผู้ส่งออกปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดของโลก รัสเซียอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
รัสเซียนั้นมีความต้องการที่จะกลับสู่เขตอิทธิพลเดิมเช่นเดียวกับสมัยโซเวียตอยู่แล้ว และหากเรามาพิจาณากาละและเทศะของเหตุการณ์ต่างๆแล้วจะพบว่า Putin นั้นคงคิดอยู่หลายชั้นและคงไม่ได้หวังผลแค่การกลับมาเป็นมหาอำนาจสำคัญของภูมิภาคเท่านั้นแน่ๆ นอกจากสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้น ต้องไม่ลืมว่ารัสเซียกุมชะตากรรมของประเทศยุโรปไว้ในกำมือผ่านการควบคุมปริมาณก๊าซธรรมชาติจำนวนกว่า 25% ของการใช้งานในแต่ละวันของยุโรป ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงระบบเศรษฐกิจยุโรปนั้นมีความอ่อนไหวต่อความสัมพันธ์ของรัสเซียเป็นอย่างมาก และรัสเซียก็เคยแสดงพลานุภาพแห่งอาวุธทางพลังงานมาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกนับแต่กลุ่มโอเปกผนึกกำลังกันในปี 1973 และใช้น้ำมันเป็นอาวุธตอบโต้ทางการเมืองมาแล้ว และยุโรปคงไม่อยากเผชิญภาวะเสี่ยงแบบเดิมอีกแน่นอน
ต้องยอมรับว่า Putin นั้นฉลาดที่เข้าใจเลือกจังหวะในวันที่ 8 สิงหาคม 2008 ซึ่งตรงกับพิธีเปิดโอลิมปิกพอดี ซึ่งในตอนนั้นสหรัฐฯจำเป็นต้องพุ่งความสนใจไปยังพิธีเปิดที่จีนจัดอย่างยิ่งใหญ่และเป็นหน้าตาของประเทศ ขณะเดียวกันที่สหรัฐฯเองก็กำลังยุ่งเหยิงอยู่กับการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินซึ่งกำลังร้อนระอุในบ้านตัวเอง ในตอนนั้นทั้ง Freddie Mac และ Fannie Mae ต่างอยู่ในภาวะโคม่าด้วยกันทั้งคู่และเสี่ยงที่จะล้มละลายได้ เนื่องมาจากฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทนั้นจะรอดจากการถูกตัด AAA rating ได้หากเพิ่มทุนทันเวลา ซึ่งหากไม่มีการเพิ่มทุนที่ทันท่วงทีแล้วจะทำให้สถานะทุนที่บริษัทใช้เป็นปราการในการรับผลขาดทุนนั้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลตั้งไว้ และนั่นย่อมหมายถึงความเชื่อมั่นที่จะดำดิ่งอย่างรวดเร็วของนักลงทุนต่อระบบการเงินสหรัฐฯในบัดดล
การที่ Putin เลือกที่จะร่วมมือกับจีนนั้นคงพินิจพิเคราะห์แล้วว่าในขณะนั้นทั้งจีนและรัสเซียต่างก็เป็นคู่ปรับทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ และจีนกับรัสเซียก็มีการยกนะดับความร่วมมือในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีความร่วมมือกันผ่าน Shanghai Cooperation Organization (SCO) ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับนาโต้ที่นำโดยสหรัฐฯหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ทั้ง 2 ประเทศยังมีการร่วมมือในระดับของกองทัพอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นเศรษฐกิจจีนเองก็ต้องพึ่งพาทรัพยากรทางพลังงานจำนวนมหาศาลและรัสเซียก็เป็นประเทศทีมีสำรองพลังงานในอันดับต้นๆของโลกด้วย ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศจึงอยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพิงกันและเป็นไปในลักษณะที่ Win-Win ด้วย รัสเซียเองต้องการที่จะเรียกคืนอิทธิพลตัวเองในสมัยโซเวียตและต้องการขยายแนวป้องกันออกไป ขณะที่จีนเองก็มีความต้องการที่จะมีอิทธิพลในเอเชียแปซิฟิกเหนือสหรัฐฯและญี่ปุ่น การที่จะเขี่ยสหรัฐฯให้พ้นพื้นที่รอบๆบ้านตัวเองจึงเป็นความจ้องการในพื้นฐานทางนโยบายของทั้ง 2 ประเทศอยู่แล้ว
เมื่อความต้องการตรงกันและทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีศักยภาพทางเศรษฐกิจทั้งในทางการค้า การลงทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเงิน Putin คงจะเรียนรู้ผ่านการผงาดขึ้นมาองบรรดา Oligarch ในประเทศตัวเองที่ผันตัวเองมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองผ่านการสร้างความมั่งคั่งอย่างรวดเร็วในตลาดหุ้นทั้งจากการใช้ฐานตลาดหุ้นในประเทศรัสเซียเอง รวมถึงการเข้าสู่แหล่งทุนระหว่างประเทศ ซึ่งบริษัทและเศรษฐีรัสเซียถือเป็นลูกค้าสำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งนอกเหนือจากตะวันออกกลางที่มีต่อธนาคารและตลาดทุนอังกฤษ Putin คงเรียนรู้บทเรียนจากการสังเกตการณ์ในบ้านตัวเองและเพื่อนบ้านในยุโรป และในฐานะที่ Putin เป็นนักคิด นักวางแผนทางความมั่นคงคงมองเห็นจุดเปราะบางทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่สังเกตได้จากปริมาณดอลลาร์ที่มีในทุนสำรองของประเทศรัสเซีย รวมถึงพันธมิตรอย่างจีน นอกจากนั้น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2079 ครั้ง