ฝ่ายความมั่นคงคุมเข้มทั่วกรุง ตั้งด่วน 200 จุดตรวจพวกป่วนเมือง หลังมีระเบิดป่วนกรุง ด้านเลขาธิการศาลเตือนผู้พิพากษาอย่าประมาท
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกของการตั้งด่านทั่วกรุงเทพมหานคร 200 จุด และอาจมีการต้องเพิ่มด่านตรวจให้มากขึ้นอีก หลังจากที่เกิดเหตุ ลอบวางระเบิดศาลฎีกา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร ถือว่าสถานกาณ์ไม่ปกติ โดยทางด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งเช้านี้ แต่ตนมั่นใจตำรวจจะรับมือได้ และยังไม่ถึงเวลาประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ส่วนแนวโน้มความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจำเป็น ต้องประสานผู้พิพากษา ขอให้ย้ายสถานที่การตัดสินคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปศาลแห่งอื่นแทนหรือไม่ รศ.ดร.ปณิธาน ระบุว่า ยังไม่ต้อง เพราะขณะนี้ทางศาลมีมาตราการดูแลอย่างเข้มงวด และทางรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยบุคคลสำคัญให้อยู่แล้ว
รศ.ดร.ปณิธาน บอกด้วยว่า สำหรับกระแสข่าว ในกรุงเทพยังมี 8 จุดอันตราย ที่อาจจะเกิดความรุนแรง อาทิย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระที่อนันตสมาคม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตรงนี้ทางสันติบาลได้มีการเข้าตรวจสอบและเฝ้าระวังอยู่ ประกอบกับการตั้งจุดตรวจหลายแห่งจะลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้
ส่วน บรรยากาศ บริเวณทำเนียบรัฐบาล ในเช้าวันนี้ (15ก.พ.) ภายหลังที่มีการยิงปืนตกไปภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร ฝั่งตรงข้ามกับทำเนียบรัฐบาล และการวางระเบิดที่ข้างศาลฎีกา วานนี้ ทุกอย่างยังคงเป็นปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและสารวัตรทหาร ตรวจรถเข้าออกทุกคัน อย่างเข้มงวด ซึ่งต้องติดตามว่า จะมีการปรับกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะ นายกรัฐมนตรี หรือไม่ รวมทั้ง การจัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้กับ สถานที่ราชการ ตามที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ระบุไว้วันนี้
สำหรับบรรยากาศ การรักษาความปลอดภัย บริเวณบ้านพักของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยทั่วไป ยังคงปกติมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือปืน M16 สนธิกำลังร่วมกับ สารวัตรทหาร รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ตามแยกต่าง ๆ ก่อนถึงบ้านพัก การจราจรประชาชนยังคงสัญจรไปมาได้ ขณะเดียวกัน มีการติดตั้งแผงกั้นรั้วเหล็กกล้องวงจรปิด เพื่อติดตามสถานการณ์และจับภาพความเคลื่อนไหว เนื่องจาก เกรงมีผู้ไม่หวังดีเหมือนครั้งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม จะมีการตั้งจุดตรวจ 200 จุด ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจค้นบุคคลและวัตถุต้องสงสัย เพื่อเป็นการป้องกันสถานการณ์ก่อนวันพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวนกว่า 76,000 ล้านบาท แต่จากการสังเกต ตั้งแต่ถนนรามคำแหง จนถึง ถนนสุขุมวิท ยังไม่พบมีการตั้งด่านตรวจแต่อย่างใด
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า จากเหตุการณ์ซุกซ่อนระเบิดซีโฟร์ที่หน้าศาลฎีกา และการลอบยิง M79 ไปตกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการพระนครนั้น ไม่น่าเป็นฝีมือของคนทั่วไปที่จะสามารถทำได้ ส่วนจะเป็นคนมีสีนอกแถวหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการติดตามสถานการณ์
“อาวุธประเภทแบบนี้ เอาเป็นว่าคนธรรมดาไม่น่าจะมี…ก็ต้องติดตาม เอาเป็นว่าคนธรรมดาไม่มี (อาวุธสงคราม) หรอกครับ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศใช้กฎหมายด้านความมั่นคงเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อดูแลสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาตามสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
อีกด้านหนึ่ง นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานยุติธรรม และคณะ เดินทางไปพบนายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เพื่อปรึกษาข้อราชการและเตรียมการประชุมคณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต. และได้พูดคุยกันถึงเหตุการณ์วางระเบิดหน้าศาลฎีกา
โดยก่อนจะเริ่มประชุม นายวิรัช ได้เดินทางมาดูจุดที่เกิดเหตุ พร้อมเปิดเผยว่า ดูที่เกิดเหตุแล้ว เข้าใจว่า เป็นการข่มขู่มากกว่า เพราะถ้ามุ่งสังหารผู้พิพากษา เป็นจุดที่ห่างมาก ตอนนี้สั่งการให้ตำรวจนครบาล มาตรวจรักษาความปลอดภัย ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยก่อนวันอ่านคำพิพากษา ขอปิดเป็นความลับ เรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเปิดเผย
ทั้งนี้ เลขาธิการศาลยุติธรรม ยังกล่าวอีกด้วยว่า ตนเชื่อมั่นว่า เหตุวางระเบิดจะไม่ถือเป็นภยันตรายที่จะทำให้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาใน วันที่ 26 ก.พ. นี้ และไม่มีอะไรทำให้ผู้พิพากษาหวั่นไหวได้ มีผู้พิพากษาโทรศัพท์มาสอบถาม และให้กำลังใจองค์คณะผู้พิพากษามากมาย ตนก็ตอบไปว่า ไม่ใช่เฉพาะศาลฎีกา ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีการเมือง คดีความมั่นคง จะต้องไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ผู้พิพากษาจะไปไหนมาไหน ต้องเหลียวหน้าเหลียงหลังบ้าง
นายวิรัช กล่าวว่า ตนรู้สึกห่วงใยในผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ทั่วประเทศ ขอให้อย่าประมาท ต้องมีความตื่นตัว ขณะเดียวกันต้องทำงานด้วยความยึดมั่นในความถูกต้องปราศจากอคติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งแก่ผู้ช่วยผู้พิพากษา ที่เข้ารับการโปรดเกล้าฯ ว่า ผู้พิพากษาจะต้องปฎิบัติหน้าที่จนกว่าชีวิตจะหาไม่
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1264 ครั้ง