การเงินอิสลามในระบบการเงินโลกตอนที่ 3 – การพัฒนาการเงินอิสลามในตะวันตก
แม้จะเผชิญวิกฤตการเงินจนทำให้เกิดอาการเซไปพอสมควรอีกทั้งยังโดยกระหน่ำจากวิกฤตหนี้ของดูไบ แต่ในระยะยาวแล้วหลายฝ่ายยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของการเงินอิสลามในฐานะโอกาสใหม่ในระยะยาวท่ามกลางความผันผวนและปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเงินที่พัฒนาโดยโลกตะวันตก
โดยนอกจากเมืองชั้นนำอย่างดูไบ โดฮา หรือแชมป์เก่าของภูมิภาคอย่างบาห์เรนจะกระตือรือร้นในการชิงความเป็นผู้นำในด้านนี้แล้วก็มีคู่แข่งที่น่าจับตามองทั้งจากตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรปโดยเมืองสำคัญๆที่มีความพร้อมในปัจจุบันและศักยภาพในอนาคตในด้านการเงินอิสลามได้แก่
1.ลอนดอน กรุงลอนดอนถือว่าเป็นศูนย์กลางการเงินโลกและสั่งสมความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน หากจะว่ากันจริงๆ ลอนดอนมีความช่ำชองทางการเงินมามากกว่า 300 ปีนับแต่ตั้งตลาดหุ้นลอนดอนในปี 1698 ลอนดอนเป็นศูนย์กลางการกู้เงินและการธนาคารระหว่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการค้าเงินและค้าทองคำระหว่างประเทศ มีกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพรองรับ มีกลไกสถาบันที่แข็งแกร่ง มีผู้เชี่ยวชาญทางการเงินในทุกๆด้าน อีกทั้งนายธนาคารของลอนดอนก็มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับนักลงทุนรายใหญ่ทั้งเอกชนและบรรดาสมาชิกของราชวงศ์ในประเทศตะวันออกกลาง ทำให้มีความได้เปรียบในการดึงดูดเงินทุนและสร้างผลิตภัณฑ์ อีกทั้งในอังกฤษเองก็มีคนมุสลิมอาศัยอยู่กว่า 14-15 ล้านคนในปัจจุบัน
อังกฤษก็ได้แสดงถึงความชัดเจนในการเป็นศูนย์กลางการเงินอิสลาม โดยอังกฤษได้กลายเป็นชาติแรกที่ออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปของพันธบัตรอิสลาม ขณะเดียวกันตลาดหุ้นลอนดอนก็ได้รับพันธบัตรอิสลามที่ออกโดยรัฐบาลบาห์เรนมาจดทะเบียนเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2008 ที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาวิกฤตการเงินที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจอังกฤษอย่างหนัก และการเกิดปัญหาซ้ำซากในระบบธนาคารอังกฤษเอง อีกทั้งมีแนวโน้มว่าอังกฤษจะมีการเก็บภาษีในภาคการเงินเพิ่มทำให้อังกฤษมีปัญหาทั้งภาพลักษณ์และการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่จะเข้มข้นขึ้น ทำให้อังกฤษอาจเสียเปรียบในฐานทางด้านนี้ ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายด้านการเงินของอังกฤษออกมาระบุว่า ขณะนี้ตลาดพันธบัตรอิสลามในยุโรปโดยเฉพาะที่อังกฤษอยู่ในภาวะบเซาอย่างหนัก เนื่องจากปัญหาความเชื่อมั่นอีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกที่สนใจออกพันธบัตรอิสลามกลับไปหาการระดมทุนแบบเดิม
อย่างไรก็ตาม Stephen Green ประธานกรรมการ HSBC Holdings ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปออกมากล่าวว่าหากลอนดอนต้องการเป็ฯศูนย์กลางการเงินโลกต่อไปก็ต้องรุกไปทางด้านการเงินอิสลาม และชี้ว่าลอนดอนยังมีความได้เปรียบในฐานะผู้นำนวัตกรรม และในลอนดอนเองก็มีธนาคารชั้นนำของโลกถึง 10 แห่งให้บริการด้านนี้ และมีธนาคารอิสลามอยู่ถึง 10 แห่งด้วยกัน เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพในระยะยาวของการเงินอิสลามจากปากของบุคคลชั้นนำของโลกในวงการการเงิน
2.ปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพและสนใจด้านนี้ไม่ใช่น้อย ฝรั่งเศสเองก็มีประชาการมุสลิมอาศัยอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก และอาจจะมากกว่าอังกฤษในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามประเทศฝรั่งเศสเองก็ติดปัญหาด้านข้อกฎหมายในการพัฒนาด้านการเงินอิสลาม อีกทั้งอุตสาหกรรมการเงินยังดีสู้อังกฤษไม่ได้ นอกจากนั้นแล้วสถาบันการเงินฝรั่งเศสยังขาดสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนการเงินจากตะวันออกกลางด้วย
3.ลักเซ็มเบิร์ก ที่ลักเซ็มเบิร์กมีการพัฒนาและส่งเสริมด้านการเงินอิสลามมานานแล้ว และจริงๆแล้วที่นี่มีการออกพันธบัตรอิสลามเป็นที่แรกในยุโรป นอกจากนี้ก็เริ่มมีกบรรดากองทุนการเงินอิสลาม (Shariah Compliant Fund) ไปจดทะเบียนที่นี่มากขึ้น ถือเป็นการปูพื้นฐานธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ตามแบบอิสลามหรือ Islamic Asset Management ด้วย และตัวลักเซ็มเบิร์กเองก็เป็น 1 ในศูนย์กลางด้านธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนลงทุนอื่นๆที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกด้วยนอกเหนือจากนิวยอร์ค และบรรดาศูนย์กลางการเงินในแถบแคริเบียน นอกจากนี้ทางการของลักเซ็มเบิร์กก็ยังมีการวางรากฐานให้กับธุรกิจบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่ปรึกษากฎหมายและภาษี การจัดเก็บและรักษาสินทรัพย์ (Custodian Bank) และระบบการชำระราคาและถ่ายโอนสินทรัพย์ (Transfer Agent) คาดว่าทิศทางของที่นี่คงเน้นไปทางด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์และด้านตลาดทุนอิสลามเป็นหลัก
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 112626 ครั้ง