รูปภาพ : ที่ผ่านมาชาติอาหรับในกลุ่ม GCC มักเก็บทองคำสำรองต่ำกว่า 5% ของทุนสำรองทั้งหมด
ที่มา : The National
ประเทศกลุ่ม GCC ควรเพิ่มปริมาณทองคำสำรองเพื่อช่วยปกป้องสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลจากความปั่นป่วนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน จากการให้ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักบริหารศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศแห่งดูไบหรือ DIFCA (Dubai International Financial Centre Authority)
การกระจายทุนสำรองจากเงินดอลลาร์ไปยังทองคำมากขึ้นจะช่วยให้ธนาคารกลางในภูมิภาคมีผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้น ดร.นัสเซอร์ ไซดี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ DIFCA และ ดร. ฟาบิโอ สคัซซีอาวิลลานี่ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์มหภาคและสถิติของ DIFCA กล่าว
“เมื่อคุณเจอกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมากมาย การลงทุนในสินทรัพยกระดาษไม่ว่าจะเป็นหุ้น พันธบัตร หรือตราสารทุนประเภทอื่นๆย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่น่าสนใจ” ดร.ไซดี้กล่าว “นั่นทำให้ทองคำน่าสนใจกว่า”
การร่วงลงของดอลลาร์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกน้ำมันของประเทศกลุ่ม GCC ซึ่งหลักๆแล้วขายเป็นดอลลาร์
ราคาทองคำพุ่งทำจุดสูงสุดครั้งใหม่ก่อนที่จะร่วงลงในสัปดาห์นี้จากการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ในระยะยาวแล้ว ทองคำจะมีบทบาทในระบบการเงินโลกมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนขั้วเศรษฐกิจโลกจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศเกิดใหม่มีความเข้มข้นกว่าเดิม 2 นักเศรษฐศาสตร์ของ DIFCA กล่าวในรายงานที่ตีพิมพ์วานนี้ (8 ธันวาคม 2010)
สถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะเงินตราสกุลหลักของโลกน่าจะเสื่อมลงเนื่องจากบทบาทที่ถดถอยลงของสหรัฐฯในระบบเศรษฐกิจโลก
ทองคำยังสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างในระบบการเงินได้ในภาวะที่เงินยูโรและเงินหยวนไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเงินตราสกุลทางเลือกได้
ปัจจุบันเงินดอลลาร์มีสัดส่วนอยู่ในทุนสำรองของโลกเกือบ 2 ใน 3 และทำหน้าที่เป็นเงินสกุลอ้างอิงในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในกว่า 89 ประเทศทั่วโลกซึ่งรวมถึง 5 จาก 6 ประเทศในกลุ่ม GCC (ยกเว้นคูเวต) กลุ่ม GCC ยังถือเป็นผู้ถือตั๋วเงินคลังของรัฐบาลสหรัฐฯหรือ Treasury Bills รายสำคัญด้วยเนื่องจากตั๋วเงินคลังสหรัฐฯมีความเสี่ยงต่ำขณะที่ผลตอบแทนก็ต่ำด้วย
ที่ผ่านมาประเทศกลุ่ม GCC มักจะดำรงสัดส่วนทองคำสำรองต่ำกว่า 5% ของทุนสำรองทั้งหมดมาตลอด ประมาณ 12% ของทุนสำรองคูเวตเป็นทองคำ ขณะที่การถือทองคำสำรองของซาอุดิอาระเบียและกาตาร์กลับต่ำกว่าคือ 2.7% และ 2.3% ตามลำดับ ขณะที่ทองคำสำรองของ UAE เชื่อว่ามีปริมาณน้อยมากแม้ว่าธนาคารกลาง UAE จะไม่เปิดเผยตัวเลขออกมาก็ตาม
ความปั่นป่วนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมาได้เร่งความเคลื่อนไหวของประเทศเกิดใหม่อื่นๆไม่ว่าจะเป็นอินเดีย จีนและรัสเซียให้เพิ่มปริมาณทองคำสำรอง ทองคำมีสัดส่วน 25% ในทุนสำรองของธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB (European Central Bank)
“มูลค่าของเงินกระดาษกำลังถูกลดค่าลงจากการอัดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE (Quantitative Easing) ในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ” ดร.สคัซซีอาวิลลานี่ระบุ “ทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซึ่งไม่ต้องขึ้นกับการคัดสินใจทางการเมืองใดๆและยังมีบทบาทในฐานะเครื่องมือปกป้องจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจด้วย”
ขณะที่ทองคำกำลังพิสูจน์ว่าเป็นสวรรค์ที่ปลอดภัยของนักลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา การคลายตัวลงของความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนย่อมดึงให้นักลงทุนกลับไปหาสินทรัพย์กระดาษ
“นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะโละทองคำออกเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากทองคำไม่มีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม” นายอเล็สซานโดร มักโนลี่ บอซชี่ หัวหน้านัดเศรษฐศาสตร์ของ Kuwait China Investment Company
ในระยะยาว ความสำคัญของโภคภัณฑ์จะไม่ลดความต้องการสำหรับกลุ่ม GCC ในการพัฒนาไปสู่การเป็นอิสรภาพทางการเงินมากขึ้นโดยการเดินหน้าแผนการตั้งเงินตราสกุลเดียวของภูมิภาค นายบอซชี่กล่าว
ที่มา The National
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday
ท่านสามารถอ่านรายงานการวิเคราะห์ฉบับเต็มที่ชื่อ Economic Note 13: The Role of Gold in the New Financial Architecture ของ 2 นักเศรษฐศาสตร์ของ DIFCA อันล่าสุดได้ที่
รวมถึงรายงานฉบับก่อนหน้าที่ชื่อ Economic Note 11: The Case for Gold as a Reserve Asset in the GCC ซึ่งวิเคราะห์บทบาทของทองคำในทุนสำรองเช่นกันได้ที่