เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เผย “ในหลวง” ทรงห่วงปัญหาน้ำท่วม แนะรัฐบาลตั้งจุดศูนย์การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เชื่อหากวางแผนดีจะบริหารจัดการปัญหาได้
วันที่ 23 ต.ค.ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา แนะให้รัฐบาลตั้งจุดศูนย์การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการช่วยเหลือประชาชน และแก้ปัญหาน้ำท่วมในหลาย ๆ จังหวัด ขณะนี้ เพราะหากมีการวางแผนที่ดีในการบริหารจัดการ ก็จะสามารถแก้ปัญหาให้บรรเทาลงได้ พร้อมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศตน ให้ความสนพระทัยในเรื่องน้ำ เพื่อแก้ปัญหาให้กับราษฎร แม้จะมีพระอาการประชวร ก็ได้มีการจัดให้หน่วยราชการ เข้าเสนอแนะการแก้ปัญหา ซึ่งกลไกต่าง ๆ ก็ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบของมูลนิธิ ต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้เข้าช่วยแจกสิ่งของให้กับประชาชน ที่ประสบภัยจากน้ำท่วม แต่หลังจากน้ำลด ทางมูลนิธิชัยพัฒนา ก็จะเข้าช่วยเหลือฟื้นฟู ทั้งในส่วนของไร่นา ที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้ง ให้ทุกฝ่ายช่วยกันสกัดกั้น ไม่ให้น้ำเข้าท่วมโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาล สามารถเปิดให้บริการได้ ทั้งนี้ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ยังได้เน้นย้ำเรื่องการแก้ปัญหาน้ำว่า ทุกฝ่าย ไม่ควรจับจ้อง หรือ มอบเป็นภารกิจให้กับพระองค์ท่าน แต่ต้องมองย้อนไปที่ตัวเองว่า มีความเอาใจใส่ในปัญหานี้อย่างไร พร้อมย้ำเตือนให้ทุกฝ่าย หยุดทำร้ายธรรมชาติ นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังกล่าวแนะนำอีกว่า สถานการณ์ความขัดแย้งของบ้านเมืองในขณะนี้ ทุกคนต้องใช้เหตุผล และสติปัญญาแก้ไข ปัญหาทุกอย่างก็จะทุเลาลงได้
พญ.สุวรรณี ตั้งวีระพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แม่ทัพภาคที่ 2 และผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งนายกเทศมนตรีนครราชสีมา ได้ระดมสรรพกำลังในการวางกระสอบทรายรอบอาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นตึกผ่าตัดของโรงพยาบาล ตามแนวพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการกู้โรงพยาบาลจากน้ำท่วม ด้วยการปิดทางน้ำเข้าและสูบน้ำออก โดยเริ่มจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ ที่เป็นตึกผ่าตัด เป็นอาคารแรก คาดว่าภายใน 2-3 วันนี้จะเปิดรับบริการได้ ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยรอการผ่าตัดประมาณ 40 คน ซึ่งปกติแล้วโรงพยาบาลจะมีผู้ป่วยนอกวันละ 3,000 คน ผู้ป่วยในวันละ 1,300 คน
ส่วนระดับน้ำล่าสุดลดลงเล็กน้อย จากเดิมสูงประมาณ 1 เมตร ขณะนี้เหลือ 50 เซนติเมตร ยังคงต้องใช้รถทหารเข้าออกเท่านั้น ยืนยันว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคม ระบบน้ำ ที่จะมาใส่ รวมทั้งน้ำเสียที่จะต้องระบายออก และจะต้องมีการบำบัดน้ำเสียที่ดีด้วย ยอมรับขณะนี้ปัญหาใหญ่ที่สุดอยู่ที่ระบบบำบัดน้ำเสีย จะต้องเช็คระบบให้ดีที่สุด เพื่อการผ่าตัดจะได้ไม่ติดเชื้อ และไม่ปล่อยเชื้อโรคไปสู่ชาวบ้าน ต้องทำให้ละเอียด และให้ได้มาตรฐานที่สุด ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีบุคลากรของโรงพยาบาลบางส่วนที่บ้านประสบภัยน้ำท่วม แต่ไม่มีปัญหาในเรื่องการทำงาน สำหรับเรื่องของออกซิเจนเหลว ล่าสุดมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยแล้ว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1354 ครั้ง