เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติเอกฉันท์ ยกคำร้อง กรณีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวม 148 คน ได้เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภามีมติถอดถอน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง และประธานวุฒิสภา ได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง รวม 2 ข้อกล่าวหา คือ จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้และมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติโดยไม่ได้ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่มอบให้บุคคลอื่นครอบครองแทน คือ
1.ที่ดินและบ้านศรียะลา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา
2.ที่ดินและบ้านอาจารย์ในโบนันซ่า อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
3.บ้านและที่ดินถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
4. ห้องชุด จำนวน 4 ห้อง “ริมหาดจอมเทียน คอนโดมิเนียม”
5. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเก๋งสองตอน ยี่ห้อ BENZ รุ่น S320L V140
6. ไม่แสดงหุ้นบริษัท ออฟเซ็ท เพรส จำกัด จำนวน 1,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท
7. เงินฝากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 10 ล้านบาท
8.เงินฝากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 415,919.89 บาท
9.มีเงินฝากธนาคารอาคารสงคราะห์ เลขที่บัญชี 017-21-000339-5 โดยให้นางกมลมาลย์ หรือชลธิชา หรือกรองแก้ว วัฒนาทร มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีได้ถอนเงินและปิดบัญชีแล้ว
10. ที่ดินพร้อมบ้านสิ่งปลูกสร้างตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
เหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ยกคำร้องขอให้ถอดถอน นายวันมูหะมัดนอร์ ไม่ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันเกี่ยวข้องบ่งบอกว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของนายวันมูหะมัดนอร์ ที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองดูแลของ นายสุลัยมาลย์ วงษ์พานิช, นายอาซิ กะโด, นางรสนา ฤกษ์มณีรัตน์, นางกมลมาลย์ หรือชลธิชา หรือกรองแก้ว วัฒนาทร และนายกิตติศักดิ์ วัฒนาทร ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่า นายวันมูหะมัดนอร์ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
เมื่อพิจารณาเห็นว่า ทรัพย์สินตามข้อกล่าวหาและทรัพย์สินที่ตรวจพบเพิ่มเติม ทั้งหมด ไม่ได้เป็นทรัพย์สินของนายวันมูหะมัดนอร์มะทา ที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลต่าง ๆ ข้างต้น นายวันมูหะมัดนอร์ จึงไม่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติตามข้อกล่าวหา
กรณีทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของนายกิตติศักดิ์ วัฒนาทร มีทั้งหมด 12 รายการ ในจำนวนนี้ 4 รายการเป็นบัญชีเงินฝาก 4 บัญชี วงเงินหมุนเวียน ตั้งแต่ปี 2539-2544 รวม 188 ล้านบาท
1.เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานผ่านฟ้า ประเภทออมทรัพย์ เลขที่ 169-0-474315 มียอดเงินฝากเข้าตั้งแต่เปิดบัญชีจนถึงเดือนธันวาคม 2544 ดังนี้
ปี 2539 จำนวน 88,935,773 บาท
ปี 2540 จำนวน 17,568,821 บาท
ปี 2541 จำนวน 18,577,600 บาท
ปี 2542 จำนวน 24,282,642 บาท
ปี 2543 จำนวน 31,112,676 บาท
ปี 2544 จำนวน 1,900,000 บาท
รวม 182,377,512 บาท
2.บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 169-3-05640-8สาขาสะพานผ่านฟ้า ประเภทกระแสรายวัน เปิดบัญชีเพื่อใช้เช็ค
3.บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยรัฐสภา ประเภทออมทรัพย์เลขที่ 086-1-01948-0 ฝากด้วยเงินสดจำนวน 500,000 บาท เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2541 มียอดฝากทั้งสิ้นถึงวันที่ 1 กันยายน 2546 จำนวน 6,591,768 บาท
4.บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 165-4-92117-8 สาขารังสิต เปิดบัญชีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 ด้วยเงินสด 500 บาท มีฝาก-ถอน 2 รายการ จำนวนเงินสูงสุดที่นำฝาก 38,800 บาท ด้านถอน 39,000 บาท ปิดบัญชีแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2546
รายการเงินฝากหมายเลข 1 ในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขา สะพานผ่านฟ้า เลขที่บัญชี 169-0-474315 จากการไต่สวนพยานบุคคลและเอกสารฟังได้ว่า เป็นบัญชีเงินที่บริจาคให้พรรคความหวังใหม่ และนำมาใช้ในกิจการต่าง ๆ ของพรรค อาทิ เงินค่าใช้จ่ายของ ส.ส. ในเรื่องต่าง ๆ ทั้งหมด เช่น ค่าทำป้ายโฆษณา ค่าดูแลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีเหตุผลและหลักฐานดังนี้
1. จากการให้ถ้อยคำของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ยืนยันว่า บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีพิเศษของพรรคความหวังใหม่ ซึ่งมีผู้บริจาคมา เงินในบัญชีเป็นเงินใช้ในกิจกรรมทางการเมืองของพรรค พรรคความหวังใหม่ได้แบ่งกันดูแลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้บุคคลสำคัญของพรรครับผิดชอบ เช่น นายสุขวิช รังสิตพล นายเสนาะ เทียนทอง นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร นายวันมูหะมัดนอร์ และตัวพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เอง โดยพลเอก ชวลิต จะรับผิดชอบทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน
ส่วนนายวันมูหะมัดนอร์ จะรับผิดชอบส่วนใหญ่ทางภาคใต้ ในส่วนของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และนายวันมูหะมัดนอร์ จะใช้เงินจากบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานผ่านฟ้า ดังกล่าว เงินในบัญชีนี้ จะมอบให้นายกิตติศักดิ์ฯ เป็นผู้ดำเนินการใช้จ่ายและรายงานให้ทราบ แต่ขณะนี้ไม่สามารถจะหาพยานหลักฐานได้ เพราะพรรคความหวังใหม่ได้เลิกพรรคไปนานแล้ว
2. จากการสอบปากคำรองผู้อำนวยการพรรคความหวังใหม่ ในระหว่าง พ.ศ.2536 – 2544 ได้ให้ถ้อยคำยืนยันสอดคล้องกับพลเอก ชวลิตฯ โดยให้ถ้อยคำว่า นายกิตติศักดิ์ฯ เข้ามาช่วยงานพรรคโดยไม่มีตำแหน่ง แต่ได้รับความไว้วางใจจากพลเอก ชวลิตฯ ให้เป็นผู้ดูแลจ่ายเงินให้แก่ ส.ส. ในเขตภาคใต้ และ ส.ส.ภาคอื่น ตามคำสั่งของพลเอก ชวลิตฯ โดยนายกิตติศักดิ์ฯ จะเปิดบัญชีธนาคารไว้ใช้จ่ายในการรับ-จ่ายเงินให้แก่ ส.ส. เงินดังกล่าวจะมีผู้บริจาคให้โดยทั้งประสงค์และไม่ประสงค์จะออกนาม เป็นเงินจำนวนหลายสิบล้านบาท ผู้ให้ถ้อยคำไม่ได้ดูแลการใช้จ่ายเงินจำนวนนี้โดยตรงเป็นแต่เพียงทำหน้าที่เสนอเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อกิจการพรรค และทราบว่าพลเอก ชวลิตฯ ยังมอบหมายให้คนอื่นเปิดบัญชีเงินฝากไว้ในลักษณะเดียวกับนายกิตติศักดิ์ฯ อีกด้วย
ในการจ่ายเงินสนับสนุนผู้สมัครแต่ละรายในพรรค จะแบ่งผู้สมัครเป็นเกรดต่าง ๆ คือเกรดเอ หมายถึง ส.ส.เดิม เกรดบี คือบุคคลที่เป็น ส.ส. แต่สอบตก เกรดซี คือบุคคลที่ไม่เคยสมัครมาก่อน การสนับสนุนจะอยู่ที่ผู้นั้นอยู่ในเกรดใด ซึ่งจะขึ้นกับผลการสำรวจที่พรรคจ้างสถาบันการศึกษา ผู้ใดมีแนวโน้มจะได้รับการเลือกตั้ง ก็จะได้รับเงินสนับสนุนสูง
นอกจากนั้น ผู้ให้ถ้อยคำก็ยังยืนยันหลักฐานใบเบิกเงินของตนที่ได้รับจากนายกิตติศักดิ์ฯ เป็นค่าจัดทำโปสเตอร์ แผ่นพีพีบอร์ดให้กับ ส.ส. เขตภาคใต้ตอนบน โดยตนได้ร่วมกับนายกิตติศักดิ์ฯ รับจ้าง ส.ส. พรรคเป็นการส่วนตัว รับจัดหาเต้นท์ เสื้อ วัสดุ โปสเตอร์ คัดเอ๊าท์ สติ๊กเกอร์ พีพีบอร์ดและเครื่องใช้สอยในการดำเนินการทางการเมืองของ ส.ส. จากงบประมาณพัฒนาจังหวัด และงบสนับสนุนพรรค ซึ่งกิจการดังกล่าว นายกิตติศักดิ์ฯ จะได้กำไรประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
3. จากการตรวจสอบรายการเงินที่นำเข้าฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า เลขที่ 169-3-05640-8 พบว่า มีเงินเข้าตั้งแต่ พ.ศ.2539 ถึง พ.ศ.2544 จำนวน 182,377,512 บาท แต่จากการตรวจสอบรายการของเงินที่นำเข้ามาฝาก พบว่า มีข้อเท็จจริงที่สอดรับว่าเป็นเงินของพรรค กล่าวคือ
1)ก่อนการเลือกตั้ง 17 พฤศจิกายน 2539
1.1 วันที่ 23 เมษายน 2539 มีผู้บริจาค 10,000,000 บาท จ่ายถึง วันที่ 31 กรกฎาคม 2539 ประมาณ 8,000,000 บาท เหลือในบัญชี 2,000,000 บาท
1.2 ระหว่างเดือนสิงหาคม 2539 – เดือนตุลาคม 2539 มีผู้บริจาคเพิ่มหลายราย รวมประมาณ 50,000,000 บาท จ่ายถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2539 ประมาณ 22,000,000 บาท เหลือในบัญชี 30,000,000 บาท
1.3 ระหว่างวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2539 มีผู้บริจาคเพิ่ม 27,000,000 บาท จ่ายถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2539 รวม 43,000,000 บาท เหลือในบัญชี 14,000,000 บาท ซึ่งไม่รวมเช็คจ่ายล่วงหน้าและก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนการเลือกตั้ง
2)หลังการเลือกตั้งถึงต้นปี 2540 หลังการเลือกตั้งวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 ไม่มีผู้บริจาค มีแต่ค่าใช้จ่าย มีหนี้ผูกพันสืบเนื่อง ทั้งของพรรคและของ ส.ส. รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนกิจกรรมของ ส.ส. ก่อนและหลังปีใหม่บางรายการ มีการจ่ายค่าสิ่งของ สั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าจนถึง 20 มกราคม 2540 มีเงินเหลือในบัญชีประมาณ 500,000 บาท (ยอด ณ 20 มกราคม 2540)
3)ในช่วงปี 2540-2543 มีเงินฝากเข้ามาในบัญชีอีก ประมาณ 90 ล้านบาท ปรากฏว่าได้มีการจ่ายเงินออกไป ยอดบัญชี ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 มีเงินเหลือเพียง 1,075,290.25 บาท
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม 2544 มีเงินบริจาคพรรคเข้ามาในช่วงเดือนธันวาคม 2543 เป็นเงิน 3,100,000 บาท ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2543 มียอดคงเหลือเพียง 167,444.95 บาท และในวันที่ 10 พฤษภาคม 2544 มีเงินบริจาคเข้ามา 1,400,000 บาท ก็ได้มีการถอนออกไป ในวันที่ 20 สิงหาคม 2544 เหลือเพียง 20,288.07 บาท เท่านั้น
จากการตรวจสอบเส้นทางของเงิน จะเห็นได้ว่าจะมีเงินเข้ามาก่อนการเลือกตั้งและถูกใช้จ่ายหมดไปหลังเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่มีเงินส่วนใดที่เก็บรักษาไว้หรือซุกซ่อนเป็นเวลานาน ๆ
4) จากการตรวจเอกสารพบว่ามีการจ่ายเงินในบัญชีดังกล่าวให้แก่ ส.ส. และจ่ายให้ แก่บุคคลอื่นเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้มีสำเนาต้นขั้วเช็ค มีหลักฐานการลงลายมือชื่อผู้รับเงิน โดยนายกิตติศักดิ์ฯ เป็นผู้ลงลายมือชื่อจ่ายเงิน ซึ่งจากการสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ให้ถ้อยคำสอดคล้องตรงกันและรับว่าเป็นลายมือชื่อของตนและได้รับเงินจริง
5) มีหลักฐานทางบัญชีปรากฏลายมือชื่อหรือเอกสารที่ยืนยันว่าเป็นผู้ให้เงินในบางรายการ เมื่อสอบบุคคลดังกล่าวได้ให้ถ้อยคำรับว่าเงินที่นำฝากเข้าบัญชีดังกล่าวเป็นเงินที่ตนบริจาคให้พรรคความหวังใหม่
6) การรับ-จ่ายเงินในบัญชีนี้มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะตามสถานการณ์ทางการเมือง เงินเข้าออกส่วนใหญ่จะอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ใช้บังคับและไม่มีส่วนใดที่ปรากฏว่ามีการโอนเข้า-ออกที่เกี่ยวข้องในทางส่วนตัวกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แต่อย่างใด ืดังนั้น จึงฟังได้ว่าเงินในบัญชีนี้มิได้เป็นเงินที่นายวันมูหะมัดนอร์ ซุกซ่อนเก็บไว้ในความครอบครองของนายกิตติศักดิ์ วัฒนาทร
สำหรับเงินฝากในบัญชีเลขที่ 169-3-05640-8 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานผ่านฟ้า ประเภทกระแสรายวัน เป็นบัญชีที่เปิดขึ้นเพื่อจ่ายเป็นเช็คโดยคู่กับบัญชีเลขที่ 169-0-47431-5 ประเภทออมทรัพย์ ไม่มีเงินฝากจริงในบัญชีนี้
ส่วนบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยรัฐสภา เลขที่ 086-1-01948-0 เป็นบัญชีเงินสดย่อยที่โยงมาจากบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า เพื่อความสะดวกในการสนับสนุน ส.ส. และกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งได้มีเอกสารเท่าที่หาได้มายืนยันประกอบด้วย
5. ที่ดินและบ้านในโครงการโบนันซ่า แรนซ์ นั้น ได้ทำสัญญาจะซื้อขายเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 ราคา 2,000,000 บาท ชำระด้วยเช็คเงินสด 1,000,000 บาท และผ่อนชำระอีก 5 ครั้ง ได้รับโอนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2544 โดยยืมเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า ออกเป็นเช็คเลขที่ 1787353 ส่วนที่เหลือได้ผ่อนชำระเป็นเงินสด หมุนเวียนจากรายได้ในแต่ละช่วง ปัจจุบันยังถือกรรมสิทธิ์อยู่ สาเหตุในช่วงแรกที่ติดป้ายว่า “บ้านอาจารย์วัน” เนื่องจากเจ้าของโครงการคือ นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ อดีตรองเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ต้องการโฆษณาโครงการ ซึ่งไม่มีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
6. ห้องชุดริมหาดจอมเทียน คอนโดมิเนียม ได้ซื้อมาในราคา 1,600,000 บาท เพื่อเก็งกำไรร่วมกับนางกมลมาลย์ฯ (มารดา) โดยชำระเงินสดงวดแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2541 จำนวน 400,000 บาท และชำระส่วนที่เหลือโดยนำเงินบางส่วนถอนมาจากธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า บางส่วนเป็นเงินของตัวเองและได้ขายไปเป็นเงิน 3,000,000 บาท เมื่อ พ.ศ.2548 จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่ยืนยันเกี่ยวข้องกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แต่อย่างใด
7. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ยี่ห้อโตโยต้า เลขทะเบียน 4ค 39 นนทบุรี ซื้อมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2538 ราคา 260,000 บาท รถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน เลขทะเบียน บจ 3234 นนทบุรี ซื้อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2540 ราคา 220,000 บาท
8. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน เก๋งสองตอน ยี่ห้อโตโยต้า เลขทะเบียน จ 9456 นนทบุรี ซื้อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2539 ราคา 670,000 บาท
9. รถยนต์นั่งสองตอนยี่ห้อโตโยต้า เลขทะเบียน กธ 676 นนทบุรี ซื้อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2544 ราคา 200,000 บาท
10. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ลักษณะรถยนต์กระบะบรรทุก ยี่ห้อ NISSANแบบ AAVARFF10SHA M เลขทะเบียน บจ 3234 นนทบุรี ซื้อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2537
รถยนต์ทั้ง 4 คัน นายกิตติศักดิ์ฯ ยืนยันว่าได้ซื้อมาจากเงินของตน เพื่อประกอบอาชีพในการทำงาน และปัจจุบันได้ขายไปแล้ว 3 คัน ยังใช้อยู่คันเดียวคือ รถกระบะนิสสัน เลขทะเบียน บจ 3234 นนทบุรี
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า รถทั้ง 4 คัน ได้ซื้อมาในระยะเวลาต่างกันคือ พ.ศ. 2539 จำนวน 2 คัน พ.ศ. 2540 จำนวน 1 คัน และ พ.ศ. 2544 จำนวน 1 คัน แต่ละคันราคาไม่สูงนัก อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่าเป็นของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จึงเชื่อว่าไม่ได้เป็นทรัพย์สินของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองของนายกิตติศักดิ์ฯ
11. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเก๋งสองตอน ยี่ห้อ BENZ รุ่น S320L V140 หมายเลขทะเบียน 3ษ 4290 กรุงเทพมหานคร ซื้อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 ราคาประมาณ 4 ล้านบาทเศษเป็นรถที่ซื้อมาเพื่อใช้ในกิจการของพรรค ใช้รับแขกต่างประเทศ ใช้เป็นพาหนะเดินทางของผู้ใหญ่ในพรรค ใช้เงินจากบัญชีของพรรคที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า เมื่อยุบพรรคความหวังใหม่ ก็มิได้โอนไปรวมกับพรรคไทยรักไทย เพราะไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนของพรรค รถคันนี้ได้ขายไปเมื่อ พ.ศ. 2550 ในราคา 800,000 บาท
12. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ลักษณะตู้นั่งสามตอน ยี่ห้อ VOLKSWAGEN แบบ CARAVELLE เลขทะเบียน อร 7070 กรุงเทพมหานคร ซื้อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2543 ราคาประมาณ1,800,000 บาท เป็นรถที่ซื้อมาเพื่อใช้ในกิจการของพรรค ใช้รับแขกต่างประเทศ ใช้เป็นพาหนะเดินทางของผู้ใหญ่ในพรรค ใช้เงินจากบัญชีของพรรคที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า เมื่อยุบพรรคความหวังใหม่ รถคันดังกล่าวนี้ก็มิได้อยู่ในบัญชีทะเบียนทรัพย์สินของพรรคแต่อย่างใด ยังอยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายกิตติศักดิ์ฯ
เกี่ยวกับฐานะทางการเงินของนายกิตติศักดิ์ฯ จากการไต่สวนนอกจากนายกิตติศักดิ์ฯ จะทำงานด้านรับเหมาก่อสร้างและขายผลิตผลทางเกษตรแล้ว นายกิตติศักดิ์ฯ ยังได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับกลุ่มนักการเมืองโดยจัดหาสิ่งของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กลุ่มผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และของพรรคความหวังใหม่ เช่น เสื้อยืด เสื้อแจ๊คเก็ต เสื้อเชิ้ต หมวกกระเป๋า ปากกา นาฬิกา อุปกรณ์กีฬา เต๊นท์ โต๊ะ เก้าอี้ ปฏิทินปีใหม่ แผ่นทึบ โปสเตอร์หาเสียง และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยสร้างความนิยมทางการเมือง โดยรับจ้างทำจากงบสนับสนุน ส.ส. จากงบที่พรรคให้ความช่วยเหลือ ส.ส. ซึ่งมีพยานที่ร่วมดำเนินการกับนายกิตติศักดิ์ฯ มายืนยันและมีเอกสารที่นำมาแสดงระบุว่าได้มีการจ่ายเงินนั้นจริง
ในปัจจุบัน นายกิตติศักดิ์ฯ ได้ทำธุรกิจหลายอย่างคือ
1. รองประธานฝ่ายบริหาร โครงการบ้านนิศาชลดรีมวัลเล่ย์ ปิ่นเกล้า
2. กรรมการบริหารบริษัท ก.วัฒนาทร จำกัด
3. หุ้นส่วนผู้จัดการและเจ้าของ หจก.บิลดิงแอนด์พูล
4. วิศวกรที่ปรึกษาบริษัทยุทธาพรก่อสร้าง จำกัด
มีเงินฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนกาญจนาภิเษก บัญชีเลขที่ 131-2-16226-9 ประเภทออมทรัพย์ ซึ่งเปิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นเงินประมาณ 13 ล้านบาทเศษ เป็นเงินในการบริหารจัดการโครงการหมู่บ้านนิศาชลดรีมวัลเล่ย์ ปิ่นเกล้า ซึ่งมีรายการรับและจ่ายเงิน และมีรายการเงินกู้จากธนาคารเกียรตินาคิน เบิกค่าก่อสร้างและมีรายรับจากการขายบ้านบัญชีเงินฝากในธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนกาญจนาภิเษก เลขที่ 131-2-12039-8 ประเภทออมทรัพย์ เปิดบัญชีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2547 เป็นบัญชีรับจ่ายใน หจก.บิลดิงแอนด์พูล และโครงการบ้านนิศาชลดรีมวัลเล่ย์ ปิ่นเกล้า และกิจการอื่นๆ มีรายการรับและถอนเงินจำนวนนับสิบล้านบาท
นอกจากนี้ ในช่วงปี พ.ศ.2547 ได้ซื้อหุ้นบริษัทโซล่าตรอน จำกัด (มหาชน) ของนายไพวงษ์ฯ จำนวน 4 ล้านหุ้น ในราคา 6 ล้านบาท หลังจากบริษัทฯ ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2549 ได้ทยอยขายหุ้นผ่านทางบริษัทโบรคเกอร์ ได้โอนเงินเข้าบัญชีในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2550 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 31.7 ล้านบาท
การตรวจสอบในเรื่องนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบถึงทรัพย์สินต่าง ๆ เพิ่มเติมจากที่ร้องเรียน ได้ตรวจเอกสารซึ่งเป็นเอกสารที่รับฟังได้และสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวม 31 คน ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะฟังได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของนายวันมูหะมัดนอร์ อีกทั้งทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่บุคคลต่าง ๆ ครอบครองนั้น เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนวันที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 และก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องนำทรัพย์สินต่าง ๆ ไปซุกซ่อนไว้กับบุคคลต่าง ๆ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรให้ยกคำร้อง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1281 ครั้ง