ดีเอสไอสรุปผลสอบคดี 89 ศพ ชี้ นปช.และกลุ่มชายชุดดำฆ่า “พ.อ.ร่มเกล้า” เกี่ยวข้องเหตุรุนแรง 8 คดี ส่วนกรณีวัดปทุมฯ ยังไม่สรุป เชื่อ จนท.มีเอี่ยว 3 ศพ ส่งสำนวนกลับให้ตำรวจท้องที่ชันสูตรพิเศษ คาดสรุปทั้งหมดภายในเดือน พ.ย.นี้ ศอฉ.จับตาม็อบเสื้อแดง 19 พ.ย.ห้ามขายสินค้า-เขียนข้อความสร้างความแตกแยกและจาบจ้วง
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) วันที่ 16 พฤศจิกายน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ แถลงความคืบหน้าการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของทหาร ตำรวจ และประชาชน ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ที่มีจำนวนรวม 89 ศพ ว่า ขณะนี้มีคดีพิเศษที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ชุมนุมอยู่ในความรับผิดชอบรวม 254 คดี ส่งฟ้องศาลไปแล้ว 54 คดี
นายธาริตระบุว่า คดีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน เช่น กลุ่มชายชุดดำ ประกอบด้วย 8 คดี ได้แก่ 1.กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. บริเวณถนนดินสอ จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม, ส.อ.อนุพนธ์ หอมมาลี, ส.ท.อนุพงษ์ เมืองอำพัน, พลทหารสิงหา อ่อนทรง และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง 2.คดีคนร้ายยิงเอ็ม 79 ใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง มีผู้เสียชีวิตคือ น.ส.ธัญนันท์ แถบทอง ผู้บาดเจ็บ 37 คน 3.คดีคนร้ายยิงถล่มจุดตรวจเจ้าหน้าที่รัฐหน้าธนาคารกรุงไทย อาคารซิลลิค สีลม ส่งผลให้ ส.ต.ท.กานต์พัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ
4.คดีคนร้ายยิงถล่มจุดตรวจบริเวณตรงข้ามอาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระรามที่ 4 จ.ส.ต.วิทยา พรมสำลี เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ 5.คดีรถยนต์เจ้าหน้าที่ทหารถูกดักซุ่มโจมตีบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม จ.ส.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์ เสียชีวิต 6.คดีคนร้ายยิงอาวุธเอ็ม 79 ใส่ด่านตรวจเจ้าหน้าที่บริเวณข้างสวนลุมพินี ด้านแยกสารสิน ถนนราชดำริ ส.อ.อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ 7.คดีคนร้ายวางเพลิงศูนย์สรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นายกิตติพงษ์ สมสุข เสียชีวิต และ 8.คดีคนร้ายวางระเบิดหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ มีผู้เสียชีวิตคือ นายธวัชชัย ทองมาก และผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ส่วนคดีที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช. กลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ดีเอสไอจึงต้องส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนท้องที่ ซึ่งเป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตรวจสอบด้วยการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายเพิ่มเติม ประกอบด้วย 4 คดี คือ คดีผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม 3 ศพ ได้แก่ นายรพ สุขสถิต, นางมงคล เข็มทอง และนายสุวัน ศรีรักษา 2.คดีพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกอนุสรณ์สถานแห่งชาติ 3.คดีนายมานะ อาจหาญ ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณสวนสัตว์ดุสิต และ 4.กรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ผู้สื่อข่าวสัญชาติญี่ปุ่น ผู้เสียชีวิตบริเวณถนนดินสอ
นายธาริตกล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินคดีประเภทที่สองนั้น ดีเอสไอยึดหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยช่วงบ่ายวันนี้ดีเอสไอจะต้องส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปให้พนักงานสอบสวนท้องที่รับไปดำเนินการให้มีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะต้องร่วมกับอัยการเพื่อนำไปสู่การไต่สวนโดยศาล และหากกรณีใดได้ข้อยุติว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอ้างว่า ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ก็จะต้องส่งเรื่องกลับมาให้ดีเอสไอดำเนินการต่อไป ในส่วนคดีที่เหลือดีเอสไอจะทยอยสรุปรายละเอียดเป็นรายสัปดาห์ และคาดว่าจะสามารถสรุปข้อมูลทั้ง 89 ศพได้ภายในเดือน พ.ย.นี้
“ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนทำให้ตาย แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวพันก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ด้วยการทำสำนวนชันสูตรพิเศษ ซึ่งระหว่างนี้ดีเอสไอต้องหยุดทำ 4 คดีที่เบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่รับเข้าไปเกี่ยวพันก่อน ซึ่งตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจมีระยะเวลาทำงาน 30 วัน” นายธาริตกล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวว่า การแยกคดีเสียชีวิตในวัดปทุมฯ ออกมาแค่ 3 ศพนั้น เนื่องจากผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าบาดแผลกระสุนปืน วิถีถูกยิงเข้าจากบนลงล่าง คือถูกยิงจากที่สูง นอกจากนี้ ในการตรวจที่เกิดเหตุร่วมกับนิติวิทยาศาสตร์หลังเกิดเหตุนาน 2 เดือน พบปลอกกระสุน 2 ปลอก และกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 นัด ขณะที่ฝ่ายทหารก็ยอมรับว่ามีการส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธปืนเข้าไปประจำจุดดูแลบริเวณรางรถไฟ้าจำนวน 8 นาย เช่นเดียวกับกรณีของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช. แถลงว่า ผลสรุปดังกล่าวไม่มีการระบุตัวคนร้ายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้ง ยังมีความเท็จอยู่หลายประการ เช่น กรณีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่รายงานว่าอาจจะเป็นฝีมือของนักรบโรนินหรือคนชุดดำนั้น ตนมีพยานเป็นทหารผ่านศึกที่เข้าไปช่วย พล.อ.ร่มเกล้าขณะที่ถูกยิง ซึ่งเขาจะเป็นพยานให้กับตน โดยยืนยันว่า พล.อ.ร่มเกล้าถูกยิงจากทหารที่อยู่แถวสามหลังรถหุ้มเกราะ จากนั้นทหารผ่านศึกคนดังกล่าวได้เข้าไปช่วยแต่กลับถูกทหารที่อยู่สามมายิงซ้ำจนเป็นอัมพฤกษ์อยู่ในเวลานี้ นอกจากนี้ยังมีการรายงานด้วยว่าการเสียชีวิตของสื่อมวลชนต่างประเทศอาจเกิดจากการที่ทหารเข้ากระชับพื้นที่ แต่ทั้งหมดยังไม่มีการระบุชัดถึงตัวคนร้าย
“ดังนั้นการสรุปว่าแกนนำคนเสื้อแดงเป็นคนที่ร่วมฆ่ากันเองนั้นจึงเป็นความเท็จที่ดีเอสไอได้ฟ้องผมและพวกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการฟ้องเท็จ และอัยการก็นำความเท็จไปฟ้องเท็จต่อศาล ทั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ และอัยการสูงสุดก็เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยหรือไม่ และจะต้องถามว่าจะขังพี่น้องตนไว้อีกนานเท่าไหร่ หากดีเอสไอมีการแถลงข่าวแบบควายๆ โง่บัดซบเช่นนี้ ผมก็จะดำเนินคดีในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย” นายจตุพรกล่าว
นายจตุพรกล่าวด้วยว่า อยากขอบคุณคณะกรรมการชุดนายคณิต ณ นคร ที่เรียกร้องให้มีการประกันตัวประชาชนและคนเสื้อแดง เพราะท่านไม่ละเลยเรื่องจรรยาบรรณ สมกับที่เป็นปรมาจารย์ในด้านวิธีพิจารณาคดีความอาญา
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลดำนินการให้มีการประกันตัวแกนนำและแนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังว่า ได้ส่งต่อให้กระทรวงยุติธรรมไปดูแล้ว จริงๆ แล้วอำนาจการปล่อยตัวเป็นอำนาจของศาล ซึ่งสิ่งที่คณะกรรมการฯ เสนอมา ศาลคงต้องฟังข้อมูลของหน่วยงานด้วย ดังนั้นตนก็จะให้กระทรวงยุติธรรมไปดูว่ามีข้อมูลอะไรที่จะสนับสนุนหรือไม่ อย่างไร ก็เหมือนกับครั้งที่แล้วที่ประกันตัวมา
นายอภิสิทธิ์ระบุว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามกฎหมาย คนเหล่านี้สมมุติไปถึงขั้นที่ศาลให้ปล่อยออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกดำเนินคดี ส่วนจะให้คำตอบกับสังคมอย่างไร หากคนที่ทำผิดกฎหมายแล้วมาอ้างเรื่องปรองดองนั้น คนเหล่านี้ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ส่วนจะใช้เวลาในการพิจารณาข้อเสนอของนายคณิตเท่าไรนั้น อยู่ที่กระทรวงยุติธรรมจะต้องไปดู ซึ่งจำนวนมีอยู่มาก แค่ 5 คนยังต้องใช้เวลาตั้งนาน หากเป็นแกนนำ คนที่มีความผิดสูงคงจะยิ่งยาก ซึ่งตนจำเป็นต้องรับฟังข้อเสนอข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตัดสินอย่างไรก็ต้องมีคำตอบให้กับสังคม
ส่วนที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และ พ.ต.อ.ปรีดา สถาวร ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 3 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมแถลงผลการประชุม ศอฉ. โดย พ.อ.สรรเสริญแถลงว่า ที่ประชุมหารือถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ที่จะมีการนัดหมายการชุมนุมของกลุ่มทางการเมืองที่แยกราชประสงค์ รายละเอียดการเตรียมการปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนทหารจัดกองร้อยรักษาความสงบไว้คอยสนับสนุนจำนวน 2 กองร้อย
“เจ้าหน้าที่ระวังเต็มที่ที่จะป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือเหตุการณ์ไม่บานปลาย รวมถึงห้ามการค้าขายสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าที่สร้างความรู้สึกแบ่งแยกหรือสร้างความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรือหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วง ซึ่งคงต้องมีการออกข้อกำหนดตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งห้ามจำหน่าย หากเจอต้องมีการตรวจยึดก่อนล่วงหน้า” พ.อ.สรรเสริญกล่าว
ด้าน พ.ต.อ.ปรีดา กล่าวว่า ที่ ศอฉ.ห่วงใยคือเรื่องข้อความ เพราะการจัดกิจกรรมที่ผ่านมาจะมีการเขียนข้อความต่างๆ บนพื้นผิวถนน บนทางสาธารณะ หรือแผ่นป้ายต่างๆ ที่อาจมีข้อความไม่เหมาะสมทำให้ตำรวจต้องเข้ามาดูแล
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1552 ครั้ง