วันที่ 7 ธันวาคม นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา เปิดเผยถึงเหตุการณ์ลมงวงช้าง หรือลมหัวด้วนพัดสร้างความเสียหายให้กับประชาชนที่อาศัยอยูในพื้นที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นความผิดปกติทางธรรมชาติเนื่องปรากฎการณ์ลมงวงช้าง จะไม่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน แต่จะเกิดขึ้นเป็นข่าวให้เห็นหรือได้ยินอยู่บ่อยๆในช่วงฤดูร้อน หรือช่วงปลายร้อนต้นฝน แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่หมู่3 และ4 ต.เสาธง,หมู่5และ7 ต.หินตก และหมู่2 ต.ควนชุม ซึ่งเป็นพื้นที่มีรอยติดต่อกันทั้งหมด
นายวันชัย กล่าวว่า แม้ปรากฎการณ์ลมงวงช้างจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ความรุนแรงที่เกิดกับพื้นที่ถือว่ามีความหนักหน่วงและสร้างความเสียหายอย่างมากไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน พื้นที่ทางการเกษตร แต่ที่ผ่านมาเหตุการณ์ทางธรรมชาติมักไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในช่วงกลางฤดูฝน หรือปลายฤดูฝน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ครั้งนี้ นับเป็นความผิดปกติทางธรรมชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องศึกษาและตรวจสอบปรากฎการณ์ทางธรรมชาติอย่างละเอียด
“ถือเป็นความผิดปกติทางธรรมชาติเพราะลมงวงช้างจะไม่ค่อยมีให้เห็นหรือปรากฎขึ้นในช่วงเวลานี้โดยเฉพาะยามที่พื้นที่ภาคใต้เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งส่วนใหญ่ตามสถิติหรือข้อมูลมักจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้จำเป็นต้องตรวจสอบและร่วมกันศึกษาค้นคว้าหาคำตอบเพื่อให้รู้เท่าทันธรรมชาติที่ผันแปรในเวลานี้”นายวันชัย กล่าว
ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จ.สงขลา กล่าว ขณะนี้เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยา และนักพยากรณ์อากาศ ได้ติดตามและศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้คำตอบที่สร้างความกระจ่างชัดถึงความผันผวน หรือแปรปรวนของธรรมชาติในเวลานี้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาในเรื่องนี้ได้ช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการรับมือและป้องกันความสูญเสียจากวาตภัยหรือภัยธรรมชาติ
มทภ.4 สั่งเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม
พันเอกบรรพต พูลเพียร หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ในห้วง 2-3 วันที่ผ่านมา เกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ ซึ่งอาจจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน เกิดวาตภัย และดินถล่มนั้น เพื่อให้การเตรียมความพร้อมในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
“ พลโท อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จึงได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด และหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัว ได้เตรียมความพร้อมและการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบ โดยการบูรณาการศักยภาพของหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม “พ.อ.บรรพต กล่าว
ทั้งนี้ ยังได้มีการสำรวจข้อมูลพื้นที่เสี่ยงจากการเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม รวมทั้งเส้นทางคมนาคมที่เสี่ยงต่อการถูกตัดขาดในพื้นที่ โดยกำหนดระดับความรุนแรงเป็น 3 ระดับ คือระดับรุนแรงมาก ระดับปานกลาง และระดับเล็กน้อย
นอกจากนี้ ยังให้จัดทำแผนการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัย การฟื้นฟูบูรณะสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ชำรุดเสียหาย ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งการประสานและสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 3373 ครั้ง