อินโดนีเซียเรียกร้องชดเชยค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัทลูกของ ปตท.สผ.กว่า 3.6 หมื่นล้าน เหตุน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะในทะเลติมอร์เมื่อปีที่แล้ว ครอบคลุมพื้นที่ 9 หมื่น ตร.กม. กระทบวิถีชีวิตชาวประมงกว่า 1.8 หมื่นคน สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานอ้าง นายเฟรดดี นัมเบริ รัฐมนตรีคมนาคม อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ว่าทางการอินโดนีเซียยื่นเรื่องเรียกร้องเงินชดเชยค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมมูลค่ามากกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท จากเหตุน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะของบริษัทลูกของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย
นายนัมเบริ ระบุว่า เงินชดเชยจำนวนดังกล่าวถือเป็นจำนวนที่มากพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ คณะตัวแทนรัฐบาลอินโดนีเซียแจ้งข้อเรียกร้องดังกล่าวระหว่างเข้าเจรจากับบริษัท ปตท.ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท.สผ. ในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ในวันเดียวกัน
นายนัมเบริ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะตัวแทนที่จะเข้าร่วมเจรจาที่เมืองเพิร์ธ กล่าวว่า มีข้อมูลอย่างละเอียดมาสนับสนุนการเรียกเงินชดเชยก้อนนี้ ท่ามกลางคำถามที่ว่า ความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเล และการประมงที่เกิดจากเหตุน้ำมันรั่วเมื่อปีที่แล้ว สามารถพิสูจน์ได้จริงหรือไม่
นายอานนท์ สิริแสงทักษิณ ประธานบริหาร บริษัท ปตท.สผ.กล่าวว่า พีทีที ออสเตรเซีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ.ยังไม่ได้รับหนังสือเรียกร้องค่าชดเชยดังกล่าวจากรัฐบาลอินโดนีเซีย
“จำนวนเงินชดเชยยังไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้ เราต้องตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อตรวจสอบว่าเกิดผลกระทบจริงหรือไม่ และเราพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในจุดนั้น” นายอานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ การรั่วไหลของน้ำมันดิบในทะเลติมอร์ ซึ่งเรียกกันว่า “เหตุน้ำมันรั่วมอนทารา” ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม-3 พฤศจิกายน 2552 นับเป็นเหตุน้ำมันรั่วครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย โดยหลักฐานที่ส่งไปยังคณะกรรมการสอบสวน แสดงให้เห็นว่า คราบน้ำมันมอนทาราแพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ 9 หมื่นตารางกิโลเมตร และเข้ามาในน่านน้ำของอินโดนีเซีย ตามรายงานของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ
มูลนิธิดูแลรักษาติมอร์ตะวันตก ซึ่งให้ความช่วยเหลือชาวประมงยากจนทางตะวันออกของอินโดนีเซียประเมินว่า น้ำมันที่รั่วไหลส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงกว่า 1.8 หมื่นคน รวมถึงฟาร์มสาหร่ายและฟาร์มหอยมุกในบริเวณดังกล่าวด้วย
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1583 ครั้ง