รูปภาพ : นายกุยโด้ มันเตก้า (Guido Mantega) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบราซิล ที่มา : Bloomberg
นายกุยโด้ มันเตก้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบราซิลกล่าววานนี้ (27 กันยายน 2010) ว่า โลกกำลังตกอยู่ใน “สงครามค่าเงินระหว่างประเทศ” (International Currency War) เนื่องจากรัฐบาลประเทศต่างๆพยายามเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อรักาความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกของตัวเอง
สุนทรพจน์ของนายมันเตก้าที่มีต่อผู้นำภาคอุตสาหกรรมของบราซิลรวมถึงข้อวิจารณ์บางส่วนที่มีน้ำหนักมากที่สุดจนถึงขณะนี้โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องการแข่งกันแทรกแซงค่าเงินโดยประเทศต่างๆซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นและจีน
เงินเรียล สกุลเงินของบราซิลในขณะนี้คือ สกุลเงินที่มีค่าสูงเกินจริงมากที่สุดในโลกในบรรดาเงินตราสกุลใหญ่ต่างๆ จากการประเมินของโกลด์แมน แซคส์
แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 10 เดือนเทียบกับเงินดอลลาร์ เงินเรียลยังคงวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากการออกมาวิจารณ์ของมันเตก้า เนื่องจากบรรดานักค้าเงินเก็งว่า รัฐบาลอาจจะกำลังรอผลลัพธ์ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลในวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคมที่กำลังจะถึงนี้ ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆต่อไป
“เราอยู่ท่ามกลางสงครามค่าเงินระหว่างประเทศ” นายมันเตก้ากล่าว “นี่เป็นภัยคุกคามต่อเราเพราะมันลดความสามารถในการแข่งขันของเรา”
ด้วยบางประเทศยังคงต้องพยายามถอยหนีจากวิกฤตการเงินโลกอยู่ หลายๆประเทศจึงยังคงพยายามที่จะลดค่าเงินตัวเองเพื่อกระตุ้นการส่งออกและช่วยให้ดุลการค้าดีขึ้น
การแทรกแซงค่าเงินน่าจะเป็นประเด็นความขัดแย้งที่ร้อนแรงในการประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอมเอฟคราวหน้าที่กรุงวอชิงตันดีซีระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2010
ญี่ปุ่น โคลัมเบีย ประเทศไทย และ ประเทศอื่นๆต่างพยายามที่จะลดค่าเงินตัวเองเพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย
อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วก็เป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนโยกเงินเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงในประเทศต่างๆเช่น บราซิล เป็นเหตุให้มีการโอดครวญกันมากกว่าเดิมจากการที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้น
“ประเทศพัฒนาแล้วกำลังคิดลดค่าเงินตัวเอง” นายมันเตก้ากล้าว โดยระบุถึงประเทศสหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ในบริบทที่เขาวาดให้เห็นถึงการแข่งขันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น
นายมันเตก้ายังคงมีความพยายามที่จะพูดข่มไม่ให้ค่าเงินเรียลแข็งค่าขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลบราซิลได้ขู่ที่จะใช้กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติไล่ซื้อดอลลาร์
แต่รัฐบาลบราซิลก็ไม่กล้าที่จะออกตัวด้วยมาตรการที่จริงจัง และนักค้าเงินก็ไล่ค่าเงินบราซิลขึ้นไปใกล้ระดับ 1.70 เรียลต่อดอลลาร์ ซึ่งบางคนมองว่า ณ ระดับนี้อาจเห็นมาตรการใหม่ๆจากรัฐบาลที่เข้มข้นกว่าเดิม
ข่าวการเสนอขายหุ้นของบริษัทน้ำมันรัฐบาลที่ชื่อ เปโตรบราส ซึ่งคาดว่าจะมีการระดมเงินสูงกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ มีส่วนทำให้มีเงินดอลลาร์มหาศาลไหลเข้าบราซิล ซึ่งขณะนี้บราซิลเป็นที่สนใจของนักลงทุนมากเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงและเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟู
นายมันเตก้ากล่าวอีกว่า บราซิลยังคงมีคลังกระสุนมากพอที่จะทำให้เงินเรียลอ่อนค่าลงได้ อย่างไรก็ตามเขาปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด นายมันเตก้ากล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่ได้กำลังพิจารณาการเพิ่มภาษีสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศแต่กล่าวว่า รัฐบาลได้ใช้มาตรการควบคุมเช่นนี้มาแล้วเพื่อคุมไม่ให้เงินเรียลแข็งค่ามากไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา
มาตรการอื่นๆเพิ่มเติม?
การออกมาพูดในครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลบราซิลอาจมีความพยามที่จะทำให้เงินเรียลอ่อนค่าอีกครั้งหนึ่ง นายราฟาเอล มาร์เตลโล่ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา เทนเดนซิอาส คอนซัลแตนซี่ (Tendencias consultancy) ในกรุงเซาเปาโลระบุ
“เขาอาจกำลังเตรียมแนวทางสำหรับการแทรกแซงที่หนักกว่าเดิม ตั้งแต่ญี่ปุ่นแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน มันทำให้ประเทศอื่นๆมีเหตุผลในการที่ต้องทำอะไรสักอย่าง” นายมาร์เตลโล่กล่าว
ด้านนายโทนี่ วอลพอน (Tony Volpon) หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดเกิดใหม่สำหรับทวีปอเมริกาจากบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ กล่าวว่า การออกมาพูดของนายมันเตก้าสามารถตีความง่ายๆได้ว่าเป็น “คำขู่ที่เขาหวังว่าจะไม่ต้องทำอะไรตามที่พูดเอาไว้”
รัฐบาลญี่ปุ่นแทรกแซงค่าเงินโดยการเทขายเงินเยนเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ถือเป็นการแทรกแซงตลาดครั้งแรกนับแต่เดือนมีนาคม 2004
ขณะเดียวกันสหรัฐฯประกาศที่จะเดินหน้ากดดันจีนในเรื่องค่าเงินต่อไป ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายๆคนมองว่า เงินหยวนยังต่ำเกินจริง
ที่มา ข่าว Real Time จากโปรแกรม Reuters 3000 Xtra
ไอดีข่าว nN27256208
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1640 ครั้ง