วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00 น. ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ลดระดับลงมาอยู่ที่ 1.95 เมตร หลังระดัยน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงน้ำทะเลหนุนเมื่อเวลา 08.30 น. อยู่ที่ระดับ 1.98 เมตร ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2 เมตร อย่างไรก็ตามระดับน้ำที่สูงขึ้นได้ เอ่อเข้าท่วมตลาดสดในปากคลองตลาด ทำให้การส่งสินค้าลำบาก และยังทำให้ต้องปิดการเดินเรือโดยสารชั่วคราว ที่ท่าเรือราชินี และท่าเรือข้ามฟากปากคลองตลาด-วัดกัลยาณมิตร โดยต้องเปลี่ยนท่าโดยสารใหม่ เนื่องจากน้ำได้เข้าท่วมสะพานไม้ ทำให้ประชาชนต้องใช้ท่าเรือชั่วคราวท่าอื่นแทน
ขณะที่ระดับน้ำบริเวณท่าพระจันทร์ได้เอ่อท่วมพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ โดยมีระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม. ส่งผลให้ร้านค้ามากกว่าครึ่งต้องปิดชั่วคราว แต่ประชาชนยังสัญจรไปมาได้ตามปกติ โดยอาศัยสะพานไม้ที่ทาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) สร้างให้
ผู้ว่าฯกทม.มั่นใจรับน้ำทะหนุนสูงสุดได้
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัฒน์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจริมฝั่งแนวป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณสะพานพุทธ ท่าช้าง เทเวศร์ และเกียกกาย ซึ่งเวลา 09.25น.วันนี้(8พ.ย.) น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในรอบปี
ทั้งนี้ กทม.มั่นใจว่า จะสามารถรับมือระดับน้ำทะเลหนุนได้ พร้อมกับเตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ควรประมาท
“กทม.มั่นใจว่าจะสามารถรับน้ำทะเลหนุนได้ ประกอบกับวันนี้ไม่มีฝน จึงไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงคือพื้นที่ต่างจังหวัด” ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าว
จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เดินทางไปตรวจแนวกันน้ำด้านเหนือ บริเวณเขตบางซื่อ ที่ปากคลองบางเขนใหม่
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงสุดวันนี้ จะท่วมอยู่ที่ 1 ชั่วโมงครึ่งถึง2ชั่วโมง และกลับมาหนุนอีกรอบในช่วงเย็น โดยกรมชลประทาน และกองทัพเรือ จะร่วมมือกันควบคุมให้ระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุดวันนี้อยู่ที่ไม่เกิน 2.20 เมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเลหนุนสูงสุด เมื่อวันที่ 26-27 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 2.8 เมตร
“จังหวัดริมฝั่งเจ้าพระยา เช่น ปทุมธานี ได้เตรียมกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำสูงถึง 3 เมตร แต่บางพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี ที่ไม่มีกระสอบทรายกั้น ก็ต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก” นายอภิรักษ์ กล่าว
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.อุบลราชธานี ปริมาณน้ำมูล และน้ำชี ก็เริ่มชะลอ ได้แจ้งเตือนไปยัง อ.โกสุมพิสัย และ อ.เมือง จ.มหาสารคาม รวมถึง จ.ร้อยเอ็ด ให้ระมัดระวังน้ำจากแม่น้ำชี ส่วน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษได้เตือนให้ระมัดระวัง น้ำจากแม่น้ำมูล
ส่วนสถานการณ์ที่ภาคใต้เริ่มคลี่คลาย หลังจาก จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี มีปริมาณฝนตกหนัก และจ.พัทลุง ประสบวาตภัย
สุราษฎร์ฯฝนตกหนักทั้งวัน
สุราษฎร์ธานีสภาพอากาศโดยทั่วไปที่ จ.สุราษฎร์ธานียังมีฝนตกหนักเกือบทุกพื้นที่ตั้งแต่เช้า โดยที่โรงเรียนหลายแห่งยังประกาศปิดไม่มีกำหนด เนื่องจากถนนหลายสายในหมู่บ้านมีน้ำท่วมขังอีกระลอกหลังจากที่หยุดตกมาร่วม 2 วัน ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง
ขณะเดียวกันระดับน้ำในแม่น้ำตาปีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 1 ซม.โดยเฉพาะพื้นที่ อ.พระแสง ระดับเพิ่มสูงขึ้นมากอยู่ที่ 6 เมตรแล้ว โดยมีน้ำจาก จ.กระบี่และ จ.นครศรีธรรมราชไหลมาสมทบเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำตาปีส่วนใหญ่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้วทั้งเรือที่ใช้สัญจรไปมารวมทั้งข้าวสารอาหารแห้ง สำหรับสิ่งที่มีปัญหาคือเรื่องของการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถกรีดยางได้มานานร่วม 1 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากน้ำท่วมต้นยาง ทำให้ไม่มีรายได้
ที่อ.เกาะสมุย มีฝนตกหนักเช่นกัน และยังมีน้ำท่วมขังในบริเวณที่ลุ่มเช่นเดิม เนื่องจากส่วนใหญ่มีการก่อสร้างอาคารปิดทางไหลของน้ำจึงทำให้น้ำท่วมทุกขังที่มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะที่บริเวณหาดเฉวง น้ำยังท่วมขังเช่นเดิม ทำให้การเดินทางไปมาไม่สะดวกแม้ว่าทางเทศบาลเมืองเกาะสมุยได้ใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำลงทะเลอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
ทางจังหวัดยังได้ประกาศย้ำเตือนให้ชาวบ้านที่อยู่ริมภูเขาเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะพื้นที่ อ.พนม ,คีรีรัฐนิคม เนื่องจากยังเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย
ส่วนการช่วยเหลือชาวบ้านในขณะนี้ทางสภากาชาดไทยยังคงเปิดครัวที่ปั๊ม ปตท. อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานีทำอาหารกล่องแจกจ่ายแก่ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพราะบางพื้นที่ชาวบ้านเดินทางไม่สะดวก โดยที่ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สาทิตย์ลงพัทลุงเยียวยา
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่วัดแหลมกรวด หมู่ที่ 3ตำบลเกาะนางหมาก และที่โรงเรียนเกาะนางคำ หมู่ที่ 8 ตำบลเกาะนางคำ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและพายุลมแรง ทำให้บ้านเรือน สวนยางพารา และพืชผลทางด้านการเกษตร จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก พร้อมทั้งสาธารณูปโภค
นายสาทิตย์ วงค์หนองเตย กล่าวว่า หลังจากพายุดีเปรสชัน พัดเข้าพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก เมื่อคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ครั้งนี้จังหวัดพัทลุง ได้รับผลกระทบหนักสุด ทั้งบ้านเรือนพังเสียหายกว่า 9,000 หลัง และสวนยางพาราล้มเสียหายกว่าแสนไร่ จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ตนเองจึงลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ
สำหรับสวนยางพารา ต้องหาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เพราะหากปลูกยางพาราใหม่กว่าเกษตรจะสามารถกรีดได้ต้องไว้เวลาไม่ต่ำกว่า 7 ปี ซึ่งจะนำไปประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตาม การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ คชอ.และจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ( 9 พ.ย.) เพื่อช่วยชาวสวนยางพาราให้เร็วที่สุด ส่วนทรัพย์สินอื่นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ จะเยียวยาอย่างเร่งด่วนเช่นกัน ส่วนปัญหาไฟฟ้าที่ถูกตัดขาดมานาน ในหลายพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า เร่งซ่อมแซมแล้ว คาดว่าจะได้ใช้ภายใน 2 วันนี้
กรมชลเตือน 14 จังหวัดระวังพายุรอบใหม่
กรมชลประทานทำหนังสือแจ้งเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง14จังหวัดให้ระวังพายุรอบใหม่อีกครั้งในวันที่9-10 พ.ย.ที่จะขึ้นบริเวณจังหวัดสุราษฎร์และนครศรีธรรมราชโดยตรง และในบริเวณแม่น้ำทุ่งตะโก ลุ่มน้ำละแม แม่น้ำหลังสวน จังหวัดชุมพร
ภาพประกอบข่าว
นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าพายุรอบใหม่ จะขึ้นฝั่งประมาณ17.00 น.วันพรุ่งนี้( 9 พ.ย.) และตกต่อเนื่องตลอดทั้งคืน สถาบันสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณฝนประมาณ 100-150 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณฝนที่มาก แต่จะไม่มากเท่ากับครั้งที่ผ่านมา กรมชลฯได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ทั้งหมดพร่องน้ำในระดับบริหารต่ำสุดเพื่อบรรเทาสาธารณภัย
“กรมอุตุฯ พบการก่อตัวของพายุอีกลูกบริเวณปลายแหลมญวน ซึ่งคาดกว่าจะขึ้นฝั่งประมาณวันที่ 10 พ.ย. ซึ่งขณะนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นระดับใดและจะมีทิศทางไปในทางใด”
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1459 ครั้ง