บริษัท โนมูระ โฮลดิ้งก์ส อิ๊งค์ บริษัทโบรกเกอร์ที่ใหญ่ีที่สุดของญี่ปุ่นเตรียมออกขายพันธบัตรอิสลามในรูปของเงินดอลลาร์ในมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสำหรับบริษัทจากญี่ปุ่น ถือเป็นการสนบัสนุนการเติบโตขึ้นของสินทรัพย์ในอุตสาหกรรมการเงินอิสลามไปสู่ระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์
โนมูระเตรียมออก พันธบัตรอิสลามในรูปของอิจาเราะห์ (Ijarah Sukuk) ซึ่งจะครบกำหนดชำระเงินต้นในปี 2012 โนมูระกล่าวในแถลงการณ์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์วานนี้ (6 กรกฎาคม) พันธบัตรตัวนี้จะตั้งราคาในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า LIBOR อยู่ 1.6% นายจาเมเลาะห์ จามาลุดดิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ คูเวต ไฟแนนซ์ เฮาส์ (มาเลเซีย) บีเฮชดี ในฐานะบริษัทผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรเปิดเผย
พันธบัตรที่ออกโดยโนมูระถือว่าถูกหลักชารีอะห์ที่มีการห้ามเรื่องดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนชาวมุวลิมสามารถลงทุนในพันธบัตรนี้ได้ จากการยืนยันของ CIMB-Principal Islamic Asset Management Bhd. และ Amundi Islamic Malaysia Sdn. โนมูระได้ตั้งธุรกิจกองทุนในมาเลเซียปีที่แล้วเพื่อนำเสนอบริการให้กับนักลงทุนชาวมุสลิมทั่วโลก
โนมูระ “ต้องการมีส่วนร่วมโดยตรงโดยการเข้ามาในตลาดด้วยตัวเองแทนที่จะเฝ้าจับตามองจากภายนอก” นายโนริเปาะห์ กัมโซ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CIMB-Principal Islamic ซึ่งบริหารสินทรัพย์ตามหลักการเงินอิสลามหรือ Shariah Assets มูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม
พันธบัตรอิสลามที่ออกโดยบริษัทข้ามชาติถือว่ามีความต้องการที่สูงเนื่องจากกองทุนต่างๆต้องการลงทุนในลักษณะที่ต้องการกระจายสินทรัพย์ไปตามอุตสาหกรรมและภูมิภาคต่างๆ บทวิเคราะห์จาก เคเอฟเอช รีเสิร์ช จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของคูเวต ไฟแนนซ์ เฮาส์ ธนาคารอิสลามที่ใหญ่ที่สุดของคูเวตระบุ สินทรัพย์ในระบบการเงินอิสลามจะโตขึ้น 4 เท่าจาก 700,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2005 มาเป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2015 จากการคาดการณ์ของคณะกรรมการบริการการเงินอิสลามของมาเลเซีย
กระจายแหล่งเงินทุน
พันธบัตรอิจาเราะห์จะช่วยให้โนมูระสามารถ “กระจายแหล่งเงินทุนและเข้าถึงตลาดการเงินอิสลามที่มีขนาดใหญ่และกำลังเติบโตได้เป็นครั้งแรก” นายทาคูมิ ชิตาบะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของโนมูระกล่าวในแถลงการณ์
พันธบัตรอิจาเราะห์คือ ข้อตกลงซึ่งเจ้าของสินทรัพย์สัญญาที่จะให้ลูกค้าเช่าสินทรัพย์หรืออุปกรณ์ในอัตราค่าธรรมเนียมและระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ ความเป็นเจ้าของในอุปกรณ์ที่ให้เช่านั้นยังคงอยู่ในมือของผู้ให้กู้
บริษัทเจนเนอรัล อิเล็กตริค (จีอี) แคปิตอล คอร์ป ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารหรือ non-bank ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ออกพันธบัตรอิสลามมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ ในมาเลเซียเมื่อวันที่ 19 พฤจิกายนปีที่แล้ว ในอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่มีอายุเท่ากันอยู่ 1.75% ขณะที่พันธบัตรธรรมดามูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ที่จีอีแคปิตอลออกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนซึ่งมีอายุเท่ากับพันธบัตรอิสลามที่ขายในวันที่ 19 ขายในส่วนต่า่งที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอยู่ 1.55%
“เรามองว่าผลิตภัณฑ์ sukuk นั้นเหมือนกับสินค้าการเงินปกติทั่วๆไป ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนทางเลือกที่มีศักยภาพ” นายอาริส เคเคดเจียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจีอีแคปิตอลประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกากล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมล์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม
sukuk จากมาเลเซีย
อัตราผลตอบแทนบนตราสารหนี้ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 3.875% ของจีอีที่มีกำหนดไถ่ถอนเดือนพฤศจิกายน 2014 ลดลง 0.09% ในปีนี้มาอยู่ที่ 4.1% ข้อมูลราคาจากธนาคารรอยัลแบงก์ออฟสก็อตแลนด์ระบุ ขณะที่ส่วนต่า่งอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรจีอีเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่มีอายุเท่ากันเพิ่มขึ้น 0.9% มาอยู่ที่ 2.52% สะท้อนถึงการวิ่งขึ้นของราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
อัตราดอกเบี้ยบนพันธบัตรอิสลามของมาเลเซียดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 3.928% กำหนดไถ่ถอนในเดือนมิถุนายน 2015 ลดลง 0.11% มาอยู่ที่ 3.44% วานนี้ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนับแต่พันธบัตรฉบับนี้ออกขาย ข้อมูลราคาจากธนาคารเอชเอสบีซีระบุ
พันธบัตรอิสลามให้ผลตอบแทน 6.1% ในปีนี้เมื่้อคำนวณจากดัชนีพันธบัตรอิสลาม HSBC/NASDAQ Dubai US Dollar Sukuk Index ขณะที่ตราสารหนี้ในประเทศกำลังพัฒนาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 5.5% ในปีนี้เมื่อคำนวณจากดัชนีพันธบัตร EMBI Global Diversified Index ที่จัดทำโดยธนาคาร เจ.พี.มอร์แกน เชส
ส่วนต่า่งอัตราดอกเบี้ยระหว่างอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรอิสลามที่ออกในตลาดเกิดใหม่และ LIBOR ลดลง 0.02% เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม มาอยู่ที่ 4.31% จากข้อมูลของดัชนีพันธบัตรอิสลาม HSBC/NASDAQ ซึ่งถือว่าส่วนต่างดอกเบี้ยลดลงจาก 4.67% ณ สิ้นปี 2009
พันธบัตรอิสลามที่ออกดดยมาเลเซียคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของพันธบัตรอิสลามมูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์ที่ซื้อขายทั่วโลกในขณะนี้ ตลาดพันธบัตรในมาเลเซียได้ดึงดูดผู้ออกพันธบัตรจำนวนมากจากประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียรวมถึง ธนาคารเนชั่นแนลแบงก์ ออฟ อาบูดาบี พีเจเอสซี ธนาคารที่มีสินทรัพย์มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของ UAE โดยทางธนาคารได้ออกขายพันธบัตรอิสลามมูลค่า 500 ล้านริงกิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการขายพันธบัตรอิสลามครั้งแรกในมาเลเซียของทางธนาคาร
ยอดการออกพันธบัตรอิสลามทั่วโลกลดลง 24% มาอยู่ที่ 6,500 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้ เนื่องจากวิกฤตการเงินทำให้บริษัทต่างๆชะลอการออกขาย นั่นกลับทำให้นักลงทุนเกิดความสนใจในพันธบัตรที่ออกใหม่ นายอามีรูดิน อับดุล ฮามิด ผู้ช่วยผู้จัดการการลงทุนของบริษัทอามุนดี อิสลามิก มาเลเซีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์กล่าวกับบลูมเบิร์ก
“ถ้าคุณมีโครงสร้างการเงินแบบดั้งเดิมและแบบอิสลาม อัตราผลตอบแทนมักจะเท่ากันในมาเลเซีย แต่พันธบัตรอิสลามดีกว่าเพราะตอนนี้มีพันธบัตรแบบทั่วไปในตลาดมากแล้วขณะที่พันธบัตรอิสลามมีมไ่มาก” เขากล่าว
ที่มา Bloomberg