เผย 2 อดีต กมธ.ทหาร สภาผู้แทนราษฎร ใช้ตำแหน่งหาผลประโยชน์ ติดประกาศพร้อมรูปตามประตู-หน้าลิฟท์ ห้ามเข้ารัฐสภา ปธ.วุฒิสภารับตรวจสอบยากตั้งคนไม่เหมาะสม ให้กก.จริยธรรมกำกับส.ส.-ส.ว.ดูแลคนที่ตัวเองแต่งตั้ง รองปธ.วุฒิรับภาพสภาขี้เหร่ กำชับตั้งคนมาทำงานจนเสร็จภารกิจแล้วต้องไป ไม่ให้อยู่ยาว
สำนักรักษาความปลอดภัย รัฐสภา มีคำสั่งสำนักรักษาความปลอดภัยที่ 1/2553 เรื่อง ประกาศห้ามบุคคลเข้ามาในบริเวณสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 โดยระบุห้ามมิให้นายสัมภาษย์ ชินทะวัน และนายพยนต์ แก้วเสถียร เข้ามาภายในรัฐสภา
ทั้งนี้ ให้เหตุผลว่า ตามที่สำนักเลขาฯสภาฯได้รับเรื่องกล่าวโทษว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม โดยกระทำการหลอกลวงประชาชนโดยใช้รัฐสภาเป็นสถานที่ดำเนินการ สำนักรักษาความปลอดภัยจึงทำการตรวจสอบพบว่ามีผู้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม 2 คน คือ นายสัมภาษย์ ชินทะวัน และ นายพยนต์ แก้วเสถียร จึงรายงานให้เลขาธิการสภาฯและประธานสภาฯทราบ และมีบัญชาให้ประกาศห้ามบุคคลทั้งสองเข้ามาในบริเวณสำนักเลขาฯสภาฯ อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งพ.ร.บ.จัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2518 จึงให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้ามยอมให้บุคคลทั้งสองเข้ามาภายในรัฐสภา
ทั้งนี้ นายสัมภาษณ์ และนายพยนต์ เคยมาช่วยงานในคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนฯ แต่ภายหลังพบพฤติกรรมนำความเป็นกมธ.ไปอ้างเพื่อเรียกรับประโยชน์และวิ่งเต้นในเรื่องต่างๆ จนมีการตรวจพบ ประธานกมธ.จึงทำเรื่องเสนอไปยังสำนักเลขาฯสภาฯ เพื่อขออนุมัติสั่งห้ามมิให้บุคคลทั้งสองเข้ามาในรัฐสภา ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวถูกนำไปติดตามประตูและหน้าลิฟท์ภายในรัฐสภาจนปัจจุบันนี้
สำหรับปัญหาการแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการและเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ(กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ที่กมธ.บางคณะแต่งตั้งจำนวนมาก หรือแต่งตั้งบุคคลไม่เหมาะสม ขาดคุณสมบัติ และมีบางคนใช้ตำแหน่งดังกล่าวไปหาผลประโยชน์ ซึ่งผลงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อปี 2552 ได้บ่งชี้ถึงปัญหาดังกล่าวว่า กมธ.ทำงานซ้ำซ้อน การใช้จ่ายไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการไปดูงานต่างประเทศ การตั้งตำแหน่งต่างๆ มากเกินความจำเป็น และตั้งคนที่ไม่มีศักยภาพเข้าทำงานเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาการแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมมาเป็นที่ปรึกษา กมธ. ว่า เรื่องนี้นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กำลังตรวจสอบ ปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ดีขึ้น แต่ยอมรับว่าการตรวจสอบทำได้ยาก เพราะขึ้นกับกมธ.แต่ละคนหรือแต่ละคณะ จะควบคุมบุคคลที่ตนตั้งขึ้นให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในร่องในรอย บางคนอาจไม่ได้ตรวจสอบคนของตัวเองอย่างเข้มงวด ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีประมวลจริยธรรม และคณะกรรมการจริยธรรมกำกับให้ส.ส.และส.ว.ดูแลผู้ที่ตนเองแต่งตั้งให้มาช่วยงาน ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
“ส่วนที่มีการทักท้วงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของสภา ทั้งเรื่องการให้เข้าฟังการประชุม กมธ. การอัพเดทข้อมูลทั้งการแต่งตั้งบุคคลภายในและภายนอกมารับตำแหน่งต่างๆ ในกมธ. ผลการไปดูงานต่างประเทศของกมธ. การขอข้อมูลข่าวสารเพื่อการตรวจสอบ เช่น การใช้งบประมาณ ในส่วนวุฒิสภา ผมรับจะไปดำเนินการให้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นไปโดยเปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น เพื่อให้การทำงานโปร่งใสตรวจสอบได้” ประธานวุฒิสภา กล่าว
เมื่อถามถึงการดูงานในต่างประเทศที่มักมีการนำคนใกล้ชิดติดไปด้วยและการไปดูงานไม่ค่อยได้ประโยชน์ นายประสพสุข กล่าวว่า การไปดูงานต่างประเทศของส.ส.และส.ว. ส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เพราะอย่างน้อยได้ไปดูของจริง ไปฟังบรรยายสรุป อย่างตนนำคณะประธานกมธ.วุฒิสภา ไปดูงานที่จีนและงานเซี่ยงไฮ้เอ็กซ์โปรล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ไปคุยกับทูต กงสุล ทำให้ทราบปัญหาคนไทยในต่างแดน หรือปัญหาการส่งออกสินค้าไทย และทราบถึงการบริหารของต่างประเทศที่มีความก้าวหน้า ทำให้เกิดไอเดียกว้างขวางขึ้นในการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย แต่ยอมรับว่าในส่วนที่แอบแฝงก็มี แต่ก็เป็นส่วนน้อย แต่ในส่วนวุฒิสภา ตนได้ตรวจดูรายงานการไปดูงานต่างประเทศของกมธ.แล้วว่าได้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี ระบบข้อมูลข่าวสาร จะช่วยให้สังคมได้ตรวจสอบการทำงานของส.ส.และ ส.ว.รวมทั้งกมธ.ได้มากขึ้น
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวว่า แต่ละกมธ.ที่ตั้งคนมาช่วยงานหวังที่จะให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน แต่บางคณะตั้งขึ้นมาโดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน แล้วแต่จะมอง ส่วนผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าที่ระบุว่า มีการงบประมาณจำนวนมากในแต่ละปี โดยคณะหนึ่งมีค่าตอบแทนให้ที่ปรึกษา นักวิชาการ ผู้ชำนาญการปีละไม่เกิน 1.4 ล้านบาทแต่เงินที่ใช้ไปไม่มีประสิทธิภาพนั้น เรื่องค่าใช้จ่ายเป็นตามระเบียบจ่ายเป็นค่าตอบแทน เพียงแต่ประเด็นคือ ต้องต่งตั้งคนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมาช่วยงาน
เมื่อถามว่า ข่าวที่ออกมาทำให้ภาพลักษณ์ของสภาไม่ค่อยดี บางคณะมีการตั้งคนเข้ามาแต่ไม่เคยเข้ามาทำงาน ถึงเวลาก็เซ็นชื่อรับเงินอย่างเดียว นายนิคม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร อย่างเรื่องมาเซ็นชื่อแล้วรับเงิน เป็นความรับผิดชอบแต่ละคนที่ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เรื่องเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างไม่น่าเสียดาย แต่ทางสภาต้องการให้คนที่จ้างเข้ามาทำตามหน้าที่มากกว่า
“ข่าวที่ออกมาก็เป็นกระจกสะท้อนภาพการทำงานของสภาว่า วันนี้ภาพเราชักขี้เหร่ แต่ก็ทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้มีการตรวจสอบกันมากขึ้นและต้องทบทวนพิจารณาให้มากขึ้น ผมและประธานวุฒิสภา ก็เคยคุยกันว่า เราแต่งตั้งคนจำนวนมากไปหรือไม่ ก็กำชับกันว่า เมื่อตั้งมาแล้ว ก็ให้ทำงานให้เสร็จภารกิจไป โดยไม่ให้อยู่ลากยาว ” นายนิคม กล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1798 ครั้ง