เอเชียกลาง:ฐานที่มั่นของเงินหยวนในโลกมุสลิม
โดยเบ๊นซ์
สุดตา
การขับเคี่ยวกันในศึกชิงความเป็นเจ้าระบบเงินตราโลกระหว่างเงินหยวนและเงินดอลลาร์มีความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อทั้ง2ประเทศงัดเอาสารพัดมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมาสัประยุทธ์กันในเวทีโลกทั้งการออกมาเดินหน้ากดดันจีนอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯและพันธมิตรในเวทีเศรษฐกิจโลกในเรื่องค่าเงิน
การใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า
รวมถึงนโยบายทางการเงินอย่างQE2ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อกระแสการไหลเวียนเงินทุนโลกจนเกิดความปั่นป่วนจนรัฐบาลทั่วโลกแทบรับมือกับความผันผวนของค่าเงินแทบไม่ทัน
ซึ่งในเกมนี้นับว่าสหรัฐฯยังได้ประโยชน์อยู่บ้างจากยอดการแทรกแซงค่าเงินของประเทศเกิดใหม่ต่างๆที่ต้องทุ่มซื้อเงินดอลลาร์แบบจำใจในระยะสั้นและเงินเหล่านี้ยังไหลเวียนกลับมายังตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ ณ วินาทีนี้
สหรัฐฯยังสามารถแน่ใจได้ว่าในระยะอันใกล้นี้เงินดอลลาร์จะยังเป็นที่ต้องการอยู่และจะรักษาสถานภาพการเป็นเงินสกุลหลักของโลกไปได้
หากเทียบกันล้วในเกมการเงินโลกครั้งนี้สหรัฐฯใช้วิธีการปูพรมทำสงครามบนแนวรบในระดับโลกเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและเพื่อกดดันจีนอย่างต่อเนื่อง
แต่ในอีกทางหนึ่งในฟากของจีนที่พยายามดันเงินหยวนให้ได้รับการยอมรับในเวทีโลกอย่างต่อเนื่องจะใช้คนละแนวทางกับสหรัฐฯ
โดยขณะที่สหรัฐฯใช้การทำสงครามแบบทั้งโลกพร้อมกัน
จีนกลับใช้การรุกคืบในลักษณะเป็น
“ภูมิภาคนิยม” (Regionalism)มากกว่า
ซึ่งจากความเคลื่อนไหวต่างๆที่ผ่านมานี้พอจะสรุปได้ว่ายุทธศาสตร์การดันเงินหยวนในลักษณะภูมิภาคนิยมของจีนนั้น
จีนวางยุทธศาสตร์เงินหยวนไว้ใน2พื้นที่หลักๆได้แก่
ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตกของประเทศ
แนวรบภาคตะวันออกในฝั่งตะวันออกนั้นจีนใช้ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้เป็นฐานหลักคู่กันในการให้เงินหยวนติดต่อกับโลกภายนอกอย่างเอเชียตะวันออกและอาเซียน
โดยทั้ง 2จุดนี้
จีนสามารถใช้ฐานะของการเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินของทั้ง2เมืองในการส่งเสริมการใช้เงินหยวนในการค้าของเอเชียได้
รวมถึงการสร้างตลาดการเงินหยวนนอกแผ่นดินจีน
หรือ Yuan
Offshore Market ในฮ่องกง
เพื่อสร้างฐานของตลาดทุนและตลาดเงินนอกแผ่นดินจีนสำหรับให้ต่างชาติระดมทุน
รวมถึงการวางระบบการค้าเงินหยวนกับเงินตราต่างประเทศด้วย
แนวรบภาคตะวันตกในช่วงปี 2009-2010ถือว่าเป็นช่วงที่จีนต้องทดลองนโยบายเงินหยวนในเขตที่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจเพื่อหาจุดลงตัวในการวางระบบในพื้นที่อื่นๆของประเทศ
ซึ่งณ
จุดนี้การทดลองด้านการค้าและการลงทุนในฝั่งตะวันออกที่นำโดยฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จพอสมควรหลังจากทางการจีนออกมาตรการทดลองใช้เงินหยวนในเวทีโลกได้ไม่นาน
ดังนั้นก้าวต่อไปของจีนในอนาคตจึงเป็นการปูพรมไปยังพื้นที่อื่นๆ
และพื้นที่เป้าหมายที่จีนกำลังเคลื่อนไหวแบบเงียบๆก็คือ
ภาคตะวันตกของประเทศ โดยในปี2010จีนได้มีการขยายการทดลองใช้เงินหยวนข้ามประเทศอีก18พื้นที่ด้วยกัน
และ หนึ่งในนั้นก็รวมถึงเขตปกครองตนเองซินเจียงด้วย
โดยหากเทียบมาตรการดันเงินหยวนในพื้นที่อื่นๆที่มิใช่แถบชายฝั่งตะวันออกแล้ว
พื้นที่ซินเจียงถือว่าพิเศษกว่าที่อื่นๆ
และซินเจียงจะเป็นกุญแจสำคัญในแนวรบด้านตะวันตกของเงินหยวน
ซินเจียงได้รับอนุญาตให้เป็นทั้งพื้นที่ที่สามารถใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้าข้ามแดนได้
และยังสามารถใช้เงินหยวนเป้นสื่อกลางในการออกไปลงทุนนอกประเทศได้ด้วยหรือภาษาในทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ
ใช้หยวนในการเป็นเงิน FDI
(Foreign Direct Investment Investment)หรือเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศนั่นเอง
นั่นย่อมทำให้ซินเจียงมีความน่าดึงดูดในเชิงเศรษฐกิจไม่น้อยสำหรับธุรกิจจีนทั้งภาครัฐและเอกชนในการใช้ฐานของซินเจียงเป็นประตูด่านแรกในการกรุยทางเข้าสู่ทางสายไหมบนเอเชียกลาง
เพราะการใช้เงินหยวนที่ทำได้ทั้งเป็นสื่อกลางในการค้าและการลงทุนตั้งธุรกิจในแถบนี้ย่อมมีต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้เงินสกุลอื่นโดยเฉพาะเงินดอลลาร์
ซึ่งก็มีปัญหาความผันผวนสูงและยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลท้องถิ่นของภูมิภาคโดยเฉพาะเงินเตงก์(Tenge)ของคาซัคสถานด้วย
ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือ
คาซัคสถานซึ่งถือเป็นประเทศเอเชียกลางที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคล้ายๆจีนคือ
การให้ค่าเงินเคลื่อนไหวได้ในช่วงที่กำหนด
หรือ Trading
Bandซึ่งจะออกแนวกึ่งๆการใช้ระบบค่าเงินคงที่ไปด้วย
ดังนั้นแล้วในแง่นโยบายการเงินและเป้าหมายที่คล้ายกันของจีนและคาซัคสถานย่อมทำให้เงินหยวนของจีนประสานผลประโยชน์ของทั้ง2ประเทศได้ลงตัว
อีกทั้งด้วยเครือข่ายการขนส่งที่จีนวางแผนลงทุนเอาไว้จะทำให้ซินเจียงกลายเป็นประตูการค้าด่านแรกสู่เอเชียกลางผ่านคาซัคสถานและไปยังประเทศข้างเคียงได้ง่าย
เงินหยวนก็จะมีช่องทางโดยสารออกจากซินเจียงผ่านไปยังเอเชียกลางตั้งแต่คาซัคสถานไปตลอดเส้นทางสายไหม
และด้วยข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนด้านรถไฟในตุรกีก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงครั้งใหญ่ของเส้นทางการค้าที่นำไปสู่การต่อเส้นทางการเงินของเงินหยวนซึ่งจะมีความเชื่อมโยงไปถึงนโยบายมุ่งสู่ภาคตะวันตกหรือGo
West Policyที่ทางการจีนต้องการโยกฐานอุตสาหกรรมการผลิตไปยังมณฑลด้านในที่มีประชากรหนาแน่น
นั่นจะทำให้โรงงานในภาคตะวันตกมีเครือข่ายโซ่อุปทานและตลาดสินค้าเชื่อมโยงไปถึงผู้บริโภคชาวมุสลิมในแถบเอเชียกลางได้ด้วย
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ภูมิภาคนิยมของเงินหยวนทางภาคตะวันตกสำเร็จไปด้วยก็คือ
การใช้ประโยชน์จากสถาบันอย่าง
องค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้
หรือ SCO
(Shanghai Cooperation Organization)ที่เป็นองค์การด้านความมั่นคงและได้ขยายความร่วมมือไปยังด้านเศรษฐกิจ
เทคโนโลยี และวัฒนธธรมด้วยในปัจจุบัน
โดยในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่25พฤศจิกายน2010ซึ่งเป็นการประชุมระดับนายกรัฐมนตรีครั้งที่9ที่ประเทศทาจิกิสถาน
นายกรัฐมนตรีเวิน
เจียเป่าของจีนได้มีข้อเสนอในการขยายความร่วมมือระยะยาว6ข้อในบรรดาชาติสมาชิกSCOในแถบเอเชียกลางทั้ง
6ชาติซึ่งมีจีน
รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน
ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน
โดยข้อเสนอทั้ง 6ข้อนั้นข้อหนึ่งที่น่าสนใจและสำคัญต่ออนาคตของเงินหยวนก็คือ
การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าระหว่างกันในหมู่ชาติสมาชิก
การเสนอเช่นนี้ของจีนโดยนัยยะแล้วก็คือ
การให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินการค้าของภูมิภาคควบคู่กับเงินรูเบิ้ลรัสเซียนั่นเอง
แต่ต้องไม่ลืมว่าสินค้าออกของรัสเซียมีแค่พลังงานเท่านั้นเงินรูเบิ้ลอาจมีบทบาทจำกัดแค่การชำระค่าพลังงานของประเทศมุสลิมอื่นๆยกเว้นคาซัคสถานซึ่งไม่มีพลังงานมาก
ขณะเดียวกันในแง่ของระบบโครงสร้างพื้นฐานนั้น
ประเทศจีนมีการลงทุนด้านระบบรางเพื่อเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคนี้ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปยังโครงการทางรถไฟ5,000กิโลเมตรที่จีนกำลังสร้างให้ตุรกีได้ด้วย
ขณะเดียวกันจีนยังเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประเทศเหล่านี้ผลิตไม่ได้ด้วย
เมื่อผนวกกับปัจจัยด้านการขนส่งแล้วย่อมทำให้เงินหยวนสามารถเอื้อมมือไปยังภูมิภาคนี้ได้ง่ายกว่า
ข้อเสนออีกข้อที่น่าสนใจก็คือ
การเสนอให้มีการตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งSCO
(SCO Development Bank) ซึ่งไม่น่าจะมีวัตถุประสงค์ต่างจากADBมากนักคือ
มุ่งเน้นการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ซึ่งเมื่อดูจากขนาดเศรษฐกิจแล้ว
โครงสร้างการลงขันทางการเงินและการถือหุ้นคงไม่พ้นมีจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
เพราะแม้รัสเซียซึ่งเป็นประเทศกลุ่มBRICด้วยกันกับจีนก็ยังมีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าจีนมากกว่า3เท่าตัว
ดังนั้นในทางปฏิบัติจีนจะมีอำนาจครอบงำธนาคารแห่งนี้
และจีนสามารถเลือกปล่อยกู้เป็นเงินหยวนได้เพื่อให้เงินหยวนนี้กลับมาซื้ออุปกรณ์ต่างๆและจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาชาวจีน
นั่นจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการปักฐานที่มั่นของเงินหยวนบนเส้นทางสายไหมแถบเอเชียกลางแห่งนี้
ข้อเสนออีกข้อหนึ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับเงินหยวนแต่จริงๆมีผลมากต่อการขับเคลื่อนเงินหยวนในระบบเศรษฐกิจตลอดเส้นทางสายไหมก็คือ
การตอกย้ำถึงความมั่นคงและเสถียรภาพในหมู่ชาติสมาชิกโดยนายเวิน
เจียเป่าเรียกร้องให้ทุกฝ่ายจัดการปัญหาเรื่อง
“3กองกำลังแห่งความชั่วร้าย”
อย่างเด็ดขาดและถาวรซึ่งกองกำลังทั้ง3หรือThree
Evil Forces ประกอบไปด้วย
พวกสุดโต่ง พวกแบ่งแยกดินแดน
และกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ
ซึ่งหากติดตามสถานการณ์ที่ผ่านมาจะพบว่าจีนมีปัญหาเรื่องกองกำลัง3กลุ่มนี้มากในแถบซินเจียงที่เป็นมณฑลที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากแต่ประสบเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง
การรักษาเสถียรภาพระยะยาวจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในซินเจียงและตลอดเส้นทางสายไหมซึ่งจะมีคาราวานการค้าผ่านระบบรางและการสร้างท่อก๊าซข้ามทวีปสู่จีน
การผนึกกำลังกับชาติมุสลิมในเอเชียกลางและรัสเซียจะช่วยให้จีนมีความมั่นใจในการเดินหน้าแผนการพัฒนาซินเจียงและการตั้งฐานเงินหยวนผ่านซินเจียงด้วย
จิ๊กซอว์ความมั่นคงนี้ไม่ใช่จะต่อผ่านSCOเท่านั้นแต่จีนมองการณ์ไกลถึงการดึงพลังอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มคนที่อยู่ตามเส้นทางสายไหมตลอดทางนี้ซึ่งมิใช้เป็นเพียงคนมุสลิมเท่านั้น
แต่คนพวกนี้คือ “ชนชาติเติร์ก”
ผู้เคยเกรียงไกรในประวัติศาสตร์
และนั่นทำให้ตุรกีอยู่บนแผนที่ทางนโยบายด้วยซึ่งตุรกีมีขอ้ตกลงทุกอย่างคล้ายๆกับชาติสมาชิกSCOเลยทั้งการใช้เงินหยวน
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
การค้า และรวมถึงการให้คำมั่นในการ
“จัดการขั้นเด็ดขาด” ต่อ 3กองกำลังที่เป็นปัญหาด้านความมั่นคงและเป็นอุปสรรคด้านการพัฒนาของจีนด้วย
โดยรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีให้คำมั่นในการจัดการเรื่องนี้กับจีนระหว่างการเยือนปักกิ่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
และจีนกล่าวขอบคุณในการช่วยจัดการกลุ่มก่อการร้ายในแถบเตอร์กิสถานตะวันออกให้ด้วย
ฉะนั้นแล้วการเดินเกมเงินหยวนของจีนทิศตะวันตกตอนนี้จึงต่างจากเกมในภาคตะวันออกอย่างมากเพราะจีนมีการใช้กลไกด้านความมั่นคงเป็นตัวนำและเชื่อมโยงกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานเช่นเดียวกับด้านการค้า
และการใช้ปัจจัยการเชื่อมโยงทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่เป็นมุสลิมและเติร์กด้วยกันของซินเจียงและประเทศเอเชียกลางและตุรกีด้วย
ซึ่งนั่นย่อมทำให้เงินหยวนมีบทบาทด้านการค้าและพลังงานในรูปของเปโตรหยวนในแถบนี้มากขึ้น
และปลายทางสุดท้ายบนเส้นทางสายไหมอย่างตุรกีก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการช่วยพาเงินหยวนปักธงในโลกมุสลิมด้วย
ดังนั้นการปักธงของเงินหยวนกับชนชาติเติร์กตลอดเส้นทางสายไหมผ่านกลไกอย่างSCOและการเชื่อมสัมพันธ์กับตุรกีจะทำให้เงินหยวนมีช่องทางมากขึ้นในการเข้าสู่โลกมุสลิมในอนาคต
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2364 ครั้ง