หลังเงยบหายไปนานนับเดือน การส่งตัววิคเตอร์ บูท เป็นไปอย่างรวดเร็ว ภายหลังคณะรัฐมนตรี ได้มีมติส่งตัวไปสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นคำสั่งสายฟ้าแลบของรัฐบาลไทยที่มีถึงทุกหน่วยงานความมั่นคงแบบด่วนที่สุด เป็นปฏิบัติที่มีเตรียมการล่วงหน้าอย่างดี แต่ปกปิดเป็นความลับสุดยอด เหมือนไม่ต้องการแหวกหญ้าให้งูตื่น เป็นปฏิบัติการภายใต้แรงกดดันทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการต้องตัดสินใจตามเงื่อนไขศาลที่ถูกกำหนด เพราะเงื่อนไขศาล เมื่อศาลตัดสินแล้วให้เวลา 90 วันที่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้ดุลพินิจ ซึ่งจะครบกำหนดวันศุกร์นี้ หากไม่ทำอะไรต้องปล่อยตัว
ด้วยเงื่นไขเวลาปฏิบัติการและการตัดสินใจของผู้นำประเทศต้องมีคำตอบอย่างรอช้าไม่ได้อีกแล้ว โดยเมื่อเวลา 09.30 น. ทันทีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าสู่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่อาคารรัฐสภา 3 ได้เปิดปากแจ้งครม. ว่า รัฐบาลตัดสินใจแล้วที่จะส่งตัว วิคเตอร์ บูท ไปยังสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผล คดีนี้ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง จึงต้องส่งตัวไปสหรัฐอเมริกา และอำนาจสุดท้ายของการส่งตัวอยู่ที่ฝ่ายบริหาร
“เรื่องนี้ข้อยุติอยู่ที่ฝ่ายบริหารต้องใช้ดุลพินิจและได้ให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ อัยการสูงสุด และกรมราชฑัณฑ์ สาเหตุที่ฝ่ายบริหารใช้ดุลพินิจในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดเป็นแนว ทางปฏิบัติในครั้งต่อไป เพราะเชื่อว่ากรณีแบบนี้ยังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ถ้าฝ่ายบริหารไม่พิจารณา ไม่มีดุลพินิจอีกหน่อยก็จะเป็นแบบนี้”
“ผมเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาความสัมพันธกับประเทศรัสเซีย เพราะที่ผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานว่าที่ผ่านมาได้ทำความเข้า ใจมาโดยตลอด และ ทางรัฐบาลคงไม่สามารถจะทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ ที่สำคัญทางศาลก็ให้ความเห็นว่าผลคดีของนายวิคเตอร์บูทไม่เกี่ยวข้องทางการ เมือง”คำกล่าวกระชับรวดเร็วของนายกฯ ไร้เสียงท้วงติงจากครม. เพื่อเริ่มปฏิบัติการต่อจากนี้
สิ้นเสียงนายกฯ โทรศัพท์จากอาคารรัฐสภาต่อสายถึงฝ่ายความมั่นคงกระจายคำสั่ง ผ่านไปถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อประสานตำรวจในการนำตัวนายวิคเตอร์ บูท ออกจากเรือนจำไปขึ้นเครื่องบิน
ปฏิบัติการดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 12.50 น. ของวันที่ 16 พ.ย. หน่วยคอมมานโดกองปราบปราม นำโดย พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาการผู้บังคับการกองปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยเจ้าหน้าที่หน่วยปรามบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา หรือ ดีอีเอ จาก สหรัฐอเมริกาได้เดินทางเข้าไปรับตัว นายวิคเตอร์ บูท ภายในเรือนจำกลางบางขวาง
โดยขั้นตอนการรับตัวนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ควบคุมตัวนายวิคเตอร์ บูท ออกมาพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติ จากนั้นได้มีการตรวจร่างกาย ก่อนจะให้ผู้ต้องหาตรวจสอบข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวซึ่งใส่อยู่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ 2 ใบ
เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้วหน่วยคอมมานโดได้คุมตัวนายวิคเตอร์ ขึ้นรถยนต์โตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ จากนั้นได้แบ่งขบวนรถยนต์ออกเป็น 2 ขบวนซึ่งมีขบวนจริงและขบวนหลอกตามขั้นตอนการรักษาความปลอดภัย โดยขบวนจริงเมื่อวิ่งออกจาเรือนจำบางขวาง แล้วจะมุ่งหน้าไปยังสนามบินดอนเมืองทันที
ทั้งนี้มีรายงานว่า เมื่อนายวิคเตอร์ขึ้นไปนั่งในรถนั้นเจ้าหน้าที่ได้ใส่เสื้อเกราะกันกระสุน หมวกนิรภัยเคฟล่า รวมทั้งล็อคกุญแจที่มือ และเท้า เมื่อออกจากเรือนจำมาได้สักระยะนายวิคเตอร์ถามเจ้าหน้าที่ว่าไม่ไปสนามบินสุวรรณภูมิหรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบไปว่าจะพาไปที่สนามบินดอนเมืองเพราะสะดวกต่อการรักษาความปลอดภัย
อย่างไรก็ตามตลอดการเดินทางจากเรือนจำไปถึงสนามบินนั้นนายวิคเตอร์มีสีหน้าเป็นปกติ ไม่แสดงอาการวิตกกังวลใดๆ และมีบางช่วงที่นายวิคเตอร์ผิวปากเป็นทำนองเพลงสั้นๆด้วยซ้ำ
เมื่อขบวนรถมาถึงสนามบินดอนเมืองเจ้าหน้าที่ได้คุมตัวนายวิคเตอร์ไปยังห้องพักวีไอพีของสนามบินซึ่งมีเจ้าหน้าที่หน่วย ดีอีเอ คอยรับตัวอยู่ จากนั้นได้มีการตรวจสอบเอกสารการตรวจคนเข้าเมือง โดยมีตำรวจกองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการ
หลังจากขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาพร้อมเจ้าหน้าที่ไทยได้คุมตัวนายวิคแตอร์ ออกจากห้องพักวีไอพีกลับไปขึ้นรถยนต์ในขบวนเพื่อขับเข้าไปในรันเวย์เพื่อส่งที่หน้าเครื่องบินเจ็ท ขนาด 20 ที่นั่งที่จอดรออยู่ โดยบนเครื่องนั้นจะมีนักบิน 2 คน และเจ้าหน้าที่สหรัฐอีก 6 คน ก่อนที่เครื่องบินจะออกจากสนามบินดอนเมืองมุ่งหน้าสหรัฐอเมริกาเมื่อเวลา 13.27 น.
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งหมดนั้น รักษาการผู้บังคับการกองปราบปราม ได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติทุกนายให้ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้โดยมีระดับการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดซึ่งมีการซักซ้อมเตรียมการล่วงหน้าประมาณ 4-5 วัน
นอกจากนี้ยังมีการนำพลแม่นปืน หรือสไนเปอร์ ของหน่วยคอมมานโดกองปราบปรามมาร่วมปฏิบัติการครั้งนี้โดยเข้าประจำจุดตรวจสอบพื้นที่ 360 องศารอบเรือนจำและสนามบินดอนเมืองด้วย
*************************
เจ้าของฉายาพ่อค้าความตาย
วิคเตอร์ บูท ได้รับฉายา “พ่อค้าความตาย” จากอดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอังกฤษเมื่อปี 2003 โดยบูต เป็นที่ต้องการตัวของหลายประเทศ หลังจากที่เกิดกระบวนการหยุดยิงในแอฟริกาตะวันตก และจากการเปิดเผย ก็ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจการค้าอาวุธในแอฟริกาของเขารุ่งเรือง จนกลายเป็นธุรกิจสำคัญ ภาพลักษณ์ของเขาเลวร้ายยิ่งขึ้นหลังเกิดเหตุ 11 กันยายน เพราะเขาส่งอาวุธให้ตาลีบัน ซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มอัล-เคดา เรื่องนี้ทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่สหรัฐฯต้องการตัวมากที่สุด
เขาถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษงานต่อต้านการก่อการร้าย สำนักงานปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา หรือดีอีเอ ร่วมกับตำรวจกองปราบปรามของไทย จับกุมตัวได้เมื่อ วันที่ 6 มี.ค. 2008 ในข้อหาร่วมกันจัดหาและรวบรวมทรัพย์สิน เพื่อการก่อการร้าย
ชีวประวัติของบูท ถูกนำไปเขียนเป็นหนังสือ และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ลอร์ด ออฟ วอร์” ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับนายหน้าค้าอาวุธสงครามที่สวมบทบาทโดย “นิโคลัส เคจ”
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1753 ครั้ง