การเงินอิสลามในระบบการเงินโลกตอนที่ 2 – การพัฒนาการเงินอิสลามตะวันออกกลาง
การเงินอิสลามกลายเป็นที่สนใจมากขึ้นในหมู่ประเทศมุสลิมเองรวมถึงประเทศอื่นๆที่ต้องการแสวงหาโอกาสใหม่ๆในการขยายศักยภาพของภาคการเงินตัวเองไปสู่ตลาดของคนมุสลิมและในส่วนอื่นๆมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดของการเงินอิสลามนี้ได้รับความน่าสนใจหนีไม่พ้นความมั่งคั่งที่มากขึ้นในโลกของคนอิสลามที่ส่วนมากเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันทั้งในตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย ขณะเดียวกันระดับการเจาะตลาดในเรื่องการเงินในหมู่คนมุสลิมเองยังไม่สูงมากเนื่องมาจากบริการทางการเงินส่วนใหญ่ที่นำเสนอมาจากโมเดลของตะวันตก ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน
แต่ด้วยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เงินเปโตรดอลลาร์ที่ได้จากการขายน้ำมันทำให้เกิดการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของความมั่งคั่งทางการเงินในหมู่กลุ่มทุน เศรษฐี และครัวเรือนชาวมุสลิม และด้วยแนวโน้มของเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาที่นำจีน อินเดีย ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง นั่นย่อมหมายถึงการใช้น้ำมันที่สูงขึ้น ย่อมนำมาสู่ความมั่งคั่งที่หลั่งไหลมาสู่ประเทศในกลุ่มโลกมุสลิมที่กุมสำรองน้ำมันในปริมาณมหาศาลเอาไว้ ทำให้ตลาดนี้มีแนวโน้มสดใส ขณะเดียวกันประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามที่มากกว่า 1,300 ล้านคนก็ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถรับประกันความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
ในปัจจุบันสินทรัพย์โดยรวมในระบบมีมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในระดับ 15-20% ต่อปี ทำให้บรรดายักษ์ใหญ่ทางการเงินในตะวันตกไม่ว่าจะเป็น HSBC, Standard Chartered, Citigroup, UBS, J.P. Morgan Chase, Goldman Sachs, Deutsche Bank ต่างเข้ามาตะครุบเค้กการเงินก้อนโตที่กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความตีบตันของเค้กการเงินในแดนตะวันตกที่คงไม่โตเร็วหรือโตมากกว่านี้ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเป็น “เค้กเหม็นเปรี้ยว” ด้วยซ้ำอันเนื่องมาจากวิกฤตการเงินครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี
เมื่อเป็นเช่นนี้การแข่งขันจึงดุเดือดเลือดพล่านทั้งจากผู้เล่นท้องถิ่นที่เป็นมุสลิมและประเทศมหาอำนาจการเงินในยุโรปและสหรัฐฯที่มีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากร บุคลากร และเครือข่ายต่างๆรองรับ การแข่งกันเพื่อเป็นศูนย์กลางการเงินในโลกมุสลิมจึงกลายเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และแม้จะเกิดวิกฤตการเงินที่รุนแรง แต่ประเทศต่างๆก็ยังคงไม่ละทิ้งการเดินหน้ายุทธศาสตร์การดันตัวเองเป็นศูนย์กลางการเงินแห่งโลกอิสลาม
หากวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การแข่งกันดุเดือดในการแย่งชิงการเป็นผู้นำในโลกการเงินอิสลามโดยเฉพาะในหมู่ประเทศในตะวันออกกลางโดยเฉพาะในกลุ่มความร่วมมือในภูมิภาคอ่าว หรือ GCC (Gilf Cooperation Council) อันได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และโอมาน เนื่องมาจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจในแถบนี้มีระดับการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันที่สูงมากทำให้หลายๆประเทศเห็นความจำเป็นในการกระจายฐานทางเศรษฐกิจไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งถ้าหากหักเอาซาอุดิอาระเบียออกจะพบว่า ประเทศที่เหลืออีก 5 ประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศขนาดเล็กและมีประชากรที่น้อยมาก ทำให้โมเดลในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเป็นไปได้ยากเพราะขนาดของตลาดเล็กเกินไป และกำลังแรงงานไม่เพียงพอ ทำให้ข้อสรุปของยุทธศาสตร์ไปตกอยู่ที่คำว่า “โมเดลสิงคโปร์” ซึ่งเป็นประเทศเล็กเช่นกันและที่หนักกว่าคือ ไม่มีทรัพยากรเป็นของตัวเอง แต่สามารถก้าวไปสู่ประเทศชั้นนำได้ด้วยการพัฒนาภาคบริการ และภาคการเงิน ดังนั้นแนวโน้มของประเทศเหล่านี้จึงต้องมุ่งสู่การสร้างภาคบริการและภาคการเงินในที่สุดเพื่อเป็นที่พึ่งในระยะยาว
นอกจากนั้นแล้วประเทศเหล่านี้มีความพร้อมด้านทรัพยากรทางการเงินที่มีมหาศาลและสามารถเป็นฐานในการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการเงินได้ นอกจากนั้นแล้วปัญหาของการจัดการพลวัตการเงินโลกที่แหลมคม รวดเร็ว และมีความเข้มข้นมากกว่าเดิมได้สร้างทั้งความเสี่ยงและโอกาสอันเกิดจากความผันผวนในระบบการเงินโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนมหาศาลเพื่อการเก็งกำไร การพัฒนาภาคการเงินของตัวเองจึงเป็นทั้งเครื่องมือในการกบริหารความเสี่ยงและฉกฉวยโอกาสอันพึงมีพึงได้จากระบบการเงินโลก
บรรดาประเทศอาหรับมีข้อได้เปรียบอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ การมีสิ่งที่เรียกว่า “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” หรือ Sovereign Wealth Funds (SWFs) เป็นของตัวเอง ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อบริหารเปโตรดอลลาร์ปริมาณมหาศาลผ่านการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกว่า 75% อยู่ในสหรัฐฯปละยุโรป การมีกองทุน SWFs ทำให้ง่ายในการบริหารเครือข่ายและดึงเอาความเชี่ยวชาญทางการเงินจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้เพราะว่าที่ผ่านมากองทุนของรัฐบาลเหล่านี้ได้สร้างความสนิทสนมและมีสายสัมพันธ์อันดีกับบรรดาทุนการเงินในตะวันตกโดยเฉพาะใน Wall Street ในลอนดอน รวมถึงบรรดานายธนาคารสวิส ดังนั้นที่ผ่านมาเจะเห็นว่าในสถาบันการเงินและองค์กรภาครัฐด้านการเงินจะมีชาวต่างชาติมาทำงานกันเยอะมาก
แต่ปัญหาที่เผชิญในตะวันออกกลางอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องคน ซึ่งคนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาภาคบริการ และคนที่ต้องเข้าทำงานในภาคบริการต้องเป็นคนที่มีการศึกษาที่สูง มีความชำนาญทางภาษา ต้องมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องทั้งการเงิน การบัญชี กฎหมาย การจัดการ เป็นต้น ทำให้ยุทธศาสตร์ในการเร่งสร้างภาคการเงินของตะวันออกกลางยิ่งต้องพึ่งคนต่างประเทศมากขึ้นทั้งในระดับผู้บริหาร และปฏิบัติการ ทำให้ต้องมีการนำเข้าคนต่างชาติมาทำงานมหาศาลหลายล้นคนเข้ามาทำงานทั้งภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากการดึงบุคลากรเข้ามทำงานแล้ว ประเทศต่างๆก็แข่งกันในเรื่องการสร้างบรรยากาศที่จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากๆไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีและการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาโดยรวมของการเงินอิสลามในแถบนี้ได้ยึดหลักของการพัฒนาในลักษณะของ “ระบบตลาดทุน” ซึ่งมีทั้งการตั้งตลาดหุ้น การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในรูปของพันธบัตรอิสลามหรือ Sukuk ไปจนถึงอุตสาหกรรมการบริหารสินทรัพย์ (คือ การมีบลจ. แบบประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทประกัน กองทุนต่างๆ ไปจนถึงการทำตราสารอนุพันธ์และการทำ Securitization นอกเหนือไปจากบริการขั้นพื้นฐานที่คนทั่วไปพอจะคุ้นเคยอย่างธนาคารอิสลามที่ปล่อยกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งดูแล้วไม่ต่างจากระบบการเงินตะวันตกเลยเพียงแต่มีคำพว่าอิสลามนำหน้าเท่านั้น
ในแถบนี้ประเทศที่มีการแข่งขันอย่างชัดเจนที่สุดคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE กับ กาตาร์ ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีความกระตือรือร้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีก่อนวิกฤตในการหาพันธมิตรในต่างประเทศอันจะเห็นได้จากการแข่งกันไล่ซื้อหรือร่วมหุ้นกับธุรกิจการเงินชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็นการแข่งกันไล่ซื้อบริษัทบริหารตลาดหุ้นชั้นนำของโลกทั้ง London Stock Exchange ของอังกฤษ หรือ NYSE Euronext และ Nasdaq ของสหรัฐฯ ระหว่างทุนดูไบและทุนกาตาร์ การแข่งกันขยายเครือข่ายในญี่ปุ่น ในเอเชีย แต่ในตะวันออกกลางนั้นดูไบเป็นผู้นำหมายเลขหนึ่งทั้งนี้เนื่องจากการใช้กลยุทธ์ในลักษณะที่เป็นเชิงรุกมาก ดูไบกลายเป็นที่ตั้งหลักของสถาบันการเงินชั้นนำของโลกในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของตลาดพันธบัตรอิสลาม อีกทั้งดูไบมีตลาดตราสารอนุพันธ์ถึง 2 แห่งในประเทศ ซึ่งทั้งภูมิภาคไม่มีที่ไหนที่มีตลาดอนุพันธ์ที่เป็นทางการและมากมายเท่าที่นี่ไม่ว่าจะเป็น Dubai Gold and Commodity Exchange (DGCX), Dubai Mercantile Exchange (DME) โดย DGCX เป็นการทำเครือข่ายกับตลาดโภคภัณฑ์ของอินเดียที่ชื่อ Multi Commodity Exchange ขณะที่ DME ก็เป็นการทำเครือข่ายเช่นกันแต่ทำกับตลาดอนุพันธ์อันดับ 1 ของโลกนั่นคือ CME Group ของสหรัฐฯ โดยที่ดูไบมีการซื้อขายอนุพันธ์บนสินค้าโภคภัณฑต่างๆไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ทองคำ เงิน เหล็ก พลาสติก ชา เพชร พลาสติก รวมถึงเงินตราต่างประเทศทั้งเงินยูโร เงินเยน เงินปอนด์ และเงินรูปีของอินเดีย ถือได้ว่าดุไบในช่วงที่ผ่านมาได้แสดงถึงเป้าหมายที่ชัดเจนในการเทียบชั้นกับศูนย์กลางการเงินโลกในตะวันตก
อีกส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคตลาดทุนมีความสมบูรณ์และคึกคักก็คือ ภาคธนาคาร ซึ่งในตะวันออกกลางทั้งที่ดูไบและที่อื่นๆมีการตั้งธนาคารอิสลามขึ้นมาจำนวนมากเพื่อให้บริการลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งมีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วยมีการเปิดสาขาในต่างประเทศเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และเนื่องด้วยลักษณะของการต้องมีสินทรัพย์ที่มีตัวตนเป็นหลักทรัพย์ในการขอเงินทุนจากธนาคารทำให้ท้ายที่สุดคำตอบตกไปอยู่ที่ “ภาคอสังหาริมทรัพย์” การปล่อยกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ดูจะเป็ฯทางเลือกที่ง่ายและตรงตามหลักอิสลามมากที่สุด อีกทั้งรัฐบาลต่างๆมีนโยบายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆมารองรับการเป็นศูนย์กลางการเงินและภาคธุรกิจอื่นๆทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม หรือแม้แต่ท่าเรือ อีกทั้งเงื่อนไขในช่วงก่อนวิกฤตที่สภาพคล่องท่วมระบบการเงินโลกทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาไล่ราคาอสังริมทรัพย์ในภูมิภาคให้สูงขึ้นไปอีก กลายเป็นการประสานกันระหว่างปัจจัยภายในอันเนื่องมาจากนโยบายและปัจจัยภายนอกที่เสริมให้มีการปล่อยกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างของบรรดาธนาคารอิสลามต่างๆและเร่งให้ปริมาณการออก Sukuk สูงขึ้นด้วย
ดังนั้นภาพในก่อนและหลังวิกฤต Lehman และดูไบเวิร์ลจึงกลายเป็นการชิงดีชิงเด่นและขิงไหวชิงพริบในเกมการเงินโลกของบรรดาทุนการเงินในกลุ่ม GCC ที่ออกมาในรูปของการพุ่งไปที่การพัฒนาตลาดทุน ธุรกิจการลงทุนและหลักทรัพย์ ไปจนถึงตราสารอนุพันธ์ และแม้แต่ Hedge Fundด้วย การสร้างตึกสูงเทียมฟ้า การถมเกาะ และการออกมาให้สัมภาษณ์และให้ความเห็นผ่านสื่อและที่ประชุมทางเศรษฐกิจชั้นนำต่างๆทั่วโลกของบรรดาผู้นำทางเศรษฐกิจและการเงินในภูมิภาคนี้ ไม่ต่างจากโลกการเงินในตะวันตกที่มุ่งหาประโยชน์ในระยะสั้นและสร้างปัญหาความปั่นป่วนในระบบการเงินโลกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกิจกรรมต่างๆที่ออกมาหากยึดกันตามเจตนารมณ์จริงๆขออิสลามที่มุ่งแบ่งปันผลประโยชน์กันทั้งสังคมและหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในระยะสั้นจะเห็นว่าเป็นแนวทางที่ผิดอย่างชัดเจนและแนวทางที่มิใช่อิสลามที่แท้จริงเหล่านี้ก็ไมได้สร้างผลประโยชน์ตกไปสู่พี่น้องชาวมุสลิมที่ยากไร้ทั่วโลกอย่างแท้จริง และนี่อาจจะถึงเวลาแล้วที่ชาวมุสลิมทั้งหลายพึงแสวงหาอัตลักษณ์ในการพัฒนาตามแนวทางของอิสลาม และทำทุกอย่างให้ถูกต้อง การเงินอิสลามที่แท้จริงย่อมเป็นแนวทางที่ให้ความหวังและทางเลือกท่ามกลางเลือกแก่ประชาคมมุสลิมและประชาคมโลกผู้แสวงหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว มากกว่าการเอาคำว่าอิสลามแปะแปะไว้ข้างหน้ำคำว่าการเงินไปชะล้างกิจกรรมการเงินที่ผิดศีลธรรมในปัจจุบัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1740 ครั้ง