“บัญญัติ-เทอดพงษ์-สัมพันธ์”นำส.ส.ส่วนหนึ่งเดินออกไม่ลงมติพรรคโหวต2ประเด็นร่างรัฐบาล ก่อนนั้นโหวตไม่รับ”ร่างเหวง-พรรคร่วม” คาดในรัฐสภางดโหวต
วันที่ 22 พ.ย.รายงานข่าวจากที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ใน วาระพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ชี้แจงช่วงหนึ่งต่อที่ประชุมว่า สาเหตุที่คณะรัฐมนตรีต้องมีความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นนั้น เพราะรัฐบาลได้เสนอแนวทางเพื่อสร้างความปรองดองในช่วงที่เกิดสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง และเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมีข้อสรุปว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิบัติตามและการแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้แก้ไขเพราะนักการเมือง และการแก้ไขใน 2 ประเด็นนั้นเชื่อว่าสังคมจะรับได้ จึงอยากให้สมาชิกพรรคทุกคนเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
จากนั้น นายนิพนธ์ วิศิษฐ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคเคยมีมติไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อครม.เห็นชอบกับแนวทางแล้วจะให้ตอบคำถามกับสังคมได้อย่างไร เกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อพรรคได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะไม่ขอรับเป็นคณะทำงานพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคอีกแล้ว เพราะได้เคยเสนอความเห็นไปแล้วแต่สุดท้ายพรรคก็ปฏิบัติตามแรงบีบจากพรรคร่วมรัฐบาล
ด้านนายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 190 และมาตรา 93 เพื่อพิสูจน์ให้เห็นพรรคประชาธิปัตย์สามารถจะสู้ได้ในทุกระบบเลือกตั้ง และที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพรรคสามารถเข้าถึงพื้นที่ในภาคอีสานได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหานำท่วมภาคอีสาน เชื่อว่าจะทำให้คะแนนของพรรคดีขึ้นและจะสามารถทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลได้ โดยเฉพาะจ.มหาสารคาม ขอนแก่น และอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม พรรคจำเป็นต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้เข้าใจถึงจุดยืนของพรรคด้วย
ขณะที่ น.ส.ปรีชญา ขำเจริญ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะอาจจะส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เสียพื้นที่ได้ โดยเฉพาะส.ส.เขต นอกจากนี้ยังจะทำให้การหาเสียงในพื้นที่ลำบากเป็นไปด้วยความยากลำบากด้วย ทำให้ส.ส.อาวุโสหลายคน อาทิ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.สัดส่วน นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน นายพิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ ทยอยลุกขึ้นแสดงความเห็น จะไม่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเสนอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยให้เรียงเป็นรายประเด็น ปรากฎว่าที่ประชุมได้ให้โหวตต่อร่างฉบับน.พ.เหวง ปรากฎที่ประชุมส่วนใหญ่ให้คว่ำร่างนี้
จากนั้นที่ประชุมได้เตรียมโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 102 เสียง ปรากฎว่าระหว่างนั้น สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลคนหนึ่งได้โทรศัพท์มาหานายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสอบถามมติของพรรค นายอรรถวิชช์จึงได้ถามนายกรัฐมนตรีว่าจะให้ตอบอย่างไร นายอภิสิทธิ์จึงส่งสัญญาณว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่รับร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล 2 ประเด็น ระหว่างกำลังจะเสนอให้โหวตนั้น ปรากฎว่านายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นายนิพนธ์ วิศิษฐ์ยุทธศาสตร์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และนายสัมพันธ์ ทองสมัคร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับส.ส.อีกส่วนหนึ่ง เดินออกจากห้องประชุม
อย่างไรก็ตาม นายเทพไทยังพยายามเสนอให้นับองค์ประชุม แต่ไม่เป็นผล ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่มีการลงมติ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าเมื่อหัวหน้าพรรค กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยกับครม. สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็ควรจะมีมติเห็นด้วยตามนายกฯ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังจากส.ส.ส่วนใหญ่เดินออกจากห้องประชุม มีส.ส.อาวุโสหลายคนได้เสนอให้สมาชิกพรรคตัดสินใจจะงดออกเสียงได้ โดยยึดเอามติของพรรคเมื่อเดือนมกราคม ที่พรรคมีมติ 84 ต่อ 48 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตอบคำถามกับสังคมว่า ได้งดออกเสียงและถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว โดยมีส.ส.ประมาณ 20-30 คนแสดงเจตจำนงค์ที่จะงดออกเสียงในครั้งนี้
รายงานข่าวระบุด้วยว่า การประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตย์วันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้มาเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ไม่เห็นเข้าร่วมประชุม โดยอ้างว่าจะต้องไปประชุมคณะทำงานฝ่ายกฎหมายเพื่อต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม ข้อน่าสังเกตุการประชุมส.ส.พรรคประชาธิปัตยฺ์วันนี้ ส.ส.ต่างเดินไปมา นั่งอยู่ไม่ติด แม้แต่นายกรัฐมนตรีเองก็ยังนั่งไม่ติดที่ ส่วนนายสุเทพนั้นนั่งอยู่ในการประชุมตลอด แต่ไม่ยอมแสดงความเห็นแต่อย่างใด แต่มีสีหน้าเคร่งเครียด จากสาเหตุส.ส.อาวุโสนำส่วนหนึ่งเดินออก และไม่มีการลงมติใน 2ประเด็น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1481 ครั้ง