นายวัชระ กล่าวต่อว่า จากที่ตนได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาคนที่ 2 ได้แต่งตั้งนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท แกนนำคนเสื้อแดงที่ผู้ต้องหาก่อการร้ายเป็นคณะทำงานทางการเมืองในตำแหน่งที่ปรึกษา โดยได้รับเงินค่าตอบแทนเดือนละ 1 หมื่นบาทตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2551 จนถึงปัจจุบัน ถือว่า พ.อ.อภิวันท์ มีส่วนสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบให้ได้รับเงินเดือน ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาเป็นเวลา กว่า 2 ปีแล้ว จึงอยากให้ พ.อ.อภิวันท์ ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการพิจารณาตัวเอง และคืนเงินให้กับสภาฯ เพราะถ้า พ.อ.อภิวันท์ จ่ายเงินส่วนตัวตนจะไม่ว่าอะไร และการที่แต่งตั้งคนที่มีความคิดรุนแรงทางการเมืองมาเป็นที่ปรึกษา เหมาะสมกับการเป็นรองประธานสภาฯ หรือไม่ ทั้งนี้ อยากให้ พ.อ.อภิวันท์แยกแยะบทบาทของตัวเองให้ชัดเจน โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองและการก่อจลาจลและการก่อการร้าย ไม่เช่นนั้นสภาฯ จะกลายเป็นที่ซ่องสุมอาวุธ
สำหรับกรณีรัฐบาลแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรเช่นกัน นายวัชระ กล่าวว่า ไม่เป็นสองมาตรฐาน เพราะไม่เหมือนกัน เนื่องจากนายกษิต ไปร่วมต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตร ไม่ได้เผาบ้านเผาเมือง และไม่ได้ปิดสนามบิน เพราะคนที่ปิดสนามบินคือน้องเขยนาย วีระ มุกสิกพงศ์ แกนนำคนเสื้อแดง ซึ่งต่างจากนายวิภูแถลง แม้ว่าศาลยังไม่ตัดสิน แต่สังคมก็ได้พิพากษาไปแล้วว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งข่มขู่จะใช้ความรุนแรงตลอดเวลา โดยเฉพาะคนกทม.จะถูกบีบและหวาดกลัว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศรายนามผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชู ยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยิ่งมงกุฎไทยประจำปี 2551 โดยมีชื่อนายอารี และนายวัน อยู่บำรุง ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์ช้างเผือก นายณัฐวุฒิ ไสเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ และเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งคนใกล้ชิดของประธานคณะกรรมาธิการฯ ก เข้ามารับเงินเดือนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ว่า วันที่14 ต.ค.จะปรึกษากับนายวิทยา แก้วภราดัย ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสภา และทำให้เป็นที่ตำหนิติติงของสังคม
นอกจากนี้จะเชิญประธานคณะกรรมาธิการฯ ทุกคณะมาพูดคุย และกำชับให้ระมัดระวังเรื่องการแต่งตั้งบุคคลภายนอกมาเป็นที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ และเลขานุการ กมธ.ชุดใหม่ หลังชุดเก่าหมดวาระลงในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ในฐานะอดีตประธาน กมธ.กิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา ออกมาระบุว่ามีการแต่งตั้งคนใกล้ชิด และกิ๊กนักการเมืองเข้ามารับตำแหน่งใน กมธ. นายชัยปฏิเสธที่จะให้ความเห็น โดยกล่าวว่าไม่ทราบ ต้องไปสอบถามนายวัลลภ
ส่วนที่ผ่านมาเคยเห็นกิ๊กนักการเมืองได้เข้ารับตำแหน่งใน กมธ.บ้างหรือไม่นั้น นายชัยกล่าวว่า แน่นอนครอบครัวใดย่อมต้องการเอาคนใกล้ชิดมาทำงาน หากไม่ผิดระเบียบก็เหมาะสม เมื่อถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ครอบครัว ส.ส.เข้ามากินเงินเดือนของสภา นายชัยเลี่ยงที่จะตอบโดยกล่าวว่าคนเราคิดเห็นไม่ตรงกัน
ส่วนกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ออกมาเรียกร้องให้ทบทวนกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำคนเสื้อแดง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวแต่งตั้งนายอารีย์ ไกรนรา หัวหน้าการ์ดคนเสื้อแดง และกำลังถูกออกหมายจับในข้อหาผู้ก่อการร้าย เข้ามาเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาการการเมืองฯ นั้น นายชัยกล่าวว่า นายวัชระไม่ควรพูดเฉยๆ ต้องทำหนังสือถึงตนเพื่อจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ ไม่ใช่พูดลอยๆ เพื่อหาเสียง
ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่นายจตุพรแต่งตั้งนายอารีย์ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการฯ นายชัยกล่าวว่า เข้าใจว่าคดียังไม่สิ้นสุด จึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้ต้องได้รับโทษ ดังนั้นก็ไม่ผิดระเบียบข้อบังคับของสภา เมื่อถามย้ำว่า เห็นว่านายอารีย์ยังสามารถเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการฯ ได้หรือไม่ นายชัยกล่าวว่า “ผมยังไม่รู้จักคุณอารีย์เลยว่าคือใคร ดังนั้นผมตัดสินไม่ได้”
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1390 ครั้ง