หาดใหญ่วิกฤตน้ำทะลักท่วม ไฟฟ้าดับ-ระบบโทรศัพท์ล่ม หลังพายุดีเปรสชันขึ้นฝั่ง ขณะที่อ.นาทวีเจอน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ด้านราฯ 2 อำเภอ 100 ครัวเรือนจมน้ำ สตูลเจอท่วม 3 อำเภอ
สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่ในขั้นวิกฤตหลังตลอดฝนตกหนักติดต่อกันหายชั่วโมงส่งผลให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่ โดย เทศบาลเมืองหาดใหญ่ได้ประกาศโซนแดงและสั่งอพยพประชาชน ทรัพย์สิน ของมีค่า ขึ้นที่สูงแล้ว โดยภายในพื้นที่ได้เกิดปัญหาระบบโทรศัพท์มือถือล่ม รวมทั้งไฟฟ้าดับ
อุตุฯเตือนดีเปรสชันขึ้นฝั่งสงขลา
ประกาศเตือนภัย “พายุดีเปรสชันในอ่าวไทย “ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 01 พฤศจิกายน 2553 ระบุว่า เมื่อเวลา 22.00 น. วันนี้ (1 พ.ย) พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีศูนย์กลางห่างประมาณ 40 กิโลเมตร ทางตะวันออก ของจังหวัดสงขลา หรือที่ ละติจูด 7.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 100.6 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 50 กม./ชม.
พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งในแนวจังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราช โดยจะเคลื่อนผ่านบริเวณจังหวัดพัทลุง สตูล ตรัง กระบี่ ภูเก็ต และพังงา ในคืนนี้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ทั้งสองฝั่งตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ รวมทั้งคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร
ขอให้ประชาชนที่อาศัยใน พื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลของภาคใต้ฝั่งตะวันออกระมัดระวัง อันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง ชาวเรือควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
อนึ่ง ในระยะ 3-4 วันนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปก คลุมประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไปกับมีลมแรง สำหรับภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภู อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส
ถาวรสั่งศอ.บต.ตั้งศูนย์ช่วยเหยื่อน้ำท่วมใต้
นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทยสั่ง ศอ.บต. เตรียมมาตรการระวังป้องกันภัยรับมือน้ำท่วม ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล) โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือภาวะอุทกภัยและฝนตกหนักจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ ศอ.บต. โดยมีนายประมุข ลมุล รอง ผอ.ศอ.บต.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และนายวิทยา มากปาน ผู้ช่วย ผอ.ศอ.บต.(ปภ.) เป็นเลขานุการ
ทั้งนี้กำหนดให้ คอยเฝ้าระวังประกาศแจ้งเตือนเรื่องของคลื่น พายุลมแรง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าเวรยาม ตลอด 24 ชั่วโมง คอยประสานงานหน่วยงานจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่นให้ดำเนินการเตรียมความพร้อม รวมทั้งประสานงานโรงเรียนให้ผู้บริหารโรงเรียนใช้ดุลพินิจในการประกาศหยุดเรียน
นอกจากนี้แจ้งเตือนไปยังผู้ปกครองให้เข้มงวดดูแลเด็กไม่ให้ลงเล่นน้ำอาจเกิดอันตรายได้ แจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่มีน้ำท่วมเป็นประจำซ้ำซาก ให้ระมัดระวังปัองกันอย่างเข้มงวด ประสานงานกับป้องกันภัยจังหวัดและหน่วยบรรเทาสาธารณะภัย ให้เตรียมการเครื่องมือช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
น้ำทะลัก 4 อำเภอสงขลา
ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักส่งผลให้น้ำป่าจากเทือกเขา เริ่มไหลเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชนในที่ลุ่มโดยเฉพาะในพื้นที่ต.ทุ่งตำเสา และต.ฉลุง ของจังหวัดสงขลาแล้ว โดย พื้นที่หมู่5 ต.ทุ่งตำเสา น้ำเริ่มท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชน และระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านบางส่วนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการนำกระสอบทรายมาสร้างเป็นกำแพงกั้นน้ำเพื่อไม่ให้ไหลเข้าบ้านเนื่องจากปริมาณน้ำที่มาเร็ว
น้ำท่วมขังที่เมืองปัตตานี
ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา รายงานว่า ขณะนี้พื้นที่จังหวัดสงขลา ในพื้นที่อำเภอรอบนอกขณะนี้เกิดภาวะน้ำท่วมแล้ว 4 อำเภอคือ อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา อ.นาทวี และอ.สะบ้าย้อย โดยเฉพาะที่น่าเป็นห่วงคืออ.นาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้แนวเขา โดยทางจังหวัดได้ประสานไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้ง16 อำเภอให้เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะเรือท้องแบนและเครื่องยังชีพแล้ว
นราฯน้ำสำลัก 2 อำเภอ จมใต้ต้น้ำกว่า 100 ครัวเรือน
ขณะที่จ.นราธิวาส เกิดฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก 3 สาย คือ แม่น้ำสุไหงโก-ลก บางนราและแม่น้ำสายบุรี เริ่มมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นและบางจุดเริ่มล้นตลิ่ง เป็นช่วงๆโดยเฉพาะแม่น้ำสายบุรีที่ออล้นตลิ่งได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฏรที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ราบลุ่มริมตลิ่งบ้านสันติสุข ม.2 ต.บาตง อ.รือเสาะ ซึ่งมีราษฎรอาศัยอยู่จำนวนกว่า 100 ครัวเรือน ต่างได้รับความเดือดร้อนแล้ว เนื่องจากมีระดับน้ำท่วมขังบ้านเรือนของราษฏรและพื้นที่การเกษตรมีปริมาณสูงโดยเฉลี่ย 70-80 ซ.ม. จนยานพาหนะขนาดใหญ่และขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้
นอกจากนี้ผลพวงของภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ยังส่งผลกระทบต่อย่านธุรกิจการค้าของแต่ละพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้ด้วยจำนวนหลายแห่ง โดยเฉพาะชุมชนบ้านมะนังกาหยี ม.1 ต.มะนังตายอ อ.เมือง เจ้าของผู้ประกอบการต่างต้องพากันขนย้ายข้าวของหนีระดับน้ำที่ท่วมขังบริเวณถนนหน้าร้านค้า ซึ่งมีระดับสูงโดยเฉลี่ย 40-50 ซม. เนื่องจากเวลายานพาหนะขนาดใหญ่แล่นผ่านน้ำจะไหลทะลักเข้าท่วมร้านค้าจนข้าวของได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตามผลพวงของภาวะฝนที่ตกลงมา ยังขยายผลทำให้ถนนสายหลักหลายสายถูกภาวะน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะถนนสายเกียร์-สุคิริน ช่วงบริเวณ ม.2 ต.เกียร์ จะมีภาวะน้ำท่วมขังมีปริมาณสูงโดยเฉลี่ย 100-120 ซ.ม. รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านสัญจรไปมาได้ ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ 5 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 1,250 ครัวเรือนต่างได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถที่เดินทางไปสู่โลกภายนอกได้
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจและทหารที่รับผิดชอบของในแต่ละพื้นที่ ต่างได้ร่วมระดมกำลังและอุปกรณ์ต่างๆรวมทั้งเรือท้องแบน เพื่อนั่งโดยสารเดินทางเข้าช่วยเหลือราษฏรในเบื้องต้นแล้ว
สตูลอ่วม 3 อำเภอ โรงเรียนปิดแล้ว 1 โรง
เช่นเดียวกับที่ จ.สตูล นตกติดต่อกันมาไม่หยุดเป็นเวลา 3 วัน 3 คืนส่งผลให้ผืนดินอิ่มน้ำ น้ำป่าเริ่มไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ขณะที่น้ำตามลำคลองสำคัญ เช่นคลองดุสน อ.ควนโดน น้ำเพิ่มปริมาณไหลล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ใน 2 บลคือต.ย่านซื่อ ต.ควนโดน อ.ควนโดนสถานที่ราชการ โรงเรียนบ้านปันจอร์ มัสยิดบ้านปันจอร์ ต.ย่านซื่อ มัสยิดบ้านพานเคียน ม.2 ต.ควนโดน โดย 2 ตำบลราษฎรได้รับความเดือดร้อน1,150 ครัวเรือน
ด้านนายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผวจ.สตูล พร้อมด้วย พ.อ.ปรีชา สาลีผล ผบ.หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่45 จ.สตูล ได้ออกสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ควนโดน พร้อมนำเรือท้องแบนและน้ำดื่มไปมอบให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นการช่วยเหลือราษฎรในเบื้องต้น โดยระดับน้ำสูงสุดประมาณ1.50 เมตร ส่วนพื้นที่ อ.มะนังน้ำได้เข้าท่วมถนนในพื้นที่ ม.5 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง
ทางอำเภอได้แจ้งให้ชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งคลองขนสิ่งของไว้ในที่ปลอดภัยพร้อมทั้งให้ อส. กำนัน ผญบ.และอบต.ออกสำรวจพื้นที่ ส่วนที่อ.ได้รับผลกระทบ3 ตำบล13 หมู่บ้านราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1500 ครัวเรือ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มได้รับผลกระทบ ขณะที่ อ.ควนกาหลง ทางอำเภอได้เฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างไรก็ตามขณะนี้สถานการณ์ทำท่าจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากฝนยังคงตกต่อเนื่องไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ผวจ.สตูลได้สั่งกำชับให้ดูแลเด็กเป็นพิเศษพร้อมสั่งมิสเตอร์เตือนภัยเฝ้าระวังทุกพื้นที่ พร้อมระวังสัตว์มีพิษที่หนีน้ำ ขณะที่งูเหลือมก็เริ่มออกอาละวาดกินเป็ดไก่ชาวบ้านแล้ว
ปัตตานีท่วมแล้วหลายพื้นที่ – จังหวัดสั่งเร่งช่วยประชาชน
ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แล้ว ล่าสุดฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรีเพิ่มสูงขึ้น และมีกระแสน้ำแรง ประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำต่างหวาดผวาเกรงว่าน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปีนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากจังหวัดปัตตานีและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการระดมกำลังพร้อมเครื่องมือและเรือท้องแบนเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีใน 12 อำเภอ
ขณะที่ในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มได้เกิดน้ำท่วมขังแล้ว บ้านเรือนประชาชนขณะนี้เริ่มได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี น้ำได้ท่วมขังถนนหลายสายทั้ง ถ.ยะรัง ถ.อาเนาะรู และยังส่งผลให้น้ำได้ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนด้วย เนื่องจากน้ำไหลลงท่อระบายน้ำไม่ทัน ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลเมืองปัตตานีได้เร่งนำเครื่องสูบน้ำและขุดลอกท่อระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อเป็นการขยายเส้นทางให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานี
เช่นเดียวกับที่บริเวณท่าเทียบเรือประมงบริเวณปากอ่าวปัตตานี ได้มีเรือประมงทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ กว่าพันลำได้เข้ามาเทียบจอดหลบคลื่นลมอยู่ตามลำน้ำปัตตานียาวกว่า 2 กิโลเมตร และยังคงทยอยเข้ามาจอดอย่างต่อเนื่อง หลังกรมอุตุฯ ประกาศแจ้งเตือนว่าในระยะนี้มีคลื่นลมแรงและเกรงจะได้รับอันตรายจากการเดินเรือ
ยะลาสั่งเตรียมพร้อมรับน้ำป่าท่วมฉับพลัน- ดินโคลนถล่ม
นายกฤษฏา บุญราช ผวจ.ยะลา กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานอุตุนิยมวิทยาจังหวัดยะลา ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ติดตามสภาพน้ำฝน และ น้ำท่า อย่างใกล้ชิด ซึ่งใน 3 วันที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดยะลามีฝนตกเฉลี่ย วันละ 55 มิลลิเมตร สำหรับสภาพน้ำท่าในเขื่อนบางลาง จ.ยะลา และ แม่น้ำปัตตานีที่ไหนผ่านจังหวัดยะลารวม ทั้งแม่น้ำสายบุรีที่ไหนผ่านอำเภอรามัน จังหวัดยะลา สภาพน้ำในลำน้ำ และ ในเขื่อนบางลางยังอยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากตกในระดับนี้ หรือ มีการเว้นบ้างใน 2 – 3 วัน สภาพน้ำท่วมก็อาจจะยังไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการไม่ประมาทต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะนี้ทางจังหวัดยะลาได้ตั้งชุดเฝ้าฟัง และเฝ้าดูสภาพดินฟ้าอากาศอยู่ตลอดเวลา โดยได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 8 อำเภอ สำรวจจุดที่เกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือ ที่ราบลุ่มที่เคยเกิดท่วม มีประชากรอยู่กี่ครอบครัว หากเกิดน้ำท่วมขึ้นมา จุดที่จะทำการ อพยพ คนไปอยู่จุดที่ปลอดภัยในจุดใด พร้อมทั้งให้มีการเตรียม หรือ แบ่งภารกิจในการแจ้งจ่ายอาหาร แห้งหรือเครื่องอุปโภคปริโภค ที่เคยมีปัญหาในทุก ๆ ปี ระหว่างองค์กรส่วนท้องถิ่น กับฝ่ายปกครอง
นายกฤษฏา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการตกลงแล้วว่า ในตำบลหนึ่ง มี 7 หมู่บ้าน 3 หมู่บ้านจะเป็นขององค์กรส่วนท้องถิ่นดูแล ที่เหลืออีก 4 หมู่บ้านให้ฝ่ายอำเภอ หรือ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้ดูแล ฝ่ายพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้แจกจ่าย เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง และ สามารถประสานงานกันได้อย่างไม่ขาดช่วง ส่วนเครื่องมือที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้น มีการเตรียมเรือท้องแบน ประสานงานกับหน่วยเฉพาะกิจยะลา เตรียมรถสูง กำลังเจ้าหน้าที่ทหาร และ อาสาสมัครรักษาดินแดนไว้คอยที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน
ด้านเครื่องมือติดต่อสื่อสารได้ให้ทางอำเภอต่าง ๆ ใช่เสียงตามสายของ อบต. และ เทศบาล คอยประกาศเตือนชาวบ้านในพื้นที่ว่าถ้ามีกรณีฝนตกหนัก หรือ ดินถล่มให้ระมัดระวังอย่างไร เมื่อมีน้ำท่วมมาให้อพยพ จะไปอยู่ที่ไหน เมื่อมีน้ำท่วมเกิดไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าลัดวงจร จะต้องแจ้งที่ใด ขณะนี้การเตรียมการของจังหวัดยะลา มีความพร้อม สำหรับตำบุคลที่จะเป็นคณะติดตามชุดใหญ่นั้น จังหวัดยะลามี 8 อำเภอ ตนเองได้แบ่งมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด 3 คน และ ปลัดจังหวัดอีก 1 คน ซึ่ง 1 คนจะมีหน้าที่รับผิดชอบใน 2 อำเภอ ในการอำนวยการสั่งการ และ ประสานงาน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนมีความกระชับ และ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในเขตเทศบาลนครยะลาในวันนี้เกิดน้ำท่วมขังเส้นทางหน้าวัดสวนใหม่ หมู่ที่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา รถจักรยานยนต์ไม่สามารถผ่านไปมาได้ และ ชุดชนตลาดนัดบุดี ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา มีน้ำท่วมขังบางส่วน สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสายบุดีในพื้นที่ ต.กายูบอกเกาะ และ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา เกิดน้ำท่วมแล้วในบางหมู่บ้าน แต่ยังไม่วิกฤติ ซึ่งหากเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน 2- 3 วัน จะเกิดน้ำท่วมหนักอย่างแน่นอน
เมืองคอนอ่วมฝนตกหนักทั่วทุกอำเภอ
ตั้งแต่ช่วงข้าวของวันนี้ (1 พ.ย.53) ที่บ้านแหลมตะลุมพุก ม.2 , 3 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากภาวะคลื่นลมสูงประมาณ 2- 3 เมตร พัดกระหน่ำเข้าในหมู่บ้าน จึงมีการลงแขกช่วยกันนำข้าวของอพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่ในที่ปลอดภัย ทั้งบ้านญาติ และบริเวณริมถนนสูง ในขณะที่ชาวบ้านบางส่วนที่เป็นผู้ชายจะอยู่เฝ้าทรัพย์ที่บ้าน
ส่วนบรรยากาศที่บ้านแหลมตะลุมพุกเป็นไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนว่าพายุดีเปรสชั่นจะเข้าฝั่งทะเลที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ทางนาย วิศาล เพชรคง นายอำเภอปากพนัง ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ณ ที่ว่าการอำเภอปากพนัง เพื่อเตรียมพร้อมในการให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์การช่วยเหลือให้มีความพร้อมอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามหลังเกิดคลื่นลมแรงพื้นที่ชายฝั่งทะเลปากพนังได้มีเหตุปลาโลมาไม่ทราบชนิดที่ริมหาดบริเวณชายทะเล ม.3 ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก อ.ปากพนัง นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นปลาโลมาขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1.50- 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 60-70 กก.ซึ่งมีสภาพเน่าเปื่อย คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-5 วัน ทั้งนี้เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ปลามาตายน่าจะมาจากเมาคลื่นจนหมดแรงและมาเกยตื้นเสียชีวิตดังกล่าว
นอกจากนี้ตั้งแต่เช้าวันนี้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกัน 3 วัน 3 คืนแล้ว โดยทั้งวันของวันนี้ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักกระจายทั่วทุกอำเภอ 23 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอำเภอที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ประกอบด้วยอำเภอหัวไทร อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.เมือง อ.ท่าศาลา อ.สิชล อ.ขนอม ได้เกิดฝนตกหนักตลอดเวลา คลื่นลมแรงสูงประมาณ 2- 3 เมตร
ส่วนปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ล่าอำเภอที่ฝนตกหนักมากคือ อ.ชะอวด 95.3 มม.,อ.หัวไทร 90.8 มม.,อ.เฉลิมพระเกียรติ 80.5 มม.,อ.เชียรใหญ่ 76.0 มม.,อ.เมือง 62 มม.,อ.ท่าศาลา 43 มม.,ส่วนอำเภออื่นๆฝนได้ตกหนักกระจายไปทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช
ทางด้านนาย ธีระ มินทราศักดิ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช ระบุว่า ยังไม่ได้รับรายงานน้ำท่วมแต่อย่างใด มีเพียงฝนตกหนักตลอดเวลา และหลังจากที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนพายุดีเปรสชั่นจะพัดผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สั่งการให้ทุกอำเภอเตรียมพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และเรือท้องแบนพร้อมที่จะออกช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมตลอดเวลาแล้ว นอกจากนั้นได้ประสานงานกับ อบจ.นครศรีธรรมราช , กองทัพภาคที่ 4 และ ตชด.42 ทุ่งสง เตรียมพร้อมที่จะออกช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน
สำหรับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนภัย ว่าพายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง มีศูนย์กลางห่างประมาณ 350 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ ของจังหวัดสงขลา หรือที่ ละติจูด 6.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.0 องศาตะวันออก มีความเร็วสูงสุดประมาณ 50 กม./ชม.พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่า จะเคลื่อนตัวผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ช่วงวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2- 4 เมตร
พัทลุงสั่งปิดโรงเรียนป้องกันน้ำท่วม
ที่จ.พัทลุง ฝนตกหนักติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 วัน ทำให้น้ำฝนที่ตกหนักในพื้นที่ราบและบริเวณเทือกเขาบรรทัด ไหลลงสู่ลำคลองและเอ่อท่วมในที่ลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลอง น้ำป่าจากน้ำตกเขาคราม น้ำตกโตนแพรทอง น้ำตกนกรำ น้ำตกมโนราห์และน้ำตกไพรวัลย์ มีระดับน้ำสูงขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายของเด็กนักเรียน ทางโรงเรียนพัทลุง ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองได้ประกาศปิดเรียนเป็นเวลา 2 วัน เช่นเดียวกับโรงเรียนอนุบาลพัทลุงและโรงเรียนอื่น ๆ ในเขตเทศบาลก็สั่งปิดเป็นเวลา 2 วันเช่นกัน
นอกจากนี้ทางจังหวัดได้รับรายงานว่าฝายกันน้ำชลประทานคลองพญาโฮ้ง ต.ชะรัด อ.กงหรา จ.พัทลุง มีน้ำเกิดระดับ ทางชลประทานมีความจำเป็นต้องเปิดประตูน้ำ อาจจะส่งผลกระทบกับประชาชนในตำบลชะรัดได้ จึงแจ้งให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมหมู่บ้านในเย็นของวันนี้
นาย พิสิษฐ บุญช่วง ผวจ.พัทลุง ได้ประชุมนายอำเภอและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันวางแผนป้องกันความเดือดร้อนของประชาชนและได้สำรวจอุปกรณ์เตรียมความพร้อมและสามารถออกไปให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที โดยเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง 5 อำเภอ ที่อยู่บริเวณเชิงเขาบรรทัด เพราะถ้าหากฝนยังไม่หยุดตก น้ำป่าจากเทือกเขาอาจจะไหลท่วมหมู่บ้านได้
ทางด้าน นาย สมชาย อินปาน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) พัทลุง กล่าวว่า ทาง อบจ.ได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมครอบคลุมทั้งจังหวัด มีการจัดเรือท้องแบนและเครื่องจักรกลของ อบจ.ได้เฝ้าระวังอยู่ในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการขุดลอกสิ่งกีดขวางเปิดทางน้ำในบางจุด
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1353 ครั้ง