เวลา 10.00 น.วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม ได้มีการจัด”รายการพิเศษปราสาทพระวิหาร” ซึ่งถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 โดยมีตัวแทนฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่กลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ประกอบด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิไตย, นายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายผู้ประสานงานฝ่ายไทยปี 2503-2505, นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ และนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายฯ ซึ่งในเวลาเดียวกันกลุ่มเครือข่ายคนไทยฯ ก็ยังชุมนุมอยู่หน้ากองทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นการชุมนุมมาตั้งแต่เมื่อคืนวันเสาร์
โดยก่อนหน้านั้น ในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ช่วงที่ 2 นายอภิสิทธิ์ได้ใช้เวลาในการชี้แจงถึงปัญหาปราสาทพระวิหาร โดยเฉพาะข้อได้เปรียบของการมีเอ็มโอยูปี 2543 ที่ระบุว่าหัวใจหลักคือการให้พื้นที่ตรงนั้นอย่าให้ทั้งสองฝ่ายเข้าไปยุ่ง โดยต้องมาจัดทำหลักเขตแดนให้เรียบร้อยเสียก่อนจะได้ไม่มีปัญหาว่ามากระทบกระทั่งปะทะสู้รบกัน
“ตัวเอ็มโอยูไม่ได้ไปยอมรับแผนที่ ไปยอมรับเขตแดน ไปอะไร แล้วเป็นตัวยันเอาไว้ และเป็นฐานของการที่เราจะโต้แย้งได้ตลอดเวลา ทีนี้พอมีการละเมิด ก็ธรรมดาก็มีทั้งการทูต ทั้งการทหารในการตอบโต้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีประท้วง เจรจากัน แต่บางครั้งก็มีปัญหากัน ซึ่งความจริงเราก็ไม่อยากให้มี” นายอภิสิทธิ์ชี้แจง
นายอภิสิทธิ์ยังระบุถึงความพร้อมด้านการทหารว่า ไม่มีใครไม่พร้อมหรอก หน่วยงานต่างๆ เขาพร้อมหมด และเมื่อเอาเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงไป ทุกหน่วยงานก็พร้อม ทหารของประเทศพร้อม ซึ่งเราก็ให้กระทรวงการต่างประเทศ กลาโหมกับกองทัพเขาคุยกัน แล้วเรื่องแบบนี้ไม่มีใครเขาเอาออกมาพูดว่าจะทำตรงนั้นจะทำตรงนี้ เอาเป็นว่ารัฐบาลไม่เพิกเฉยแน่นอน ซึ่งเราเข้าใจความรู้สึก ความอึดอัด ความหงุดหงิดของประชาชนจำนวนมาก และรู้ว่ามีเจตนาที่ดี ซึ่งสบายใจได้ว่ารัฐบาลไม่มีผลประโยชน์อื่น ผลประโยชน์เราตรงกันคือประโยชน์ของชาติ แต่วิธีการ รายละเอียด ความเข้าใจ คงต้องมาช่วยกันคุย
“สิ่งที่จะช่วยประเทศไทยมากที่สุดคือความสามัคคี เอกภาพ ถ้าปรากฏว่า เราเถียงกันเองไม่จบไม่สิ้น ผมก็นึกภาพว่ากัมพูชาเขาคงดูเรา เราก็คงหัวเราะอยู่ว่าทำไมพวกคุณกันเองยังอะไรกันไม่ได้ ตกลงกันไม่ได้ จะมาแก้ปัญหาได้อย่างไร”
ในขณะที่นายวีระยืนยันก่อนดีเบตว่า ต้องการความชัดเจนในการแก้ปัญหา พร้อมปฏิเสธข่าวความขัดแย้งกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยระบุว่า นาทีนี้เราควรเอาปัญหาที่สำคัญก่อน คือเราจะช่วยกันอย่างไรในการทำให้ปัญหาเรื่องนี้เป็นความร่วมมือทุกภาคส่วน รัฐบาล กองทัพ และประชาชน ส่วนเรื่องที่เรามีความเห็นต่างหรือจะขัดแย้งอะไรกันมันก็อาจจะมีบ้างในรายละเอียด แต่ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ
และเมื่อเริ่มรายการเมื่อเวลา 10.20 น. นายอภิสิทธิ์ระบุว่า การพูดคุยครั้งนี้ไม่ใช่การดีเบต แต่เป็นการรับฟังเสียงประชาชนที่ห่วงใยว่า ประเทศไทยเสียดินแดน ซึ่งรัฐบาลมีเจตนาไม่ต่างจากภาคประชาชนที่ต้องการปกป้องอธิปไตย แต่กรณีนี้ซับซ้อนและมีที่มายาวนาน จึงได้พบผู้แทนเครือข่ายฯ เพื่อนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน เป็นจุดเริ่มของการทำงานร่วมกันของภาครัฐกับประชาชนต่อไป
จากนั้นก็ได้เริ่มต้นการดีเบต โดยไล่ตั้งแต่ที่มาของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งมีการนำเอาแผนที่ เอกสารอ้างอิงขึ้นมาผลัดเปลี่ยนกันอภิปราย และถกเกียงกัน รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งล่าสุด ณ กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันในหลักใหญ่
โดยช่วงหนึ่ง นายปานเทพได้ตั้งข้อสังเกตถึงแผนที่ แอล 7017 ซึ่งฝ่ายไทยยึดถือ แต่ในสมัยรัฐบาลที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ที่ประชุมในคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ที่ควิเบก แคนาดา ซึ่งขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้ไทยเสียพื้นที่โดยรอบปราสาทไปแล้วเบื้องต้น 50 ไร่ ในขณะที่นายเทพมนตรีได้นำเอกสารกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 มิ.ย. พ.ศ. 2551สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ลงนามโดยอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่ชี้แจงถึงราชเลขาธิการมาแสดง โดยระบุว่า ในเอกสารฉบับนี้มีแผนผัง และมีคำชี้แจงว่าไม่สามารถเอาพื้นที่รอบปราสาทดังกล่าวคืนมาได้แล้ว จุดนี้ทำกัมพูชาเข้าใจว่าไทยยอมรับแล้ว
นายสุวิทย์ชี้แจงว่า ตอนนั้นฝ่ายไทยทำเรื่องคัดค้านไว้ที่ควิเบกว่าการขึ้นทะเบียนไม่ชอบ เพราะการเสนอไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีขอบเขต ซึ่งในการประชุมที่ก็คัดค้าน เพราะความไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดน ซึ่งมรดกโลกก็ให้กัมพูชาเสนอรายละเอียดของขอบเขตแผนที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งแผนที่ยังไม่ชัด แต่ดันทุรังขึ้นทะเบียนไป ดังนั้น 50 ไร่รอบปราสาทนั้นฝ่ายไทยส่งหนังสือทักท้วงว่าไม่ได้ยอมรับ
“มติ 5 ข้อที่เซ็นที่บราซิล เป็นร่างข้อมติของประธานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งไม่มีข้อผูกพัน โดยทั้ง 5 ข้อนั้นมติเดิมที่เคยตกลงไว้ที่เมืองควิเบก ไม่ใช่มติใหม่ แต่มีข้อหนึ่งเป็นข้อมติที่ให้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นปีหน้า และดูแล้วว่าไม่ให้มีข้อผูกพันให้กัมพูชานำไปขึ้นศาลโลกวันข้างหน้า ดังนั้นถือว่าเป็นผลประโยชน์ของฝ่ายไทย ถ้าไปลงมติตามข้อเสนอ 7 ข้อของกัมพูชาต่างหากจะเป็นการยอมรับว่าที่ประชุมเห็นชอบตามกัมพูชา และทำให้การขึ้นทะเบียนสมบูรณ์” นายสุวิทย์ชี้แจงถึงข้อข้องใจเรื่องการลงนามในการประชุมที่บราซิล
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เครือข่ายฯ กับรัฐบาลเห็นตรงกันเกี่ยวกับแผนที่ และปัญหาหลังจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยรัฐบาลเห็นว่ามตินั้นไม่ถูกต้อง แต่ฝ่ายไทยไม่ควรยอมรับว่าเสียเขตแดนไปแล้ว เพราะยูเนสโกและกรรมการมรดกโลกมีจุดยืนอยู่ตลอดว่าจะไม่ขึ้นทะเบียนในสิ่งที่จะมีปัญหาเรื่องเขตแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ฝ่ายไทยก็ยื่นเรื่องคัดค้านเอาไว้เป็นหลักฐานไว้เสมอ เพราะกลัวว่าเหมือนปี พ.ศ.2505 ซึ่งปีต่อมากรรมการมรดกโลกก็ขอแผนบริหารจัดการพื้นที่จากกัมพูชา แต่กัมพูชาก็เสนอโดยส่งแผนที่ที่มีปัญหาพิพาทไปด้วย ซึ่งรัฐบาลก็ส่งเรื่องคัดค้าน เพราะใครเห็นแผนที่ก็ไม่สบายใจ แต่มันเป็นการกระทำของฝ่ายอื่น ฉะนั้นเห็นอะไรอย่าเพิ่งตื่นเต้น และต้องช่วยยืนยันว่า ฝ่ายไทยไม่ยอมรับอะไรที่มันผิด เพราะฝ่ายไทยจะเสียถ้าไม่คัดค้าน
“ตอนนี้กัมพูชา กรรมการมรดกโลก หรือยูเนสโก จะทำอะไรในพื้นที่ติดตัวปราสาทไม่ได้หากไม่ได้อนุญาตจากรัฐบาลไทย เพราะ 5 ข้อดังกล่าวเป็นร่าง และยังไม่พิจารณาจนกว่าจะถึงการประชุมครั้งหน้า” นายอภิสิทธิ์กล่าว
กล่อมเครือข่ายอยู่หมัด
สำหรับการประชุมดังกล่าวใช้เวลากว่า 3 ชม. ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างเข้มข้นและตึงเครียด โดยหลังรายการ นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า น่าจะมีความเข้าใจที่ดีต่อกันมากขึ้น เพราะหลายเรื่องมองเห็นตรงกัน แต่รายละเอียดการทำงานแต่ละหน่วยต้องมาปรับความเข้าใจกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
“จะให้เห็นด้วย 100% คงเป็นไปไม่ได้ อย่างเรื่องเอ็มโอยู ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าประโยชน์ของมันคืออะไร ภาคประชาชนเขาบอกว่ามีข้อห่วงใยอะไร ก็รับกัน เพียงแต่บางเรื่องไม่สามารถไปสร้างหลักประกันได้ เช่น ความห่วงใยถ้าเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปแล้ว การใช้การตีความอะไรนั้นเป็นเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์ระบุ
นายอภิสิทธ์ย้ำว่า รัฐบาลต้องการทำให้ดีที่สุดเพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศ ซึ่งอะไรที่เห็นแตกต่างกันก็อยากให้ใช้วิธีเข้ามาพูดคุยกันเป็นหลัก ไม่จำเป็นที่ะต้องมีปัญหาระหว่างกันและกัน เพราะเป้าหมายตรงกันอยู่แล้ว ซึ่งนายสุวิทย์ ในฐานะประธาน เตรียมความพร้อมข้อมูลเรื่องมรดกโลก คงจะเชิญภาคส่วนต่างๆ เข้ามารับฟังความคิดเห็นเป็นระยะๆ ถ้ามีประเด็นต้องนำกรอบการเจรจา บันทึกการประชุมหรือข้อตกลงอะไรเข้าสภาก็ควรมีการประชาพิจารณ์
ด้านนายสุวิทย์กล่าวถึงการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้งหนึ่งว่า นายกฯ ได้มอบให้ไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อเดินหน้าในเรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งจะนำเสนอเพื่อขอตั้งกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชน และจะเชิญทุกฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมให้ข้อมูล ส่วนรายชื่อคณะกรรมกรภาคประชาชนนั้นอยู่ระหว่างรวบรวม
“การดีเบตวันนี้ ทุกคนได้พูดถึงความเห็นของตัวเองชัดเจน และต้องขอบคุณว่าสิ่งที่เราไปทำมานั้นถูกต้องแล้ว และเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผมรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการเกิดความเข้าใจผิดบางครั้ง” นายสุวิทย์กล่าว
เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่กัมพูชาบอกว่าคนไทยกำลังทะเลาะกันเอง นายสุวิทย์กล่าวว่า อยู่ที่คนไทยจะต้องคิด ซึ่งเป็นคนไทยก็ไม่อยากเห็นคนไทยทะเลาะกันเอง ทุกคนต้องหนักแน่นและมีเหตุผล ต้องดูรายละเอียดบ้าง บางครั้งความไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึงข้อมูลทั้งหมด อาจจะเป็นช่องว่างทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ ใครสงสัยและอยากรู้รายละเอียดก็ยินดีนั่งคุยด้วยทุกอย่างก็จะอธิบายให้ฟัง แต่บางเรื่องเป็นเทคนิคที่นำไปสู่การเจรจาต่อรองคงพูดหมดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเราจะไปต่อรองกับเขาไม่ได้ เหมือนเราแก้ผ้าไปหาเขา เขาจะเห็นหมดจุดอ่อนจุดแข็งเราอยู่ตรงไหน
“คนอาจมีความเห็นไม่เหมือนกันได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่อย่าไปถือว่าเมื่อเห็นต่างจะต้องเป็นคนละฝ่าย เป็นศัตรูกัน ไม่ใช่ อยากให้คิดใหม่ว่าความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์ เอามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้” นายสุวิทย์กล่าว
ปานเทพยันจี้เลิกเอ็มโอยู 43
ส่วนนายปานเทพกล่าวว่า การชี้แจงของนายกฯ ทำให้เครือข่ายฯ เข้าใจมากขึ้น แต่ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เพราะจุดยืนของเครือข่ายฯ คือแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่ยังเป็นปัญหาและอาจทำให้ไทยต้องเสียดินแดน ซึ่งเอ็มโอยูปี 2543 ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทั้งไทยและกัมพูชายอมรับในแผนที่ดังกล่าว แม้รัฐบาลยืนยันว่าได้ประท้วงไปแล้วหลายครั้ง แต่ต้องพิจารณาว่ากัมพูชาและประเทศอื่นๆ รับรู้หรือไม่ว่าแผนที่ดังกล่าวกระทบต่อไทย และข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศยังยึดถือแผนที่นี้ในเอกสารต่างๆ ทำให้รู้สึกว่าข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศยังคิดเหมือนกับกัมพูชา ดังนั้น เครือข่ายฯ ยังยืนยันต้องเลิกเอ็มโอยูปี 2543 เพื่อให้ยุติการใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 แล้วไปใช้สันปันน้ำเป็นแผนที่หลัก
“เราเข้าใจว่าเอ็มโอยูเป็นประโยชน์และสามารถใช้ยืนยันหลายอย่างได้ แต่ถ้ายกเลิกเอ็มโอยูนี้ไป ไทยก็สามารถประท้วงกัมพูชาได้ตามสนธิสัญญาเมื่อปี ค.ศ.1904” นายปานเทพระบุ
นายวีระกล่าวเช่นกันว่า รู้สึกพอใจการชี้แจงของนายกฯ ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ชัดเจนและไม่มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้พื้นที่ของเราคืนหรือไม่ เพราะนายกฯ ยังไม่ได้บอกว่าจะเริ่มต้นพูดคุยกับกัมพูชาและผลักดันชาวกัมพูชาออกนอกพื้นที่เมื่อใด การอ้างว่าได้ทำเรื่องคัดค้านและประท้วงไปแล้วกว่า 20 ครั้งนั้น ก็พบว่าเป็นแค่การคัดค้านการสร้างถนน โดยไม่มีการสั่งให้กัมพูชายุติและออกนอกพื้นที่ไปในทันที
“ยังไม่สามารถรับคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีได้ แม้จะมีความเข้าใจมากขึ้น แต่การมาพูดคุยกันในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ ปัญหาก็คงไม่บานปลาย” นายวีระกล่าว
ด้านความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่กองทัพภาคที่ 1 นั้น ในช่วงที่มีการดีเบต กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้มีการติดตามผ่านทีวีที่กลุ่มได้นำมาติดตั้งในหลายจุด และบนเวทีก็ไม่มีแกนนำขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด โดยน่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ชุมนุมค่อนข้างบางตาไม่ถึง 100 คน ส่วนการรักษาความปลอดภัยของทางเจ้าหน้าที่นั้น ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประจำการอยู่ที่หน้าประตูกองทัพภาคที่ 1 และตามจุดต่างๆ ด้วย
และเมื่อ 15.00 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ประธานเครือข่ายประชาชนรักประเทศไทย ได้ขึ้นเวทีประกาศยุติการชุมนุม โดยบอกว่า กลุ่มมวลชนที่สนับสนุนยังมีจำนวนไม่เพียงพอ หลังจากนี้จะปรับยุทธวิธีโดยจะเรียกประชุมกลุ่มแกนนำระดับย่อย ซึ่งนายการุณ ใสงาม ให้ข้อคิดเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมกลับมาชุมนุมอีกครั้งในเวลาไม่นาน โดยจุดยืนของเราต้องการต่อสู้ต่อ แต่หลังจากดีเบตก็ได้ปรับความเข้าใจกันไปไม่น้อย จากนี้จึงขอพักยกชั่วคราวและหลังจากนี้กลุ่มจะเชิญตัวแทนจากลุ่มต่างๆ มาร่วมพูดคุยในยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดยุทธวิธีต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า จากนั้นก็จะแจ้งไปยังสื่อมวลชนได้ทราบว่าจะทำกิจกรรมหรือจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไร
“การเปิดตัวชุมนุมครั้งนี้ถูกรัฐบาลมาป่วนเครือข่ายเราไปไม่น้อย โดยถูกแบ่งให้ไปทำกิจกรรมที่อาคารกีฬาเวสน์ และแบ่งมาชุมนุมที่บริเวณกองทัพภาคที่ 1 ทำให้การประสานงานและการเคลื่อนไหวเป็นแต่เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้พูดคุยกัน และกลุ่มถูกเหมารวมว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งแท้จริงที่ไม่ใช่ แต่เราได้แยกเครือข่ายออกมาแล้วอาจมีเพียงแกนนำบางคนของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เข้าร่วมด้วยเท่านั้น ซึ่งการพักยกครั้งนี้เพื่อไปทำให้เครือข่ายมีความเข้มแข็งมากขึ้น” นายไชยวัฒน์กล่าว
นัดเคลียร์ใจพันธมิตรฯ
นายวีระก็กล่าวถึงการนัดหารืออีกครั้ง โดยเฉพาะกับกลุ่มพันธมิตรฯว่า เราต้องคุยกันในทุกๆ ประเด็น ที่สำคัญคือการที่เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพวกเรา ต้องมาปรับการต่อสู้ของเราให้ไปในทิศทางเดียวกัน และต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ เพราะประเด็นต่างๆ รัฐบาลได้แสดงจุดยืนแล้วจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาคุยกัน ดังนั้น ตอนนี้เราต้องมาคุยกันเรื่องการจัดกระบวนของเราว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีพลังและยุทธวิธีต้องสอดคล้องต้องกัน
“ต้องยอมรับว่ารัฐบาลทำงานได้ผลระดับหนึ่ง พวกเราบางกลุ่มอาจจะยังไม่ชัดเจนในเรื่องที่เรากำลังต่อสู้ ไม่ใช่เรื่องยากและอุปสรรคที่เราจะทำความเข้าใจกันไม่ได้” นายวีระตอบเรื่องความเห็นแตกต่างของกลุ่มพันธมิตรฯ กับภาคประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวต้องพักรบชั่วคราวใช่หรือไม่
เขายังกล่าวถึงการดีเบตอีกว่า คิดว่าไม่จำเป็นแล้ว คงไม่ก่อประโยชน์อะไรมาก เพราะรัฐบาลแสดงจุดยืนชัดเจนแล้ว แต่อยากฝากให้สื่อติดตามการผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ ส่วนเราจะเน้นการต่อสู้
ในขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 ว่า เรื่องนี้นายกฯ และรัฐบาลจะเป็นผู้อธิบายได้ดีที่สุด รวมถึงคนในกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นต้นเรื่องดังกล่าว ซึ่งเอ็มโอยู 2543 นั้น ยืนยันว่าไม่ได้ทำให้ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือเป็นเครื่องมือปักปันเขตแดนของไทยกับกัมพูชา ดังนั้นการที่กระทวงการต่างประเทศตัดสินใจในการดำเนินการทำเอ็มโอยูขณะนั้น ก็เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ แต่หลังจากปี 2544 มีเรื่องผลประโยชน์ระหว่างประเทศกับผลประโยชน์ของบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงทำให้เกิดเป็นปัญหา
“ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เป็นผู้ทำเรื่องดังกล่าวได้ออกมาอธิบายให้คนทราบบ้างว่าที่ไปที่มาของเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่เวลานี้กลายเป็นภาระที่นายกฯ เป็นผู้ตอบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการทำเอ็มโอยูดังกล่าวเกือบทุกรัฐบาล ผมกล้าพูดได้เลยว่ามองประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก” นายชวนกล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 647 ครั้ง