เปโตรหยวนปะทะเปโตรดอลลาร์:เมื่อสงครามการเงินปะทุนอกโลกอาหรับ
โดยเบ๊นซ์
สุดตา
สภาพที่เศรษฐกิจสหรัฐฯสุ่มเสี่ยงต่อความล่มสลายได้ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดงัดไม้ตายออกมาโดยการประกาศที่จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมูลค่า600,000ล้านดอลลาร์ตั้งแต่พฤศจิกายน2010-มิถุนายน2011ซึ่งเมื่อรวมกับเงินก้อนเก่าที่จะนำกลับมาลงทุนต่อทำให้มาตรการในครั้งนี้ที่เรียกติดปากกันว่าQE2มีมูลค่าสูงถึง850,000-900,000ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
โดยเฟดหวังว่ามาตรการทางการเงินในครั้งนี้จะช่วยลดอัตราดอกเบี้ยระยะกลางถึงยาว
กระตุ้นการบริโภคและการขยายตัวของสินเชื่อ
และ หวังการพุ่งขึ้นของราคาหุ้น
ซึ่งดูแล้วผิดวิสัยของธนาคารกลางที่จะตั้งเป้าหมายทางนโยบายที่ราคาหุ้น
แต่นั่นแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจอเมริกาที่ขึ้นกับการบริโภคเกินตัวจนต้องก่อหนี้แบบไม่รู้จบและการหากำไรจากการผลิตและค้าตราสารการเงินเป็นหลัก
และผลกระทบที่หลีกไม่พ้นย่อมเป็นสภาพขอเงินดอลลาร์ที่นับวันจะมีความผันผวนสูงขึ้นจากการที่สหรัฐฯพิมพ์เงินไม่จำกัด
และหลายๆประเทศไมว่าจะเป็นจีน
ประเทศเอเชีย เยอรมัน ฝรั่งเศส
และบราซิล
ก็เริ่มตั้งคำถามถึงอนาคตของเงินดอลลาร์และระบบการเงินโลกที่อิงกับดอลลาร์
ขณะที่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลของหลายประเทศโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศมีท่าทีสงสัยอเมริกามานานแล้วว่ากำลังคิดใช้สงครามทางการเงินในการโจมตีฐานทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ
และคนที่สงสัยและหวาดระแวงท่าทีที่สหรัฐฯพยายามชักจูงให้ประเทศอื่นปรับนโยบายเศรษฐกิจโดยอ้างเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกมากที่สุดก็คือ
จีน
ที่ผ่านมาจีนนั้นด้านหนึ่งก็พยายามอุ้มสหรัฐฯผ่านการรับซื้อเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯแบบไม่จำกัด
ขณะที่อีกด้านก็ออกมาเตือนและวิจารณ์แรงๆอยู่เนืองๆ
และนับจากปี 2009เป็นต้นมา
จีนก็เดินหน้านโยบายการดันเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลสำคัญของโลกด้วย
แม้ว่าหลายคนจะออกมาตั้งคำถามต่ออนาคตของเงินดอลลาร์ต่างๆนานา
แต่เงินหยวนเองในตอนนี้ก็ยังไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้
ท่าทีล่าสุดของชาติอาหรับสมาชิกกลุ่มGCCทั้ง6ประเทศซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันรายใหญ่ของอเมริกาด้วยก็คือ
อาหรับจะยังคงตรึงค่าเงินตัวเองกับดอลลาร์อยู่โดยบอกว่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนดีต่อกลุ่มGCCที่พยายามโยกฐานเศรษฐกิจออกจากภาคปิโตรเลียมมาสู่การผลิต
การค้า และการบริการมากขึ้น
แต่ก็น่าคิดว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจจากเงินเฟ้อและฟองสบู่ที่พุ่งขึ้นจะคุ้มกับความสามารถในการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจจริงที่ดีตามเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงหรือไม่
แต่นัยยะที่ซ่อนไว้ในคำกล่าวของเลขาธิการกลุ่มGCCในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็คือ
เงินดอลลาร์จะยังเป็นเงินสกุลหลักในระบบการค้าน้ำมันโลกต่อไป
และอเมริกาจะมีหลักประกันได้ว่าอาหรับจะเป็นไพ่ตายสำคัญในการยันแรงเทขายดอลลาร์ของจีนและรัสเซีย
เงินดอลลาร์จะไมร่วงมากอย่างที่คิดและจะเป็นการชะลอการแข่งบารมีของเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ในเวทีโลกได้ด้วย
อีกแง่หนึ่งเมื่อเงินดอลลาร์ยังมีหลักประกันจากกลุ่มอาหรับซึ่งนั่นย่อมทำให้ประเทศอื่นลังเลที่จะขายดอลลาร์ด้วยก็ย่อมหมายความว่า
อเมริกายังสามารถใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการโจมตีระบบการเงินทั่วโลกและซื้อหาปัจจัยการผลิตที่สำคัญในทางยุทธศาสตร์ได้อยู่
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับไม่ได้หมายความว่าเงินทุนที่ไหลเวียนในวงจรการค้าน้ำมันโลกจะมีแต่เปโตรดอลลาร์เท่านั้น
แต่สัญญาณล่าสุดจากรัฐบาลมอสโคว์ที่ต้อนรับบทบาทเงินหยวนในทางการค้าระหว่างกันและในระบบเศรษฐกิจโลกดูจะทำให้พลวัตในอนาคตเปลี่ยนไป
จริงอยู่ด้วยนโยบายการเงิน
การค้า
และความมั่นคงจะทำให้เงินเปโตรดอลลาร์มีฐานที่แน่นหนาในโลกอาหรับ
แต่ท่าทีล่าสุดจากรัสเซียนั้นเท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้เงินหยวนได้สถานภาพใหม่ที่สามารถแข่งกับเงินดอลลาร์ได้
นั่นคือการกลายสภาพเป็นเงิน
“เปโตรหยวน” นั่นเอง
ทั้งนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเงินหยวนจะเริ่มซื้อขายและกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกันโดยตรงโดยไม่ต้องคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนไขว้(Cross
Rate) ของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินทั้ง
2สกุลเทียบกับดอลลาร์
และที่ผ่านมารัฐบาลรัสเซียมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการเป็นแหล่งพลังงานรายใหญ่ของจีนทั้งเรื่องโครงการท่อก๊าซ
การทำสัญญาค้าน้ำมันในระยะยาว
และการปล่อยกู้ให้กับบริษัทน้ำมันรัสเซียโดยธนาคารจีน
โดยในปี 2009ที่ผ่านมาธนาคารของรัฐบาลจีนปล่อยกู้ให้กับบราซิล
รัสเซีย คาซัคสถาน
และเวเนซูเอล่าเป็นเงินถึง49,000ล้านดอลลาร์เพื่อแลกกับน้ำมัน
โดยในจำนวนนี้รัสเซียได้ไปถึง25,000ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้จากการรายงานของรอยเตอร์
นาย Sergei
Savitsky รองกรรมการผู้จัดการของMicexตลาดหุ้นของรัสเซียกล่าวว่า
เงินหยวนกับรูเบิ้ลน่าจะเริ่มซื้อขายได้ภายใน15ธันวาคม2010แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายแบบเต็มตัวน่าจะเกิดขึ้นในปี2011เป็นต้นไป
ทั้งนี้ที่น่าสนใจก็คือ
ทั้งก่อนและหลังการออกมาตรการQE2ของเฟด
รัสเซียถือเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มBRICที่ส่งเสียงแข็งและต่อเนื่องในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขระบบการเงินโลกโดยให้ลดบทบาทของดอลลาร์ลง
ทั้งนี้แม้ท่าทีจีนอาจจะไม่หักหน้ามากเท่ากับรัสเซียแต่ก็ชัดเจนถึงแนวนโยบายของการปรับโครงสร้างระบบการเงินโลกครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นแล้วผู้นำของทั้ง2ประเทศก็แสดงท่าทีชัดเจนในการให้เงินหยวนและรูเบิ้ลมีบทบาทมากขึ้นในทางการค้า
และสินค้าส่งออกหลักของรัสเซียไปยังจีนก็ไม่พ้นพวกพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ดังนั้นแล้วการที่เงินหยวนกับเงินรูเบิ้ลซื้อกันได้โดยตรงย่อมหมายถึงโอกาสของเงินหยวนในการค้าน้ำมันในระยะยาวของทั้ง2ประเทศ
นั่นหมายความว่าในอนาคต
ธนาคารกลางของทั้งจีนและรัสเซียจะต้องมีการลงนามในสัญญาการทำSwapsของเงินทั้ง2สกุลเข้าด้วยกันเพื่อให้ประเทศรัสเซียเข้าถึงเงินหยวนในการทำการค้ากันได้
ทั้งนี้การเกิดขึ้นของเปโตรหยวนของจีนนั้นคงไม่พ้นการใช้กลไกภาครัฐในการกรุยทางไปสู่การเพิ่มบทบาทเงินหยวนในการค้าน้ำมัน
โดยทั้ง 2ประเทศต่างก็เป็นประเทศทุนนิยมโดยรัฐ(State
Capitalism)ซึ่งรัฐวิสาหกิจมีบทบาทเหนือภาคเอกชนและเป็นหัวหอกในระบบเศรษฐกิจอยู่แล้วจึงเป็นการง่ายที่เปโตรหยวนจะปักธงที่รัสเซียเป็นที่แรก
เปโตรหยวนนั้นจะไม่ได้หยุดอิทธิพลแค่ในรัสเซียเท่านั้น
ในอนาคตมีโอกาสสูงทีเดียวที่เงินในรูปของเปโตรหยวนจะปักธงในประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกอีกแห่งนั่นคือ
คาซัคสถาน โดยหากดูที่ข้อมูลล่าสุดจากStatistical
Review of World Energy 2010 ซึ่งจัดทำทุกปีโดยบริษัทBPจะพบว่า
สิ้นปี 2009รัสเซียกุมน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้ว74,200ล้านบาร์เรล
หรือ 5.6%ของสำรองน้ำมันที่พิสูจน์แล้วทั้งโลก
ขณะที่คาซัคสถานมีสำรองอยู่39,800ล้านบาร์เรลหรือ3.0%ของทั้งโลก
ด้านการผลิตนั้นรัสเซียผลิตน้ำมัน10.03ล้านบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่คาซัคสถานผลิตได้1.68ล้านบาร์เรลต่อวัน
คิดเป็น 12.9%และ2.0%ของการผลิตน้ำมันทั่วโลกในปี2009ตามลำดับ
ทั้งนี้คาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลและได้รับเงินลงทุนจากจีนเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันจีนเองก็มีโครงการสร้างทางรถไฟไปคาซัคสถานเพื่อใช้บรรทุกสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการผลิตมายังจีนด้วย
ล่าสุดนายกฯของคาซัคเองก็แสดงความสนใจในการทะยอยนำธุรกิจทรัพยากรของประเทศไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง
เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ของจีนที่แน่นแฟ้นทั้งในด้านพลังงาน
การค้า และการเงินการลงทุนด้วย
ซึ่งนั่นยิ่งทำให้อนาคตของเปโตรหยวนที่จะเกิดในประเทศนี้สดใสมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ
เงินเปโตรดอลลาร์นั้นในความเป็นจริงไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในมือของกลุ่มอาหรับเท่านั้น
แต่มีฐานกระจายไปในประเทศอื่นๆด้วย
ข้อมูลจากของ McKinsey
Global Institute ในเดือนกรกฎาคม2009ที่รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดของทุนPetrodollarระบุว่า
เงินเปโตรดอลลาร์ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ4.99ล้านล้านดอลลาร์
ณ สิ้นปี 2008โดยอยู่ในมืออาหรับ2.09-2.10ล้านล้านดอลลาร์
นอร์เวย์ 860,000ล้านดอลลาร์,รัสเซียและผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่นประมาณ2.03-2.04ล้านล้านดอลลาร์
ซึ่งประเทศอื่นๆนั้นล้วนกระจายอยู่ในประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก
โดยรัสเซียที่เดียวก็คุมกระแสเงินเปโตรดอลลาร์ทั่วโลกมากกว่า1.1ล้านดอลลาร์แล้ว
อีกทั้งคาซัคสถานและประเทศในเอเชียกลางก็ล้วนอยู่ในอิทธิพลของทั้ง2ประเทศในทางความมั่นคงทั้งในด้านของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และข้อตกลงด้านความมั่นคงภายใต้กรอบของSCO
(Shanghai Cooperation Organization)ดังนั้นหากจีนและรัสเซียสามารถพาเงินหยวนปักธงได้แน่นในรัสเซียและเอเชียกลางได้แล้ว
ก็เชื่อได้ว่าจะเกิดการปักธงของเปโตรหยวนในผู้ส่งออกน้ำมันนอกชาติอาหรับกลุ่มGCC
ในอนาคตด้วย
การเกิดขึ้นของเปโตรหยวนนอกอาหรับถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ครั้งใหญ่ในเกมการเงินโลกของจีนอีกชิ้นหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจีนจะเลือกเอเชียเป็นฐานของเงินหยวนแล้ว
จีนยังตอกย้ำถึงการพาเงินหยวนเดินทางผ่านเส้นทางการค้าแห่งประวัติศาสตร์อย่างทางสายไหมด้วย
ซึ่งก่อนหน้านี้จีนก็ได้ตกลงกับตุรกีที่จะเพิ่มยอดการค้าระหว่างกันและใช้เงินหยวนและเงินตุรกีในการค้าด้วย
การผงาดของเงินหยวนในเส้นทางการค้าโบราณแห่งนี้ก็เท่ากับว่า
เงินหยวนจีนจะมีการสร้างเขตอิทธิพล2ทางไปพร้อมๆกันนั่นคือ
การเกิดขึ้นของเงินหยวนในแดนอิสลามหรือIslamic
Yuan และการเกิดขึ้นของเงินหยวนในการค้าน้ำมันนั่นคือ
เปโตรหยวน
ทั้งในประเทศมุสลิมอย่างคาซัคสถานและสมาชิกกลุ่มBRICอย่างรัสเซีย
การผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้ง3คือ
ตุรกี รัสเซีย
และคาซัคสถานในทุกๆด้านจะทำให้เงินหยวนมีฐานที่มั่นอันแข็งแกร่งในเส้นทางสายไหมและค่อยๆแผ่เข้าสู่ตะวันออกกลางและแอฟริกาได้ง่ายขึ้นผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าและการขนส่ง
ดังนั้นแล้วผลสะเทือนในอนาคตที่จีนสามารถหวังได้ในฐานะเป้าหมายยุทธศาสตร์ในระยะ5-7ปีข้างหน้าก็คือ
การลดหรือชะลอตัวลงของปริมาณเงินดอลลาร์ในทุนสำรองทั่วโลก
ซึ่งมีผลมาจากการใช้เงินหยวนทำการค้ามากขึ้นในเขตอิทธิพลการค้าที่เงินหยวนของจีนปักธงเอาไว้
การค้าที่ใช้ดอลลาร์น้อยลงย่อมลดความจำเป็นในการสะสมดอลลาร์ในทุนสำรองด้วย
ทั้งนี้หากว่าสินค้ายุทธศาสตร์อย่างน้ำมันและโลหะจำเป็นอื่นๆทำสัญญาค้ากันเงินหยวนมากขึ้น
ก็จะยิ่งลดความต้องการดอลลาร์ในระบบทุนสำรองอย่างมาก
แม้ว่าธนาคารกลางหรือรัฐบาลต่างๆจะยังไม่มีหรือมีเงินหยวนเป็นทุนสำรองน้อยอยู่ก็ตาม
แต่ในระบบธนาคารของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆตามเส้นทางสายไหม
เอเชีย
และที่อื่นๆจะคราคร่ำไปด้วยบัญชีเงินหยวนของลูกค้าธุรกิจและบุคคลมากมายที่ต้องการเงินหยวนในการทำธุรกิจและซื้อสินทรัพย์ในจีนมากขึ้นไปด้วย
ฉะนั้นแล้วจุดเริ่มต้นและการเติบโตของเปโตรหยวนนอกโลกอาหรับจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งที่จะกำหนดอนาคตและบทบาทของเงินดอลลาร์ในเวทีโลกด้วย
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1414 ครั้ง