เวลา 17.45 น.วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2553 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ รวม 450 คณะ จำนวน 15,215 คน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ทั้งนี้ คณะบุคคลที่จะเข้าเฝ้าฯ ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้แทนรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ สภา สถาบัน สมาคม ชมรม มูลนิธิ ลูกเสือชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งสิ้น 450 คณะ จำนวน 15,215 คน
เมื่อเสด็จฯ ถึง ได้เสด็จฯ ขึ้นที่ประทับ จากนั้น ท่านผู้หญิง มนัสนิตย์ วณิกกุล พระราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กราบบังคมทูลรายงานสรุปคณะบุคคลที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และขอพระราชทานพระราชานุญาตให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล ในนามผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชวโรกาสเบิกคณะบุคคล ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นิสิต นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน และผู้แทนมูลนิธิ สมาคม สโมสร องค์กรต่างๆ รวม 450 คณะ จำนวน 15,215 คน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2553
ลำดับต่อไป ขอพระราชทานเบิก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล ในนามผู้ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ทีนี้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลในนามผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในนามของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า มีความปลื้มปีติ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ปวงข้าพระพุทธเจ้าเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในศุภวาระเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2553
ปวงข้าพระพุทธเจ้า และประชาชนชาวไทย ต่างชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเกษมสำราญ มีพระสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และทรงมุ่งมั่นประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ตลอดมา
ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงสิริราชสมบัติ และได้ทรงพระวิริยะ อุตสาหะ ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ โดยมิทรงย่อท้อต่อความลำบากตรากตรำพระวรกาย แม้ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล ซึ่งได้ทรงพระกรุณาพระราชทานโครงการหลายพันโครงการพัฒนาท้องถิ่นและราษฎรในชนบทอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทวยราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุขโดยถ้วนหน้า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทเป็นคู่พระบารมี และทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทั้งที่เป็นงานสนองพระราชปณิธานและพระราชดำริ ตลอดจนพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแบ่งเบาพระราชภารกิจ และยังทรงงานตามโครงการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระราชดำริริเริ่มเป็นจำนวนมากด้วย
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณาพระราชทานโครงการหลายหลากด้าน ทั้งด้านการศึกษา การพระศาสนา การแพทย์ และสาธารณสุข การเกษตรกรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นสมบัติแห่งทรัพย์สินทางปัญญาของภูมิภาคต่างๆ ได้พระราชทานโครงการฟื้นฟูดูแล ปกป้องดิน น้ำ และป่า เพื่อให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการป่ารักน้ำ โครงการฟาร์มตัวอย่าง โครงการธนาคารอาหารชุมชน และอื่นๆ อีกมาก
ทั้งนี้ ด้วยพระมหากรุณาที่จะให้ราษฎรมีความรู้ และมีแหล่งสำหรับประกอบอาชีพให้ได้ผลดี สามารถยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการเอื้ออำนวยให้ราษฎรทั้งปวงมีวิถีชีวิตที่ผาสุกและร่มเย็น โดยเฉพาะโครงการศิลปาชีพ นอกจากจะส่งเสริมอาชีพของราษฎร และฟื้นฟูภูมิปัญญาของท้องถิ่นทั่วประเทศไว้เป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติและปวงชนแล้ว โครงการนี้ยังเผยแพร่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์แซ่ซ้อง สดุดี ทั้งในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก
พระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ไม่ได้แผ่ปกเศียรเกล้าเฉพาะอาณาประชาราษฎร์ หากแต่ยังแผ่ปกสรรพชีวิตทั้งสัตว์และพืชพันธุ์นานาชนิด เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ และให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เป็นคุณูปการแก่ระบบนิเวศและสภาวะแวดล้อม ตลอดจนธรรมชาติของผืนแผ่นดินในภูมิภาคต่างๆ เป็นต้นว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์หิ่งห้อย เต่าทะเล ปลา หอยทับทิม หอยตลับ นก ไก่ฟ้า ช้าง กล้วยไม้ป่าของไทย ตลอดจนพืชพันธุ์ธัญญาหารอื่นอีกมาก
ปวงอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกภูมิภาคล้วนประจักษ์ชัดแจ้งในน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตาเอื้ออาทรในทุกข์สุขของปวงชน ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุเคราะห์แก่พสกนิกรผู้ประสบความทุกข์ยาก หรือประสบภัยต่างๆ ทุกหมู่เหล่า โดยไม่ทรงเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ด้วยทรงพระเมตตาว่า ทุกคนล้วนเป็นพสกนิกรภายใต้ร่มพระบารมี พระมหากรุณาธิคุณ และพระราชจริยวัตรอันงดงามยิ่งนี้ ล้วนประทับและจารึกในดวงใจของปวงชนชาวไทย โน้มนำให้เกิดความสำนึกกตัญญูกตเวที และความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รวมทั้งพระเกียรติคุณได้แผ่ไพศาลเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก ซึ่งต่างแซ่ซ้องสาธุการ และได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลเฉลิมพระเกียรติแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นจำนวนมาก
ณ มหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2553 นี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาต น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย และอานุภาพสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล โปรดอภิบาลบันดาลดล ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระเกษมสำราญ ทรงพระเจริญพรั่งพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย มีพระราชประสงค์จำนงหมายสิ่งใด ขอจงสัมฤทธิ์ สมดั่งพระราชหฤทัยปรารถนาทุกประการ ทรงสถิตเป็นพระมิ่งขวัญร่มเกล้าปวงข้าพระพุทธเจ้า และพสกนิกรชาวไทยตราบนิรันดร์กาล ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”
จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสตอบ
“ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และท่านทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้แทนของข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ สภา สถาบัน สมาคม ชมรม มูลนิธิลูกเสือชาวบ้าน และประชาชนทุกหมู่เหล่าจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมจำนวน 15,215 คน ที่พร้อมใจกันเดินทางมาอวยพรข้าพเจ้าในวันนี้ คำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรีในนามของประชาชนไทยทั้งประเทศ ทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจยิ่งขึ้น ขอขอบคุณผู้มีน้ำใจอีกหลายท่านที่จัดอาหารและน้ำดื่ม มาช่วยสำหรับบริการประชาชนจำนวนมาก ที่เดินทางมาอวพรข้าพเจ้า และยังต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกกลุ่มบุคคล ที่บำเพ็ญสาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ ที่จัดกิจกรรมหรือทำสิ่งดีๆ เพื่อบ้านเมือง หรือช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดแก่ข้าพเจ้า เช่น มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก ได้จัดทำโครงการผ่าตัดและรักษาเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ตั้งแต่ปี 2552-2555 ขณะนี้ช่วยมาได้ 333 รายแล้ว แต่ตั้งเป้าหมายจะช่วยเด็กโรคหัวใจให้ได้ถึง 800 คน โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดทำโครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เทิดไท้คู่ขวัญองค์ราชัน-ราชินี สืบต่อจากโครงการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โครงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการปลูกต้นไม้นานาชนิดของหลายหน่วยงาน โครงการปลูกหญ้าแฝก การบริจาคโลหิต การพัฒนาวัด มัสยิด และโรงเรียน การไถ่ชีวิตโค-กระบือ โครงการรักษาผู้ป่วยออทิสติก โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายของกองทัพเรือ กองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชน ของกระทรวงยุติธรรม การอุปสมบทพระภิกษุ และบรรพชาสามเณร เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ และยังมีอีกมากมายหลายโครงการ ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถกล่าวถึงได้ครบถ้วน ข้าพเจ้าปลื้มใจที่ชาวไทยพร้อมใจกันทำความดีเพื่อข้าพเจ้า จึงขอขอบคุณทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ อีกครั้งหนึ่งด้วย ยาวหน่อยนะคะ อย่าหลับเสียก่อน
หลายเดือนมานี้ข้าพเจ้าอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่นั่น ขณะนี้พระสุขภาพดีขึ้นมากแล้ว แต่หมอยังให้ทรงทำกายภาพบำบัดต่อไป เพื่อให้ทรงพระดำเนินได้แข็งแรงก่อนที่จะเสด็จฯ ออกจากโรงพยาบาล
ข้าพเจ้าปลื้มใจที่มีประชาชนมาถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นจำนวนมากทุกวัน วันละหลายพันคน ทั้งที่มาเป็นรายบุคคล เป็นครอบครัว หรือเป็นหมู่คณะ มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ศาสนา มาจากต่างจังหวัดไกลๆ ตั้งแต่เหนือจดใต้ หรือต่างประเทศ ก็มี เช่น เร็วๆ นี้ มีชายคนหนึ่ง วัย 45 ปี เป็นชาวอังกฤษ ใช้เวลากว่า 3 เดือน ขี่จักรยานไปรอบโลก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน เขาได้มาลงนามถวายพระพร และให้สัมภาษณ์ว่า เขารักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรักเมืองไทยมาก
นอกจากประชาชนจะมาลงนามถวายพระพรแล้ว ยังได้นำสิ่งของมากมายมาถวายเป็นกำลังพระทัย เช่น พระพุทธรูป ดอกไม้ พวงมาลัย ผลไม้ เงิน และจดหมายถวายพระพร เป็นต้น ไม่ต่างอะไรเลยกับเวลาที่พระองค์ท่านเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัด เป็นบรรยากาศแห่งความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับประชาชน ที่ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจมาก
ข้าพเจ้าได้ทราบว่าหลายคนทำทุกอย่างที่เชื่อว่าจะทำให้ทรงแข็งแรงขึ้น เช่น หนูน้อยคนหนึ่ง อายุแค่ 5 ขวบ คุณแม่เล่าว่า พอบอกว่าจะมาถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะในหลวงไม่สบาย หนูน้อยวิ่งกลับไปหยิบหนังสือนิทาน แล้วบอกคุณพ่อ คุณแม่ ว่า จะไปอ่านให้ในหลวงฟัง จะได้หายเร็วๆ ทราบมาว่าเวลาที่เขาไม่สบาย คุณแม่เขาเคยอ่านนิทานให้ฟัง ความจริงหนูน้อยคนนี้ยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย แต่ฟังนิทานเรื่องนี้มาหลายรอบจนจำได้ขึ้นใจ ก็อ่านจากความจำของตน พลิกอ่านไปทีละหน้าเหมือนอ่านได้จริงๆ น่าเอ็นดูมาก
บางคนก็มานั่งสวดมนต์ถวาย บางคนมาแทบทุกวันจนเจ้าหน้าที่จำได้ เด็กเล็กคนหนึ่งมาสีไวโอลินถวาย บางครอบครัวร่วมกันพับนกเป็นร้อยเป็นพันตัว เพื่อถวายพระพรให้พระชนมายุยืนยาว เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้สื่อถึงความรัก ความห่วงใย ที่ประชาชนมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างชัดเจน ซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อเช่นเดียวกับประชาชนว่าสามารถช่วยให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแข็งแรงขึ้นได้จริงๆ
สำหรับเงินที่ประชาชนถวายมาคนละเล็กคนละน้อย ซึ่งรวมแล้วก็เป็นเงินก้อนใหญ่ หลายล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยที่เดือดร้อน ส่วนพวงมาลัยและดอกไม้ ข้าพเจ้ารับเป็นธุระมาจัดถวาย เช่น ได้ส่งไปบูชาพระประธานตามวัดต่างๆ เป็นการนำกุศลไปสร้างกุศลเพิ่ม ซึ่งผู้ถวายทุกคนจะได้โดยเสด็จพระราชกุศลกับพระองค์ท่าน ข้าพเจ้าเองก็ร่วมอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วย
ระหว่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับที่ศิริราช ทรงปฏิบัติพระราชกิจตามปกติ เช่น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บุคคลต่างๆ เฝ้าฯ หลายครั้ง ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ไปเฝ้าฯ หลายครั้งแล้ว เพื่อทรงติดตามปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องที่ทรงห่วงมากระยะนี้ก็เรื่องน้ำ ปัญหาเรื่องน้ำ ตั้งแต่ตอนที่ฝนทิ้งช่วง ประชาชนประสบปัญหาภัยแล้ง ต้องทรงส่งฝนหลวงไปช่วย จนถึงขณะนี้ฝนตกมาแล้ว ก็ยังทรงติดต่อตามข่าวและสถิติทุกอย่าง เพื่อเตรียมการไว้สำหรับป้องกัน หรือแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะมีมาอีก
ฝนหลวง คือ วิธีการทำให้เกิดฝน ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงค้นและพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ.2498 เพื่อช่วยประชาชนในท้องถิ่นที่ขาดแคลนน้ำ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำฝนหลวงได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ทรงอธิบายว่า ต้องมีเมฆ และความชื้นในอากาศเพียงพอจึงจะทำได้
โครงการฝนหลวงมีผลงานเป็นที่รู้จักกันดี และเป็นที่เรียกร้องของประชาชนเสมอ ในยามที่ฝนทิ้งช่วงนานๆ จนเกิดปัญหาภัยแล้ง อย่างในปีนี้ น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้อย และลดลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 28 กรกฎาคมนี้ มีน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 1 ใน 4 ทางราชการได้ออกประกาศเตือนให้ชาวนา ชาวไร่ ลดการปลูกพืชฤดูแล้ง พยายามปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน แต่ประชาชนก็ยังปลูกมากกว่าที่ทางราชการวางแผนไว้ถึง 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนมากเป็นการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งต้องใช้น้ำมากเสียด้วย ข้าพเจ้าก็เห็นใจและเข้าใจชาวนา เพราะเมื่อข้าวได้ราคา และนาว่าง ก็อยากจะปลูกข้าวต่อไป แม้จะทราบว่าน้ำไม่พอ บางคนก็ยอมเสี่ยง เผื่อว่าโชคดี ฝนอาจจะมาเร็ว แต่เมื่อฝนไม่ตก ข้าวก็เหี่ยวแห้งรอวันตาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำอยู่ตลอดเวลา แม้ระหว่างประทับพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ไม่ทรงว่างเว้นเลย เดือนมิถุนายนนี้ ทรงขอให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษในภาคเหนือ 4 แห่งด้วยกัน ภาคอีสาน 1 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง เพื่อเพิ่มน้ำให้เขื่อนใหญ่ 5 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำก็กระเตื้องขึ้นมา และพื้นที่แห้งแล้งภายนอกก็ลดลง การทำฝนหลวงนี้เป็นที่สนใจนานาชาติอย่างกว้างขวาง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจดสิทธิบัตรการทำฝนหลวงไว้แล้ว ใครจะใช้เทคโนโลยีฝนหลวงต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน
หลายชาติมาศึกษาดูงานในประเทศไทย บ้างก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้เทคโนโลยีฝนหลวง เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ทางรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรัฐที่ค่อนข้างแห้งแล้งอยู่เสมอ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้เทคโนโลยีฝนหลวง พระองค์ท่านก็พระราชทาน แสดงให้เห็นว่า พระมหากรุณานั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงราษฎรในประเทศไทยเท่านั้น แต่แผ่กว้างไปถึงชาวโลกด้วย ซึ่งข้าพเจ้าก็ภาคภูมิใจที่พระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน มีส่วนช่วยดับทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ในนานาประเทศ ซึ่งบางประเทศนั้นก็มีชื่อเสียงทางเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ยิ่งกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำไป
และจากที่บ้านเราฝนแล้งมาระยะหนึ่ง ต่อไปนี้จะมีข่าวดีที่พึงต้องระวังไปพร้อมกัน เพราะมีแนวโน้มของสภาพอากาศ ว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม ปีนี้ ประเทศไทยจะมีฝนมากกว่าปกติ ข่าวดีก็คือเราจะได้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในปีหน้า แต่ที่ควรระวังคือปัญหาน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วม ที่จะตามมา ดังที่เราเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ในระยะนี้
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสรุปสถานการณ์น้ำ ได้รับสั่งให้ย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำทั่วประเทศ ให้ช่วยกันวางแผนเพื่อรับมือปัญหาน้ำที่ขาดแคลนเป็นประจำทุกฤดูแล้ง และจะขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการประสานประโยชน์ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป
เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระองค์ท่านจะต้องใช้แผนที่เป็นคู่มือทุกครั้ง ในห้องทรงงานที่พระตำหนักทุกๆ แห่งทั่วประเทศ จะมีแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่ติดฝาห้อง และแผนที่ที่ขยายเฉพาะส่วน ก็มีอีกหลายแผ่น ฉบับที่ทรงถือติดพระหัตถ์นั้น ความจริงมีขนาดใหญ่มาก เพราะทรงนำแผนที่มาต่อกันถึง 9 แผ่น หรือ 9 ระวาง แต่ทรงหาวิธีพับแบบพิเศษจนมีขนาดที่ทรงถือได้สะดวก และพลิกออกมาทอดพระเนตรได้ง่าย ทรงตรวจสอบแผนที่เสมอ ไม่ว่าจะเสด็จฯ ที่ไหน แม้ขณะทรงขับรถเองก็มีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา ถ้าประทับเฮลิคอปเตอร์จะทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเบื้องล่าง เปรียบเทียบไปกับแผนที่ตลอดทาง ไม่มีการหลับเด็ดขาด เสด็จฯ ไปถึงที่หมายแล้วจะทรงถามชาวบ้านว่า ชื่อหมู่บ้าน แม่น้ำลำคลอง หรือถนน ตรงกับแผนที่ไหม มีหมู่บ้านใดเกิดขึ้นมาใหม่บ้าง ถ้ามีข้อมูลที่ต่างไปจากแผนที่ จะโปรดฯ ให้นายทหารแผนที่จดไว้และนำไปแก้ไขในการพิมพ์แผนที่ครั้งต่อไปให้ถูกต้อง หากมีโครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ทรงสามารถคำนวณพื้นที่รับน้ำคร่าวๆ ได้จากแผนที่ของพระองค์เอง ทรงชำนาญมากจนทอดพระเนตรความสูงต่ำของภูมิประเทศได้ราวกับทอดพระเนตรพื้นที่จริง นักวิชาการหลายท่านทราบดีถึงพระปรีชาสามารถด้านการทรงงานแผนที่ของพระองค์ท่านดี และความที่ทรงแม่นยำในแผนที่นี้ ทำให้ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วย พลอยกระตือรือร้น ศึกษาหาความรู้เรื่องแผนที่ไปด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนไว้เป็นจำนวนมากทุกภาค อย่างโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทรงเริ่มเมื่อ พ.ศ.2506 จากนั้น ระหว่างประทับที่วังไกลกังวล ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และราษฎรในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประจำ ทรงพบว่า ปัญหาหลัก คือ ดินเป็นทราย ปลูกพืชไม่ค่อยขึ้น จึงทรงพระราชดำริริเริ่มโครงการเกษตรขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่หุบกระพง ดอนขุนห้วย ที่สำคัญคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จ.เพชรบุรี ซึ่งทดลองการปรับปรุงบำรุงสภาพดิน จากดินที่แห้งแข็ง จนสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้หลายชนิด และทรงสร้างอ่างเก็บน้ำไว้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ด้วย ผลงานสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในภาคกลางก็เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น
สมัยก่อน เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องประสบน้ำท่วม เนื่องจากน้ำเหนือหลาก พร้อมกับน้ำทะเลหนุนอยู่เสมอ วันที่ 7 พฤศจิกาย พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงชวนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน จ.สมุทรปราการ กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์และกองทัพเรือ ให้ร่วมกันวางโครงการขุดลอกคลองลัดโพธิ์ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในเขต จ.สมุทรปราการ มีลักษณะโค้ง อ้อม ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร คลองลัดโพธิ์เดิมกว้างประมาณ 10 กว่าเมตร ลึก 1-2 เมตร ถ้าปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ ซึ่งเชื่อมต่อด้านเหนือโค้งและปลายโค้งได้ ก็จะสามารถใช้เป็นทางลัด ระบายน้ำเหนือได้เร็ว เพราะระยะทางสั้นเพียง 600 เมตรเท่านั้น กรมชลประทานจึงดำเนินการตามพระราชดำริ เมื่อ พ.ศ.2546 เสร็จใน พ.ศ.2548 โดยมีประตูระบายน้ำควบคุมน้ำที่ไหลผ่าน ไม่ให้มากเกินไป และป้องกันน้ำเค็มไหลย้อน
โครงการคลองลัดโพธิ์ ได้ช่วยลดระดับน้ำหลากในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และลดระยะเวลาน้ำท่วมขังลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลาบปลื้ม ชื่นชมโครงการนี้มาก และมีพระราชดำริให้ศึกษาการใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองให้เกิดประโยชน์ กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกันประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และชุดสำเร็จของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ขึ้น รวมทั้งยื่นขอจดสิทธิบัตรงานทั้ง 2 ชิ้น ในพระปรมาภิไธยด้วย
ภาคเหนือ พระราชกิจ คือ โครงการหลวง เริ่มเมื่อ พ.ศ.2512 วัตถุประสงค์หลัก คือ เปลี่ยนอาชีพของชาวไทยภูเขา จากการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าอย่างรวดเร็ว ไปเป็นการปลูกพืชผัก ผลไม้เมืองหนาวแทน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องเสด็จฯ ไปตามดอยสูงต่างๆ เป็นร้อยๆ ครั้ง บางครั้งทรงขับรถพระที่นั่งไปตั้งหลายชั่วโมง ที่สูงและกันดาร จนทางรถไปไม่ถึง ก็เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ จากนั้นก็ทรงพระดำเนินไปตามดอยอีกหลายกิโลเมตร ข้าพเจ้าขอเติมว่า ข้าพเจ้าติดตามไปด้วยตลอดเวลา ทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของชาวเขาอย่างใกล้ชิด โดยมี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้ช่วยคนสำคัญ
ขณะนี้โครงการหลวงประสบผลสำเร็จแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรของโครงการหลวง มีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ประชาชนสามารถศึกษาโครงการพระราชดำริของภาคเหนือได้ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่
ส่วนภาคใต้ โครงการพระราชดำริเริ่มใน พ.ศ.2516 จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นสภาพพรุหลายแห่ง ซึ่งมีพื้นที่เป็นล้านๆ ไร่ อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นมาถึง จ.นครศรีธรรมราช ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเปรี้ยว ดินเปรี้ยว ประชาชนทำการเกษตรได้ยาก ทรงทดลองใช้วิธีต่างๆ ในการปรับสภาพดินนอกเขตพรุ ทำให้ดินหายเปรี้ยว ที่สำคัญ วิธีการแกล้งดิน นี่ทรงตั้งให้เองว่าทรงทำวิธีการแกล้งดินมัน โดยเร่งให้ดินเปรี้ยวเร็วขึ้นอีก ใช้วิธีทำให้น้ำท่วมและแห้งสลับกันไป
หลังจากดินเปรี้ยวถึงที่สุดแล้ว ก็ปรับปรุงดิน โดยใช้น้ำจืดชะล้างบ้าง ใช้ปูนขาวบ้าง ดินก็ค่อยๆ ดีขึ้น จนชาวบ้านสามารถปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้น จากไร่ละ 5 ถัง เป็น 50 ถัง และสามารถปรับปรุงที่นาที่ถูกทิ้งร้างมาถึง 20-30 ปี ให้นำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าแสนไร่
ศูนย์ศึกษาโครงการพระราชดำริที่สำคัญในภาคใต้ คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช สมัยโบราณ จ.นครศรีธรรมราช ของเรา เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่ง ต่อมามีปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเค็ม ชาวบ้านทำการเกษตรได้น้อยลง พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาสืบต่อมา โดยให้ดำเนินโครงการหลายโครงการ อาทิ ขุดคลองระบายน้ำต่างๆ สร้างประตูระบายน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมในหน้าฝนลงทะเล ส่วนหน้าแล้ง ก็ช่วยกั้นน้ำทะเลไม่ให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน ทำให้เดี๋ยวนี้น้ำไม่ท่วมตลาด อ.ปากพนัง แล้ว จากที่แต่ก่อนน้ำท่วมแทบทุกปี และยังช่วยให้ชาวบ้านทำการเกษตรได้มากขึ้น เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ ปลูกพืชผักต่างๆ และทำนากุ้ง คิดเป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ประมาณ 1 ล้าน 9 แสนไร่ บางที่ เช่นที่ อ.หัวไทร สามารถทำนาได้ถึงปีละ 3 ครั้ง
ภาคอีสาน ภูพานราชนิเวศน์ พระตำหนักสร้างเสร็จใน พ.ศ.2519 ปัญหาสำคัญของภาคนี้ คือ พื้นที่เป็นที่ราบสูง ขาดแคลนน้ำ สภาพดินเป็นทราย และใต้ผิวดินหลายพื้นที่มีเกลือสินเธาว์ โดยรวมแล้วทำให้มีสภาพแห้งแล้ง หลายพื้นที่ทำการเพาะปลูกอะไรไม่ได้ แต่บางพื้นที่มีปัญหาน้ำจากแม่น้ำหลายสายหลากมาท่วมในฤดูฝน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำโครงการชลประทานตามพระราชดำริขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ประกอบกับคลองส่งน้ำ เพื่อให้ราษฎรทำการเกษตรได้ เช่น สร้างประตูระบายน้ำหลายแห่งเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธาร การปรับปรุงบำรุงดิน สามารถศึกษาโครงการพระราชดำริได้ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร
เรื่องป่านี้ข้าพเจ้าก็พูดถึงเป็นประจำ และไม่ย่อท้อที่จะพูดต่อไป เพื่อชักชวนให้คนไทยรักษาป่า อย่าตัดไม้ทำลายป่า จะทำให้ฝนฟ้าแล้งได้ การมีป่าทำให้มีน้ำ เพราะป่าเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำทุกสายในประเทศไทย ต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำไว้ใต้ดิน ช่วยต้านความแรงของน้ำป่า เป็นแหล่งของสมุนไพรและของป่า และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และช่วยลดภาวะโลกร้อนไว้ได้ด้วย ดังนั้นการที่ท่านทั้งหลายช่วยปลูกป่าทั่วประเทศ จึงเป็นประโยชน์มาก
ทีนี้ข้าพเจ้าขอเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อนของข้าพเจ้าเป็นชาวต่างประเทศ ก็เป็นทางภาคเอเชีย เขามาเฝ้าฯ เป็นทางการ เขาก็พูดกับข้าพเจ้าว่า คนไทยเป็นยังไงนะชอบตัดป่าเสียจริงๆ คนลาวไม่เข้าใจ เดี๋ยวๆ คนไทยก็เข้าไปตัดป่าของตัวเสียทีจนป่าตัวเองจนป่าตัวเองจะหมด แล้วยังข้ามไปจะไปตัดลาว เขาบอกลาวไม่มีวันยอมหรอก ให้มาตัดป่าของลาว เขาพูดกับข้าพเจ้าอย่างนี้ เขาแปลกใจว่าทำไมคนไทยถึงไม่รู้จักประโยชน์ของป่า ที่ว่าทำให้มีน้ำพอใช้
&nb;
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1509 ครั้ง