วันที่ 19 ตุลาคม การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ย้ายสถานที่ประชุมจากอาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ทำเนียบรัฐบาล มายังห้องประชุมงบประมาณชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 เนื่องจากมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา รวมถึงร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ วาระที่ครม.จะพิจารณาเป็นเรื่องด่วน คือ นายกรัฐมนตรี จะสั่งการแก้ปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งจะมีหลายมาตรการที่จะดำเนินการ อาทิการยกเว้นระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ส่วนราชการช่วยเหลือประชาชนเป็นกรณีเร่งด่วน เพิ่มเงินทดลองจ่ายของแต่ละจังหวัดจาก 50 ล้านเป็น 100 ล้านบาท รวมทั้งตั้งหน่วยงานกลางในการให้ความช่วยเหลือประชาชน
นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยว่า ขณะนี้จ้าหน้าที่ได้พยายามเข้าไปดูแลในพื้นที่ที่มีปัญหา อยู่และทางกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ละเลยมีการแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะๆ ซึ่งในการลงพื้นที่ของตนเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการสอบถามเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งได้เร่งดำเนินการไปแล้ว ส่วนปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลพบุรีนั้นเจ้าหน้าที่พยายามเร่งให้การช่วยเหลือ และตนกำลังดูเวลาในการที่จะลงไปตรวจเยี่ยมอีกครั้ง
ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วงบ่ายวันที่19 ต.ค.นายกรัฐมนตรี จะได้มีการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์จากอาคารรัฐสภาไปยังจังหวัดที่มีปัญหาเพื่อสั่งการโดยตรงไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยจะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ซึ่งจะมีการสั่งการเพิ่มเติมหลังมีมติ ครม.ที่ชัดเจน
นายปณิธาน กล่าวอีกว่า เมื่อช่วงเช้านายกรัฐมนตรีได้ตรวจสอบระดับน้ำกับทางกรมชลประทาน ได้รับรายงานว่าวันนี้ระดับน้ำเริ่มทรงตัวแล้ว แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังว่าในช่วงบ่าย และค่ำจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ขณะนี้ทิศทางของน้ำและปริมาณฝนก็หันเหไปบางส่วนแล้ว กรมชลประทานจะมีการรายงานเข้ามาเป็นระยะๆ
สำหรับการประชุม ครม. วันนี้ (19 ต.ค.) จะมีมาตรการ 2 – 3 มาตรการเพิ่มเติมจากที่มีการวางแผนไว้ การยกเลิกผ่อนผันการจัดซื้อจัดจ้างจะสามารถดำเนินการได้ทันที โดยมอบให้กระทรวงการคลังไปดูแล และใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากนี้ จะมีการขยายการดูแลทรัพย์สินของประชาชนซึ่งขณะนี้เริ่มมีการร้องเรียนเข้ามาซึ่งเดิมมีการดูแลเรื่องของที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว
นายปณิธาน กล่าวต่อว่า สำหรับโครงสร้างของเขื่อนต่างๆ เท่าที่ได้รับรายงานยังคงปกติอยู่ และหากเขื่อนไหนรับปริมาณไม่ไหวก็ให้ทะยอยปล่อยน้ำลงมา แต่ถ้ายังมีศักยภาพที่รับมือได้ก็ให้คงสภาพไว้ก่อน ในส่วนพื้นที่ กทม.โดยเฉพาะบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มนั้นขณะนี้มีการเตรียมการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง 10 กว่าพื้นที่ใหญ่แล้ว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1047 ครั้ง