นายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) และประธานคณะกรรมการบริหารกิจการฮาลาล ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ถึงกระแสข่าวจะถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกิจการฮาลาล ว่ายังไม่ทราบ และยังไม่ได้รับแจ้งเรื่องการปลดออกจากตำแหน่งดังกล่าว แต่หากปลดออกจริงก็พร้อม แต่ต้องขอชี้แจงว่าประเด็นหลักตอนนี้คือตนยังไม่ยอมรับมติการถอดถอนออกจากเลขาธิการ กอท. เพราะการถอดถอนไม่ถูกต้องตามระเบียบ เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กอท.จะครบในเดือนพฤศจิกายน 2554 ดังนั้น มติที่ออกมาถือว่าไม่ชอบธรรม ในสัปดาห์หน้าจะยื่นหนังสือให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการถอดถอนดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบด้วย
“เรื่องการปลดออกจากประธานคณะกรรมการบริหารกิจการฮาลาล ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องใหญ่ขณะนี้คือการถอดถอนผมออกจากเลขาธิการ กอท.โดยไม่ชอบธรรมมากกว่า ผมยังมองว่าตัวเองยังเป็นเลขาธิการ กอท.อยู่ นั่นหมายความว่ายังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกิจการฮาลาลอยู่เช่นกัน จะรอจนกว่ากฤษฎีกาจะตีความออกมา ผมจึงจะยอมรับมติทั้งหมด” นายพิเชษฐกล่าว
นายปรีชา อนุรักษ์ รองเลขาธิการ กอท. กล่าวถึงกระแสการข่าวกรณีการปลดนายพิเชษฐออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารกิจการฮาลาล และแต่งตั้งให้ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการ กอท. ไปดำรงตำแหน่งว่า ตามระเบียบข้อบังคับ กอท.ว่าด้วยการดำเนินการกิจการฮาลาล พ.ศ.2552 ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้เลขาธิการ กอท.เป็นประธานโดยตำแหน่ง ดังนั้น เมื่อนายพิเชษฐถูกปลดจากเลขาธิการ กอท.หมายความว่าต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวด้วย โดยไม่ต้องขอมติจากที่ประชุม กอท.อีก
“การดำเนินกิจการฮาลาล คุณพิเชษฐ์ อาจจะตัดสินใจเร็วไปบ้าง ทำให้คณะกรรมการฯหลายคนไม่สบายใจ เช่น กรณีการนำ บริษัทอินเตอร์เทรด จากต่างประเทศมาทำหน้าที่ตรวจสอบอาหารว่า มีการปนเปื้อนหรือไม่ คณะกรรมการฯ ต้องการให้กิจการฮาลาลดำเนินการโดยมุสลิม และปัจจุบัน มีหน่วยงานที่ตรวจสอบเรื่องอาหารอยู่แล้ว คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแลปของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ต้องจำเป็นต้องให้คนที่ไม่ใช่มุสลิมและต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง”
ทั้งนี้ ในที่ประชุม กอท. เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา แม้นายพิเชษฐจะยอมรับเสียงส่วนใหญ่ แต่ได้ตั้งข้อสังเกตกลางที่ประชุมว่า สาเหตุที่ถูกปลดน่าจะเป็นการบีบให้ยุติการตรวจสอบการทุจริตในกิจการฮาลาล ดังนั้น ถ้ามีความบริสุทธิ์ใจว่า อยากขอมติที่ประชุมให้เป็นตัวแทนไปแจ้งความดำเนินคดี ทำให้นายสมัย เจริญช่าง กรรมการ กอท. ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์แย้งว่า กอท.คงลงมติให้เป็นตัวแทนไปแจ้งความไม่ได้ เพราะอยู่ในข่ายต้องถูกตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตาม จุฬาราชมนตรีอยากให้คนนอกเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้เพื่อความโปร่งใส แต่จนขณะนี้ยังไม่มีตัวแทน กอท. เข้าแจ้งความกรณีทุจริตกิจการฮาลาลแต่อย่างใด คาดว่าภายใน 2-3 วันนี้ กอท.จะเปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมเปิดหลักฐานที่สงสัยว่า อาจมีการทำบัญชีค่าใช้จ่ายย้อนหลังในการไปดูงานกิจการฮาลาลในยุโรปเมื่อปี 2552 งบประมาณ 7 แสนบาท โดยนายพิเชษฐยังนำภรรยาและบุตรร่วมคณะไปด้วย
นายกริยา กิจจารักษ์ ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า นายพิเชษฐไม่สมควรแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่สวนทางกับรัฐบาลในฐานะองค์กรศาสนาอิสลาม น่าจะใช้ความคิดเห็นที่ในรูปคณะกรรมการดีกว่า