ฤาวิกฤตอิหร่านจะกลับมาทำร้ายเงินดอลลาร์
นับตั้งแต่มีปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านในช่วง5-6ปีที่ผ่านมานับได้ว่าปีนี้ประเทศอิหร่านเจอวิบากกรรมหนักที่สุดจากมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงจากสหประชาชาติส่งผลอย่างสำคัญต่อระบบการค้าระหว่างประเทศและระบบเศรษฐกิจอิหร่าน
บรรดาบริษัทเอกชนและประเทศต่างๆแทบไม่มีช่องทางในการทำการค้ากับอิหร่านเลย
แต่อิหร่านก็ไม่ถึงกับสิ้นไร้ไม้ตอกทั้งหมด
การมีเสียงคัดค้านท่าทีของสหรัฐฯจากมหาอำนาจใหม่อย่างน้อยก็ทางเศรษฐกิจอย่างบราซิลและตุรกีดูจะทำให้อิหร่านพอมีช่องทางในการหายใจหายคอได้บ้าง
โดยเฉพาะตุรกีที่มีท่าทีที่ชัดเจนและคัดค้านอย่างรุนแรงและดูจะสร้างปัญหาไม่น้อยกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
เพราะประเทศตุรกีถือเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯในหมู่ประเทศโลกมุสลิม
และเป็นดุลอำนาจสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง
นอกจากนั้นอิหร่านก็ยังมีทรัพยากรน้ำมันอันอุดม
มีประชากรมากกว่า 70ล้านคน
เศรษฐกิจอิหร่านก็ยังพอมีช่องทางในการอยู่รอดได้บ้าง
แต่ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งและสามารถเชื่อมโยงมายังเรื่องการเงินได้ก็คือ
ความพยายามของอิหร่านในการค้าน้ำมันเป็นเงินตราสกุลอื่นๆที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์
ที่ผ่านมาอิหร่านดูเหมือนจะมีความคิดในการใช้เงินยูโรในการค้าน้ำมันกับประเทศต่างๆ
นอกจากนั้นแล้วธนาคารกลางอิหร่านก็มีการปรับท่าทีในเรื่องนี้ชัดเจนกว่าจากการปรับสัสดส่วนทุนสำรองมาเป็นเงินยูโรมากขึ้น
เพื่อลดอิทธิพลของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินและเศรษฐกิจอิหร่าน
ขณะเดียวกันก็เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าอิหร่านไม่คิดยอมรับเงินดอลลาร์เป็นเงินตราสกุลหลักของโลก
ไม่ยอมก้มหัวให้กับจักรวรรดินิยมอเมริกา
และเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ
ท่าทีของอิหร่านภายใต้ประธานาธบดีมาห์มุด
อาห์มาดิเนจาดสอดคล้องกับสหายอย่างนายฮูโก้
ชาเวซ ประธานาธบดีเวเนซูเอล่า
ผู้ซึ่งเคยประกาศก้องกลางที่ประชุมโอเปกเลยว่า
”จักรววรดิอเมริกาล่มสลายแล้ว”
ด้วยเหตุที่ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงอย่างหนักหลังจากที่วิกฤตการเงินโลกปะทุขึ้นในสหรัฐฯเมื่อปี2007และทั่วโลกเริ่มมีการโจษจันกันหนาหูถึงท่าทีของธนาคารกลางหลายๆประเทศที่อาจเทขายเงินดอลลาร์ทิ้งครั้งใหญ่
แต่วิกฤตการเงินในยุโรปเหมือนจะทำให้อิหร่านมีทางเลือกจำกัดอยู่พอสมควร
ทำให้ต้องมีการเทขายเงินยูโรและทองคำบางส่วนออกและยังถูกสหรัฐฯบีบคั้นในด้านการเงินมาก
แต่นั่นกลับยิ่งทำให้อิหร่านต้องเคลื่อนไหวมากกว่าเดิมเพื่อเอาตัวรอด
จนกระทั่งมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจออกมาจากทางฝั่งรัฐบาลเตะหราน
โดยอิหร่านนั้นได้มีการแอบเจรจากับบริษัทน้ำมันจีนถึงลู่ทางการใช้เงินหยวนซื้อน้ำมันจากอิหร่านในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
นอกจากนั้นอิหร่านก็จะใช้เงินหยวนนั้นซื้อเชื้อเพลิงและสินค้าจากจีนผ่านการทำธุรกรรมกับธนาคารของจีนซึ่งอิหร่านจะไปเปิดบัญชีเอาไว้
โดยเรื่องนี้ได้มีการหารือกันเบื้องต้นระหว่างทางการอิหร่านและผู้บริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างSinopecและที่ผ่านมาทั้ง2ประเทศก็มีการค้าและการลงทุนระหว่างกันอยู่พอสมควร
การใช้เงินหยวนในการค้าขายระหว่างกันจึงพอมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
ไม่ใช่แค่เท่านั้นอิหร่านยังคิดที่จะค้าขายกับตุรกีโดยใช้เงินตราสกุลท้องถิ่นของทั้ง2ประเทศด้วย
โดยเรื่องนี้ได้มีการเสนอจากทางฝั่งอิหร่านตั้งแต่ตุลาคม2009นอกจากนั้นอิหร่านยังถึงขั้นเสนอให้ใช้เงินเดอร์แฮมของUAEในการค้าน้ำมันในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
แต่ถูกทางการ UAEปฏิเสธอย่างทันควันโดยมองว่าเป็นเรื่องตลก
ขณะที่ข้อเสนอก่อนหน้านั้นยังไม่มีท่าทีการตอบรับอย่างชัดเจนจากทั้งฝั่งจีนและตุรกี
แต่สิ่งที่ไม่ได้เกิดในปัจจุบันก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดในอนาคต
ทั้งนี้มีนักคิดนักวิเคราะห์หลายคนทั้งในฟากตะวันตกและตะวันออกมองว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เงินดอลลาร์เป็นที่ต้องการในตลาดเป็นอย่างมากก็เนื่องมาจากการที่ทั่วโลกต้องมีการซื้อหาน้ำมันมาใช้ทุกวัน
และราคาน้ำมันก็ตั้งกันในสกุลเงินดอลลาร์เท่านั้นไม่มีสกุลอื่นเลยไม่ว่าจะซื้อน้ำมันจากส่วนไหนของโลก
แต่ทุกวันนี้ทั้งราคาน้ำมันและค่าเงินดอลลาร์ต่างมีความผันผวนที่สูงมาก
การที่มีความพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพในระดับหนึ่งในตลาดค้าน้ำมันย่อมเป็นที่พึงประสงค์ของทุกฝ่าย
ปัจจุบันประเทศจีนเองก็กำลังทำการทดลองทางการเงินครั้งใหญ่ซึ่งมีผลอย่างสำคัญต่อความเป็นไปของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต
โดยนับแต่วันที่ 19มิถุนายน2010ที่ทางการจีนประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ที่ทำตั้งแต่ช่วงกลางปี2008เพื่อช่วยการส่งออกแล้วเปลี่ยนมาให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ค่าเงินหยวนก็ค่อยๆแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันทางการจีนก็มีการเปิดเกมรุกอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มช่องทางในการใช้เงินหยวนในต่างแดนผ่านการค้า
ระบบธนาคาร ตลาดเงิน และ
ตลาดทุน
พร้อมทั้งขยายการเชื่อมโยงเซี่ยงไฮ้กับโลกการเงินภายนอกมากขึ้น
โดยสิ่งที่น่าสนใจล่าสุดก็คือ
การที่ทางการจีนอนุญาตให้ธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศสามารถนำเงินหยวนนอกประเทศจีนกลับมาลงทุนที่ตลาดพันธบัตรจีนได้
และการอนุญาตให้เงินหยวนซื้อขายโดยตรงกับเงินริงกิตมาเลเซียได้และอาจเปิดช่องกับเงินตราสกุลอื่นๆในอนาคต
ช่องทางที่เปิดกว้างมากขึ้นของเงินหยวนในปัจจุบันนี้จีนได้เริ่มต้นที่ประเทศที่ใกล้เคียงและมีการเชื่อมโยงกับระบบธนาคารและตลาดทุนของจีนในฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
หลังจากที่จีนได้เริ่มจากธุรกรรมในภาคการค้าก่อน
แม้ทุกอย่างจะอยู่ในขั้นทดลองแต่เชื่อว่าจะมีความสนใจจากภาครัฐและเอกชนทั่วโลกในการใช้เงินหยวนมากขึ้น
และอิหร่านเองในแง่นี้ก็เหมาะที่จะเข้ามาอยู่ในการทดลองเบื้องต้นของจีน
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆในตะวันออกกลางยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯอยู่มากไม่ว่าจะเป็นในด้านความมั่นคงและด้านการเงินซึ่งต่างคนต่างผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์
หรือบางกรณีอย่าง UAEนั้นแม้แต่ทุนสำรองของประเทศก็เป็นดอลลาร์ทั้งหมด
การจะไปตกลงกับประเทศเหล่านี้ให้ลองมาหาเงินหยวนคงเป็นเรื่องที่ยากเอาการ
แต่นั่นไม่ยากเลยสำหรับอิหร่านเพราะเป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอมาด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางการจีนจะตอบรับในเร็ววันหรือไม่
และจะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร
และแม้ทางการจีนจะปฏิเสธเรื่องการทดลองค้าขายกับอิหร่านในรูปเงินหยวนแต่ด้วยความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนที่มากขึ้นของจีนกับบรรดาประเทศโลกมุสลิมในเอเชียและแอฟริกาก็เชื่อได้เลยว่าจีนคงใช้ช่องว่างด้านความสัมพันธ์ที่อเมริกามีกับประเทศอื่นๆ(แม้จะไม่หนักหนาเหมือนอิหร่าน)ใช้เงินหยวนแทรกเข้าไปแข่งอิทธิพลกับเงินดอลลาร์ในอนาคตอย่างแน่นอน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1873 ครั้ง