ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553ถึงผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง สถานการณ์การเลือกข้างความนิยมของประชาชน กับความในใจของคนที่ “ขออยู่ตรงกลาง” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่ พักอาศัยอยู่ใน 28 จังหวัดล จำนวน 5,470 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 20 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2553 พบว่า กลุ่มประชาชนที่ถูกศึกษาจำนวนมากที่สุดคือร้อยละ 46.5 แสดงตน “ขออยู่ตรงกลาง”คือ ไม่เลือกข้าง
เมื่อสอบถามถึงนักการเมืองที่นิยมชอบ สนับสนุน ระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นักการเมืองคนอื่น โดยร้อยละ 28.6 นิยมชอบสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่ ร้อยละ 24.9 สนับสนุนนักการเมืองคนอื่น โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ประมาณ +/- ร้อยละ 5 ซึ่งผลสำรวจครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า คนจำนวนมากที่สุดไม่เลือกข้าง แต่ขออยู่ตรงกลาง ส่วนกลุ่มคนที่ตัดสินใจเลือกข้างเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ กับกลุ่มคนที่สนับสนุนนักการเมืองคนอื่น ในทางสถิติถือว่ามีสัดส่วนพอๆ กัน
ที่น่าสนใจคือ หลังจากจำแนกกลุ่มประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามออกตามภูมิภาค พบว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ ละพื้นที่ แม้แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวคือ ร้อยละ 49.3 ระบุไม่เลือกข้างแต่ขออยู่ตรงกลาง โดยมีเพียงกลุ่มประชาชนในภาคใต้เท่านั้นคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 ที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 37.6 สนับสนุนนักการเมืองคนอื่น มีเพียงร้อยละ 13.1 เท่านั้นที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์
แต่ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ แม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากพรรคเดียวกัน แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับยังไม่สามารถทำให้คนกรุงเทพมหานครสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ได้ขาดลอย เพราะมีเพียงร้อยละ 25.4 เท่านั้นที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ในขณะที่ ร้อยละ 27.2 สนับสนุนนักการเมืองคนอื่น และร้อยละ 47.4 ขออยู่ตรงกลางไม่ขอเลือกข้างซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกพรรคการเมืองใดในระบบแบบสัดส่วน พบว่า ประชาชนร้อยละ 36.9 ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้าง ร้อยละ 33.6 เลือกพรรคการเมืองอื่น ๆ ในขณะที่ร้อยละ 29.5 เลือกพรรคประชาธิปัตย์
และพบว่า ประชาชนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 เลือกพรรคการเมืองอื่นๆ ในขณะที่ร้อยละ 26.2เลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 38.0 ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้าง ยังไม่เลือกพรรคใด
ประชาชนในภาคกลางร้อยละ 28.2 เลือกพรรคการเมืองอื่นๆ ในขณะที่ร้อยละ 29.8 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 42.0 ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้าง
แต่ผลสำรวจชี้ชัดเจนว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 45.9 จะเลือกพรรคการเมืองอื่น ร้อยละ 13.6 เท่านั้น จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และที่เหลือร้อยละ 40.5 ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้าง
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้ร้อยละ 77.1 ตัดสินใจแล้วเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีเพียงร้อยละ 8.9 จะเลือกพรรคอื่นๆ และร้อยละ 14.0 ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้าง
ที่น่าตกใจคือ ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 34.8 จะเลือกพรรคการเมืองอื่น ในขณะที่ร้อยละ 26.8 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 38.4 ยังไม่ตัดสินใจเลือกข้าง
ผลสำรวจได้วิเคราะห์ 10 อันดับแรกความในใจของกลุ่มคนที่ “ขออยู่ตรงกลาง” ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศพบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 87.5 บอกว่า เบื่อหน่ายปัญหาการเมือง เมื่อไหร่จะจบเสียที
รองลงมาอันดับที่สอง คือ ร้อยละ 85.1 บอกว่า อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขโดยเร็ว อันดับที่สามหรือร้อยละ 82.2 ระบุต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และต้องการให้เร่งยุติความขัดแย้งรุนแรง
อันดับที่สี่ ร้อยละ 80.9 เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เคารพกติกาบ้านเมือง ในขณะที่ รองๆ ลงไปคือ ขอให้คนไทยรักกัน จับมือกันแก้ปัญหาบ้านเมือง อยากให้เลิกทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ช่วยกันเป็นคนดี มีน้ำใจเกื้อกูลกันในสังคม ทำการเมืองสร้างสรรค์ รณรงค์เลิกพูดเรื่องการเมือง และเอาประเทศชาติมาก่อน ไม่สนใจพวกนักการเมือง ตามลำดับ