นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แม้รายได้ประเทศจะดีขึ้น ภาคการส่งออกขยายตัว แต่ต้องคิดว่าไปตกอยู่กับแค่บางคน จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประเทศ ทั้งนี้ เพราะในปัจจุบันนี้การกระจายรายได้ของไทยนั้นพบว่า คนรวยที่มีรายได้สูงสุด 20% แรกมีรายได้คิดเป็น 54% ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่คนจน 20% ล่างสุด มีรายได้แค่ 4.8% ห่างกันถึง 11.3 เท่า
ขณะที่ในปี 2550 กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ 20% มีส่วนแบ่งรายได้ถึง 55.06% ส่วนประชากรกลุ่มรายได้ต่ำที่สุด 20%มีส่วนแบ่งรายได้ 4.30%
ทั้งนี้ ในปี 2550 รายได้ของกลุ่มที่รวยที่สุดสูงกว่ารายได้ของประชากรที่จนที่สุดถึง 12.81 เท่า ซึ่งหมายความว่า ผลผลิตของประเทศไทยที่คิดเป็นเงินได้ 100 บาท ตกเป็นของคนรวยถึง 55 บาท ส่วนคนจน 20% ได้รับรายได้เพียง 4.30 บาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าตัวเลขบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท มีแค่ 1.2% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่คิดเป็นจำนวนเงินถึง 71% ของเงินฝากทั้งระบบ ถือว่าเห็นภาพชัดขึ้นของความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ของประเทศ
นายสาธิต กล่าวว่า ยอมรับว่าจำเป็นต้องดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชน แต่ก็จำเป็นต้องให้ส่วนแบ่งรายได้ตกไปสู่คนจนด้วย ไม่ใช่ตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
เพราะในขณะนี้เมื่อไปดูตัวเลขการเสียภาษีบุคคลธรรมดาของคนไทย ซึ่งมีผู้ยื่นแบบเสียภาษี 9 ล้านคน ของประชากร 64 ล้านคน และพบว่ามีเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้นที่ต้องเสียภาษีจริงๆ
เมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้ที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดในอัตรา 37% พบว่ามีกว่า 6 หมื่นคนเท่านั้น คิดเป็นเงินประมาณ 50% ของภาษีบุคคลธรรมดาทั้งหมด ถือว่ามีปัญหาแน่ และเมื่อมาดูคนเสียภาษีที่มีรายได้เกิน 10 ล้านบาท ก็เหลือแค่ 2,400 คนเท่านั้น คิดเป็นเงินภาษี 34% ของภาษีบุคคลธรรมดาทั้งหมด
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1796 ครั้ง