“ซีอีโอเบตเตอร์” งัดคำสั่งศาล – ผลสอบของหน่วยงานรัฐ ยืนยันบ่อกำจัดขยะ สระบุรี ยัน ไม่ก่อมลพิษให้ชาวบ้าน ระบุที่ผ่านมาเปิดศูนย์ให้ภาครัฐและสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เชื่อบริษัทตกเป็นแพะ ใช้อ้างในการเรียกรับผลประโยชน์จากภาครัฐ ขณะเดียวกันชาวบ้านแฉ มีการจัดตั้งม็อบเรียกรับค่าตรวจสุขภาพให้ห้องแล็ปเอกชนกว่า 5 พันล้านบาท จาก สธ. แต่ถูกเจ้ากระทรวงปฏิเสธ
ภายหลังชาวบ้าน ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นจากการฝังกลบกากขยะอุตสาหกรรมของบริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่หลายด้านนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีนฯ ออกมายืนยันถึงการดำเนินการของบริษัทว่า ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านตามที่มีการเรียกร้อง เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐกว่า 20 หน่วยงาน ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามมีกลุ่มบุคคลเข้าร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง จนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสากรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งผลสรุปของทั้ง 3 กระทรวง ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ และไม่พบกลิ่นกระจายออกนอกบริเวณพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยด้วย
“ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ปัจจุบันบ่อกำจัดขยะในจังหวัดสระบุรีไม่ได้ก่อผลกระทบต่อสุขภาพของราษฎรตามที่มีการร้องเรียน และไม่ได้รับคำสั่งให้ปรับปรุงหรือแก้ไขแต่อย่างใด ตลอดระยะเวลาบริษัทปฏิบัติตามมาตรการการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามที่ระบุไว้ใน EIA อย่างต่อเนื่อง” นายสุวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ นายสุวัฒน์ ยังนำคำพิพากษาของศาลปกครองกลางมายืนยันด้วยว่า ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันฟ้องขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานรับฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่อันตรายและที่เป็นอันตราย และให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้กับราษฎรที่เดือดร้อน นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังมีคำสั่ง ยกคำขอกําหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี ที่ขอให้ยุติการดำเนินการบ่อฝังกลบไว้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แน่ชัดว่าผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการระบุถึงคำสั่งศาลจังหวัดสระบุรี ที่พิพากษายกฟ้องในคดีที่ผู้ฟ้องกล่าวหาบริษัทและกรรมการ ร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทประกอบกิจการ โดยได้ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด มีการรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นประจำและสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ นายสุวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ชาวบ้านเข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่พบว่าบริษัทดำเนินการขัดต่อกฎหมาย หรือสร้างผลกระทบเป็นเพราะมีเรื่องของการขอสนับสนุนงบประมาณและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปดูแลสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่การเรียกร้องเงินคืนจากภาครัฐจากที่ได้ใช้เงินของราษฎรในพื้นที่ เข้าตรวจสอบสุขภาพ จากห้องปฎิบัติการของภาคเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งแม้บางเรื่องจะถือว่าไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทฯ แต่ทุกครั้ง ก็มักจะอ้างสาเหตุว่ามาจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ ทั้งที่ยังไม่เคยพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลกระทบจากการ ประกอบกิจการของ BWG
“ที่ผ่านมา นอกจากบริษัทจะเปิดศูนย์ให้หน่วยงานภาครัฐ ได้เข้ามาตรวจสอบ และพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังได้เปิดศูนย์ฯ ให้กับทั้งสื่อมวลชน และผู้ถือหุ้นได้เข้าพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในลักษณะเดียวกันกันด้วย ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็เข้าใจ และเห็นถึงความโปร่งใส และความตั้งใจจริงในการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามเกณฑ์ของกรมโรงงานอย่างเคร่งครัด และพยายามปรับปรุงและพัฒนาการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
แหล่งข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ เปิดเผยถึงการเข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขชดใช้เงินกว่า 5 ล้านบาท ว่า มีสาเหตุมาจากปี 2552 ได้มีเรียกร้องขอให้กระทรวงสาธารณสุข สมัยนายวิทยา แก้วภราดัย เป็น รมว.สาธารณสุข จัดสรรงบประมาณไทยเข้มแข็งกว่า 250 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งสถานรักษาพยาบาลภายในบริเวณบ้านของกลุ่มบุคคลผู้ร้องเรียน แต่ได้รับการปฏิเสธ จนล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 มีการเข้าร้องเรียนต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รมว.สาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ชดเชยค่าใช้จ่ายจำนวนกว่า 5 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้สินต่างๆ ที่ทางกลุ่มได้ใช้จ่ายในระหว่างการเคลื่อนไหว รวมทั้งในส่วนของการชำระหนี้ก้อนใหญ่ให้แก่ห้องวิเคราะห์เอกชนที่ได้ดำเนินการไปตามคำสั่งของกลุ่ม โดยมิได้ขอรับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขก่อนการตรวจแต่อย่างใด ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าผิดเงื่อนไขและหลักการเบิกงบประมาณเพราะเป็นเรื่องส่วนตัว จึงต้องมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหาเงินจากภาษีของประชาชนมาชำระหนี้แทนกลุ่มคนดังกล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2071 ครั้ง