โลกอิสลามจะช่วยให้เงินหยวนท้าทายดอลลาร์ได้
ความสุ่มเสี่ยงของค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาวทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการถกเถียงในหมู่นักลงทุนและภาครัฐทั่วโลกถึงการหาทางออกของปัญหานี้ ในแง่ของนักลงทุนก็มองหาลู่ทางหากำไรใหม่ๆหากเกิดการตกลงอย่างรวดเร็วของค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลต่างๆโดยเฉพาะธนาคารกลางที่ทำหน้าที่ดูแลทุนสำรองมูลค่ามหาศาลซึ่งส่วนมากล้วนเป็นเงินดอลลาร์ก็ล้วนพูดถึงเรื่องการหนีจากการถือดอลลาร์มากขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วดูเหมือนว่าการกระทำจะสวนทางกับคำพูด ด้วยข้อจำกัดในด้านตัวเลือกต่างๆ ปัญหาการบริหารสภาพคล่อง และนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การส่งออก ทำให้ท้ายที่สุดธนาคารกลางต่างๆไม่สามารถหนีจากดอลลาร์ได้
การเกิดขึ้นของเงินยูโรถือเป็นการท้าทายสถานะของดอลลาร์เป็นอย่างมาก แต่ท้ายที่สุดปัญหาภายในของยุโรปเองจากการที่รัฐบาลหลายๆประเทศมีหนี้สินล้นพ้นตัวเช่น กรีซ สเปน อิตาลี ไอร์แลนด์ ทำให้หลายๆฝ่ายเริ่มเกิดความกังวลเช่นกัน การสะสมทองคำซึ่งแม้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงยิ่งในระยะยาว แต่ด้วยปริมาณที่น้อยเกินไปและขาดสภาพคล่องก็ทำให้ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ถือทุนสำรองมหาศาลได้
ดังนั้นปรากฏการณ์การสร้างทางเลือกนอกเหนือจากเงินดอลลาร์จึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ประเทศอย่างรัสเซียและบราซิลต้องการให้เงินของตัวเองเป็นเงินตราสกุลสำคัญของภูมิภาค แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะลดการพึ่งพาดอลลาร์ได้ ดังนั้นในปัจจุบันประเทศที่มีแนวโน้มที่จะเป็นทางเลือกที่มั่นคงพร้อมแผนการระยะยาวจึงมีแค่ 2 ประเทศเท่านั้นคือ 6 ชาติ อาหรับในกลุ่ม GCC และ จีน แต่เนื่องด้วยการถอนตัวของโอมาน และ UAE ออกจากสหภาพการเงินและความล่าช้าในการสถาปนาเขตการค้าเสรีภูมิภาคทำให้ดูเหมือนว่า สกุลเงินอาหรับที่จะเป็นแกนกลางและตัวแทนอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอิสลามจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน
จุดนี้กลับแตกต่างจากจีนซึ่งมีความพร้อมรอบด้าน ปัจจุบันจีนคือประเทศที่ก้าวข้ามญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลกแล้ว และคาดว่าจะแซงสหรัฐฯไม่เกินปี 2027 จากการคาดการณ์ของ Goldman Sachs ขณะเดียวกันจีนมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในโลก และกำลังจะมีมูลค่าการนำเข้าที่มากที่สุดในโลกภายในเวลา 2-3 ปีจากนี้ เพราะสหรัฐฯมีการนำเข้าที่ลดลงตามการบริโภคสวนทางกับจีนที่นำเข้ามากกว่าเดิมและค่าเงินมีแต่จะแข็งขึ้น
การออกมาตรการผ่อนคลายในภาคธนาคารและภาคตลาดทุนโดยเฉพาะตลาดพันธบัตรรัฐบาลในประเทศจีนอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดช่องทางใหม่ในการระดมเงินหยวนทั้งในและนอกจีน รวมถึงเกิดการไหลเวียน 2 ทางของเงินหยวนทั้งในและนอกแผ่นดินจีนผ่านช่องทางการค้าและการเงิน อีกทั้งค่าเงินหยวนที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้มีการวิเคราะห์ในหมู่นักลงทุนและรัฐบาลต่างๆถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางใหญ่ๆทั่วโลกจะโยกทุนสำรองมาถือเป็นเงินหยวนมากขึ้นทั้งนี้เพราะในระยะยาวแล้วเงินหยวนมีแต่ต้องแข็งค่าขึ้น การเปิดเสรีตลาดทุนที่ต่อเนื่องจะช่วยลดข้อจำกัดในด้านสภาพคล่องของเงินหยวนได้
ล่าสุดธนาคารกลางมาเลเซียได้ทำการเบิกทางเป็นคนแรกด้วยการโยกทุนสำรองจำนวนหนึ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจีนแล้ว ถือเป็นชาติเอเชียและชาติมุสลิมชาติแรกที่เข้ามาประกาศตัวถึงจุดยืนในการ “ไม่เอาดอลลาร์” เป็นชาติแรกในโลก ทั้งนี้แหล่งข่าววงในยังระบุอีกว่า มีธนาคารกลางบางแห่งในเอเชียที่ได้เดินตามมาเลเซียด้วยในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้คงรู้ว่ามีใครอีก
ชาติมุสลิมซึ่งมีประชากรรรวมกันกว่า 1,600 ล้านคนทั่วโลกและกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในทวีปเอเชีย ขณะที่กว่า 1 ใน 6 ก็อยู่ในแอฟริกาซึ่งทั้งเอเชียและแอฟริกาล้วนแล้วแต่มีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ย่อมมีโอกาสที่จะนำเอาทุนสำรองไปซื้อเงินหยวนในอนาคต ทั้งนี้จากปัญหาเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯที่เริ่มแดงออกมาจนค่าเงินดอลลาร์ร่วงไปหนักมา ทำให้ชาติมุสลิมซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติประสบปัญหาแบบเดียวกันกับเอเชียคือ ค่าเงินที่แข็งค่ามหาศาลจากการทะลักของเงินดอลลาร์ ซึ่งน่าสังเกตว่า ประเทศมาเลเซียถือว่าเป็นประเทศที่ประสบปัญหาจากค่าเงินแข็งค่ามากที่สุดในเอเชียนอกจากญี่ปุ่น ดังนั้นการที่มาเลเซียทิ้งทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์แล้วเปลี่ยนเป็นหยวนจึงดูมีเหตุผล เพราะปัจจุบันจีนก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของมาเลเซีย การมีทุนสำรองที่เป็นเงินหยวนจะช่วยไม่ให้มาเลเซียต้องเผชิญผลขาดทุนจากดอลลาร์และการมีเงินหยวนในมือซึ่งมีแต่จะแข็งค่าในอนาคตจะทำให้นักธุรกิจมาเลเซียสามารถบริหารการค้าข้ามประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะเงินหยวนมีเสถียรภาพสูงและนโยบายมีความแน่นอนและไม่เอาเปรียบคนอื่นแบบธนาคารกลางสหรัฐฯ
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ชาติอาหรับ 6 ชาติมีการตรึงค่าเงินตัวเองกับเงินดอลลาร์ การที่ดอลลาร์อ่อนค่าย่อมสร้างปัญหาในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมาก แต่หากมีการทะยอยค่อยๆโยกทุนสำรองบางส่วนไปลงทุนในเงินหยวนที่ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย แม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นไปได้ยากก็ตาม แต่การที่ชาติอาหรับในกลุ่ม GCC มีนโยบายในการลงทุนนอกภาคปิโตรเลียมมากขึ้นและเริ่มมีการฟื้นตัวของการค้าตามเส้นทางสายไหมทั้งกับเอเชียและแอฟริกา ย่อมทำให้เงินหยวนเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้สูงในอนาคต แม้ภาครัฐของอาหรับจะไม่มีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงในตอนนี้ แต่การขับเคลื่อนของภาคเอกชนที่ทำการผลิตและการส่งออกมากขึ้นย่อมมองว่า การค้ากับจีนในรูปของเงินหยวนนั้นน่าสนใจมาก ดังนั้นโอกาสที่การค้ากับจีนที่ขยายตัวขึ้นจะผลักดันให้ท้ายที่สุดแล้วอาหรับต้องมองเงินหยวนเป็นทางเลือกนั้นคงเลี่ยงได้ลำบาก โดยสิ่งที่ต้องจับตามองก็คือ ในอนาคตจะมีการทำสัญญา Swap เงินตราอาหรับกับเงินหยวนจีนหรือไม่ในอนาคต แบบที่มาเลเซียและอินโดนีเซียทำก่อนหน้านี้
ธนาคารกลางอาหรับอาจจะมีท่าทีที่อนุรักษ์นิยมสูงและระมัดระวังเรื่องการนำหยวนมาสู่ระบบการเงินนอกเหนือจากดอลลาร์ แต่อาหรับก็อาจมีทางเลือกในการหนุนหยวนอีกทางนั่นคือ การลงทุนผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหรือ SWFs ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์และจะใหญ่ขึ้นในอนาคต โดยกองทุนเหล่านี้ก็มีความสนใจในการลงทุนในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนสูงอยู่แล้ว กองทุน SWFs ของคูเวตอย่าง Kuwait Investment Authority หรือ KIA เองก็ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ได้ การลงทุนในตราสารการเงินในรูปเงินหยวนทั้งหุ้นและพันธบัตรจึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับอาหรับนอกเหนือจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือโภคภัณฑ์อยู่แล้ว เพราะการลงทุนในตลาดทุนย่อมมีสภาพคล่องสูงกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว แรงขับเคลื่อนทางการค้าและการเติบโตของทุนสำรองและสินทรัพย์ในต่างประเทศของโลกมุสลิม ย่อมเป็นแรงหนุนสำคัญให้เงินหยวนสามารถผงาดมาแข่งขันกับดอลลาร์ได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1859 ครั้ง