เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เว็บไซต์ http://www.foreignpolicy.com/ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ได้เผยแพร่บทความชื่อ “ตัวอย่างที่เลว” เขียนโดย โจชัว อี. คีตติง ซึ่งเป็นการสรุปพฤติกรรมของผู้นำจาก 5 ประเทศทั่วโลกที่เป็นตัวอย่างไม่ดีในการบริหารประเทศ โดยเนื้อหาในเว็บไซต์ยังตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารชื่อ foreignpolicy ซึ่งนอกจากพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีฉบับภาษาอาระบิก บัลแกเรีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น โปรตุเกส เกาหลี และสเปน
นิตยสารฉบับดังกล่าวเคยได้รับรางวัล WINNER OF THE NATIONAL MAGAZINE AWARD FOR GENERAL EXCELLENT ในปี 2003, 2007 และ 2009 ในขณะที่ปี 2005 และปี 2006 ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนี้ด้วย และหนึ่งในนักเขียนของนิตยสาร foreignpolicy ยังเคยได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ด้วย ขณะที่ตัวเว็บไซต์ก็เคยได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งนิตยสาร foreignpolicy เป็นที่นิยมอ่านในหมู่ผู้นำที่ทรงอิทธิพลด้านธุรกิจและการเมืองมากกว่า 160 ประเทศ
สำหรับเนื้อหาของบทความที่คีตติงระบุนั้น ได้เกริ่นนำว่า อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่อุทิศชีวิตเพื่อสร้างความแตกต่างที่ดีให้กับโลก หรืออย่างน้อยก็ลดบทบาทหายไป แต่นี่คือ 5 อดีตผู้นำที่ไม่ได้ทำทั้งสองอย่าง คือ 1.แกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีปีเยอรมนี ระหว่างปี 1998-2005 โดยขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เขาได้สนับสนุนรัสเซียมาโดยตลอด โดยปฏิเสธการวิจารณ์สิทธิมนุษยชนในรัสเซีย และชื่นชมวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียในขณะนั้นว่าเป็นนักประชาธิปไตยที่ไม่มีที่ติ และก่อนลงจากเก้าอี้ไม่ถึง 1 เดือน ชโรเดอร์ก็ได้อนุมัติเงินกู้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ให้ Gazprom ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐที่ผูกขาดธุรกิจน้ำมันของรัสเซีย และดมิตรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีรัสเซียปัจจุบันเคยเป็นผู้บริหาร และเมื่อชโรเดอร์ลงจากตำแหน่ง ก็ได้รับตำแหน่งประธานโครงการท่อก๊าซ Nord Stream ของ Gazprom
2.นายโอเซ มาเรีย อัซนาร์ นายกรัฐมนตรีสเปน ระหว่างปี 1996-2004 ปัจจุบันได้เป็นผู้บริหารสถาบันวิชาการและเป็นคณะกรรมการบริษัทนิวส์คอร์ป ของมหาเศรษฐีรูเพิร์ต เมอร์ด็อก ได้สร้างความแตกต่างให้ตนเองโดยใช้คำพูดแบบสุดโต่ง อาทิ การร่วมกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็กเรียกภาวะโลกร้อนว่า “ศาสนาใหม่” และเรียกนักสิ่งแวดล้อมว่าเป็น “ผู้ถือธงของความเชื่อว่าจะเกิดโลกาวินาศจากโลกร้อน …ผู้แสวงหาเพื่อจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลโดยอ้างเหตุผลอันสูงส่ง…เช่นเดียวกับที่พวกคอมมิวนิสต์ได้กระทำ”
อัซนาร์ยังได้แนะให้ชาวมุสลิมขออภัยสำหรับการครอบครองสเปนในยุคกลาง และได้เรียกความพยายามในการหารือระหว่างศาสนา/ความเชื่อว่าเป็นเรื่องโง่เง่า และยังกล่าวถึงการเลือกบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าเป็น “ความแปลกครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์และความหายนะทางเศรษฐกิจที่คาดหมายได้”
3.นายโอบาซันโจ โอเลเซกุน ประธานาธิบดีไนจีเรีย ปี 1999-2007 ซึ่งครั้งหนึ่งได้รับการชื่นชมว่าช่วยเหลือให้ไนจีเรียเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการทหารมาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แม้มีความวุ่นวายและรุนแรงบ้าง แต่ไม่นานนี้ชื่อเสียงของเขาต้องแปดเปื้อนจากการสอบสวนเรื่องคอรัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ในขณะนั้นที่เขาก็ไม่เต็มใจลงจากตำแหน่ง พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่สาม แต่ล้มเหลว จึงได้แต่งตั้ง Umaru Yar’Adua มาดำรงตำแหน่งแทนก่อนเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อกันว่าถูกครอบงำ
นอกจากการถูกโจมตีเรื่องคอรัปชั่นในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว โอเลเซกุนยังพัวพันในเรื่องอื้อฉาว เมื่อลูกชายได้ฟ้องศาลว่าเขามีความสัมพันธ์ชู้สาวกับลูกสะใภ้ของตนเอง
4.โจเซฟ เอสตราดา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ปี 1998-2001 จากดาราภาพยนตร์แอคชั่นที่ผันตัวเองมาเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งไปในปี 2001 ภายหลังดำรงตำแหน่งไม่ถึงครึ่งวาระ ท่ามกลางข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่น รวมทั้งมีรายงานเอสตราดาตัดสินใจนโยบายเรื่องสำคัญๆ ด้วยความช่วยเหลือของคณะรัฐมนตรีเที่ยงคืน ซึ่งคือเพื่อนๆ เก่าในวงเหล้า โดยปัจจุบันเขากำลังเตรียมตัวต่อสู้กับคดีในสหรัฐ กรณีที่บุตรสาวของนักประชาสัมพันธ์ชาวฟิลิปปินส์ผู้หนึ่งอ้างว่าเอสตราดามีส่วนพัวพันการฆาตกรรมพ่อของเธอในปี 2001
“เอสตราดายังคงได้รับความนิยมในหมู่ชาวฟิลิปปินส์ผู้ยากไร้ และคงมีอิทธิพลต่อการเมืองผ่านการควบคุมพรรคการเมืองของเขา แต่ประเทศชาติคงจะดีกว่านี้ถ้าแอคชั่นฮีโร่ผู้นี้กลับไปให้ความสนใจกับงานภาพยนตร์ของเขา” คีตติงระบุในบทความ
5.คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ปี 2001-2006 ซึ่งนับตั้งแต่ออกจากตำแหน่งในการรัฐประหารเมื่อปี 2006 ท่ามกลางคำกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบและการละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ต.ท.ทักษิณใช้ชีวิตอยู่ด้วยการเดินทางไปมา โดยได้ทำหน้าที่เป็นทูตพิเศษให้นิการากัว และที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา และเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตีเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และมีรายงานว่าเขาอาศัยอยู่ในเยอรมนีโดยใช้ชื่อปลอมเป็นเวลานานกว่า 1 ปี และใช้หนังสือเดินทางที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายจากประเทศต่างๆ โดยปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ที่ดูไบ
คีตติงกล่าวว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนเสื้อแดง โดยเขาเคยโทรศัพท์เข้ามายังที่ชุมนุมประท้วงครั้งหนึ่ง และสัญญาที่จะทำให้คนไทยทุกคนรวย ถ้าผู้สนับสนุนของเขาสามารถได้รับอำนาจทางการเมืองกลับคืนมา แต่เขากลับปฏิเสธว่าไม่ได้ให้เงินสนับสนุนความพยายามของกลุ่มผู้ชุมนุม พ.ต.ท.ทักษิณยังถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทุจริตเพิ่มเติมตั้งแต่ได้หลบหนีไป แต่เขายังคงยืนยันว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นมีแรงจูงใจทางการเมือง และตั้งแต่เสื้อแดงพ่ายแพ้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ลดการปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ และลดกิจกรรมทางการเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ต.ท.ทักษิณได้ยอมสละตำแหน่งในรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งช่วยลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศลง
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกรัฐบาล ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวเรื่องนี้ว่า ต้องยอมรับว่าหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เป็นสื่อที่ได้รับการยอมรับในสหรัฐและทั่วโลก วันนี้คือการสะท้อนมุมมองจากนานาประเทศแล้วว่าเขามองอย่างไรกับอดีตผู้นำของไทย มอง พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไร แต่ยังมีกลุ่มบุคคลที่ให้การสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นก็คือกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งไม่รู้ว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะฉุกคิดได้หรือไม่ว่าสากลเขามอง พ.ต.ท.ทักษิณแบบนั้น
“วันนี้กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามสร้างภาพว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ยอมรับในสากลเป็นจริงหรือไม่ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปยังประเทศของโลกที่ 3 หรือประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ และบางประเทศจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการด้านปัจจัยการพัฒนา ซึ่งความจริงวันนี้กลุ่มคนเสื้อแดงยังแยกแยะไม่ออก” นายศุภชัยกล่าว
นายศุภชัยกล่าวด้วยว่า ความเป็นสากล พ.ต.ท.ทักษิณไม่เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ซึ่งการจัดอันดับก็นำไปเปรียบกับผู้นำอย่างนายเอสตราดา อดีตผู้นำฟิลิปปินส์ ที่เคยเป็นอดีตดาราเก่าเสนอโปรเจ็กต์ขายฝันให้ประชาชนจนทำให้เกิดการทุจริต เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ วันนี้ยอมรับว่าสูตรสำเร็จของเส้นทางทั้ง 2 คนนี้มีลักษณะคล้ายกัน คือมีการตั้งข้อหาว่ามีการทุจริต
รายงานแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ต.ค. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะเสนอ ครม.ให้รับทราบผลการเยือนสาธารณรัฐมอนเตเนโกรอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30-31 ส.ค. โดย กต.รายงานฝ่ายมอนเตเนโกรเป็นผู้หยิบยกประเด็นเรื่องการให้สัญชาติและหนังสือเดินทางมอนเตเนโกรแก่ พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นหารือว่า ไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมืองและไม่ได้มีเจตนาแทรกแซงกิจการภายในของไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้พำนักอาศัยอยู่ในมอนเตเนโกรเป็นเวลานานกว่า 15 วันแล้ว
รายงานแจ้งว่า กต.ยังรายงานว่า ในแต่ละครั้ง ทางการมอนเตเนโกรได้กำชับให้ พ.ต.ท.ทักษิณทราบว่าไม่สามารถใช้มอนเตเนโกรเป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไทย ถ้าหากเคลื่อนไหวรัฐบาลก็พร้อมจะดำเนินการทันที ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งให้ทราบว่าประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน และไม่ควรนำประเด็นของบุคคลดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวพันกับความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
“ฝ่ายมอนเตเนโกรไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธเกี่ยวกับกรณียกเลิกหรือต่ออายุหนังสือเดินทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณน่าจะมีการลงทุนในมอนเตเนโกรจริง ซึ่งตามนโยบายการให้สถานะพลเมืองทางเศรษฐกิจ จะให้สัญชาติแก่ผู้ที่มีมูลค่าการลงทุนอย่างน้อย 500,000 ยูโร แต่ผู้นำระดับสูงของมอนเตเนโกรแสดงความจริงจังที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าว และแสดงความพร้อมเจรจา พร้อมทั้งให้คำมั่นว่ามอนเตเนโกรไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย” รายงานของ กต.ระบุ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 22838 ครั้ง