วงเสวนามธ. ชี้ สถาบันกษัตริย์กำลังถูกท้าทาย เสนอ หามาตรการป้องกันไม่ให้กษัตริย์มายุ่งการเมือง แนะ ยุติข้อกล่าวหาล้มเจ้าก่อนปัญหาบานปลาย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ ‘สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย’ โดยนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นระบบที่ดีกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์ที่เป็นระบบอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ตัวบุคคลทำให้ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ไม่มีการปกครองโดยกฎหมาย ปัญหานี้จึงนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงพ.ศ.2475
นายสุธาชัย กล่าวว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการฉีกรัฐธรรมนูญและร่างกันใหม่หลายครั้งมีการเพิ่มพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์เสมอ ซึ่งไม่สอดคล้องกับยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะการแต่งตั้งองคมนตรีที่ให้ทำหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์โดยการแต่งตั้งและถอดถอนให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งเป็นรูปธรรมของการเพิ่มอำนาจ จากเดิมรัฐธรรมนูญในอดีตมีการกำหนดอภิมนตรีที่มีการบอกคุณสมบัติชัดเจน องคมนตรีในลักษณะนี้กลายเป็นองค์กรพิเศษที่ไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของประชาชน ขณะที่องค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญกลับมีวาระในการดำรงตำแหน่ง การให้มีองคมนตรีแบบนี้ไม่สอดคล้องกับระบบนี้ ไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์ไม่ได้ แต่ต้องให้ถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์โดยไม่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
“ดังนั้น คิดว่าประเด็นเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หลักการนี้ตามต่างประเทศเช่นประเทศสวีเดนที่ถือว่าเป็นองค์พระประมุขในพิธีการแห่งรัฐไม่มีพระราชอำนาจโดยถืออำนาจเป็นของประชาชน” นายสุธาชัยกล่าว
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงรัฐธรรมนูญ2490 แต่ไม่เชื่อมโยงรัฐธรรมนูญฉบับแรก เพราะอุดมการณ์ทางรัฐธรรมนูญของไทยมักจะกล่าวอ้างมีรัฐธรรมนูญครั้งแรกในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งเป็นการตัดขาดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475ทีเน้นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
นายวรเจตน์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2490 รัฐธรรมนูญมีการจัดทำถอยห่างจากแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยตามอุดมการณ์เมื่อพ.ศ.2475มากขึ้นเรื่อยๆ คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้น ถึงเวลาปรับเปลี่ยนกติการัฐธรรมนูญให้เป็นสากลโดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ซึ่งในรัฐธรรมนูญของเราระบุชัดเจนว่าเป็นของประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้พระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดความสั่นคลอน
นายวรเจตน์ กล่าวว่า การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้ดำรงอยู่เป็นสถาบันในสังคมยาวนานต้องป้องกันไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระแต่ควรทำให้ชัด คือ การอภิปรายบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบัญญัติของพระมหากษัตริย์ว่าควรทำย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
“เรียกร้องไปยังสื่อมวลชนให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะเพราะข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้เป็นการเรียกร้องให้ล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นระบบสาธารณรัฐแต่อย่างใด” นายวรเจตน์ กล่าว
นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันกษัตริย์มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามขอร้องบุคคลที่ชอบกล่าวหาว่าประชาชนกลุ่มจ้องที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่าประเมินความรู้สึกแปลกแยกของประชาชนต่ำเกินไป และอย่าคิดว่าจะใช้วิธีการสองมาตรฐานเพื่อจัดการปัญหาทั้งหมดเพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความไม่พอใจของประชาชนมากขึ้น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1652 ครั้ง