วันที่ 11 ธันวาคม นายขวัญชัย ติยะวานิช นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภาคอีสาน หรือ สมาคมรถบรรทุกอีสาน เปิดเผยถึง สถานการณ์การปรับราคาน้ำเชื้อเพลิงประเภทดีเซล ที่มีราคาขายหน้าปั๊ม ในขณะนี้กว่า 30 บาท ว่า ผู้ประกอบกว่า 700 ราย ที่มีรถบรรทุกอยู่ในการบริหาร จัดการ ไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นคัน จะต้องแบกภาระต้นทุนในผลต่างของราคาน้ำมัน ฯ ที่เป็นข้อตกลงกับผู้ว่าจ้าง คิดค่าขนส่งขาไป-กลับ โดย 40 % จะเป็นค่าเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้น ผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคาค่าขนส่งตามไม่ได้ เพราะเป็นข้อตกลงในสัญญาลักษณะเช่าเหมา บางรายใช้ราคาก๊าซธรรมชาติ ในการคิดค่าขนส่ง จึงเกิดการแย่งงาน แต่ในสัดส่วนรถบรรทุก ที่ใช้ก๊าซ ฯ ยังมีเพียง 20 % ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด จึงไม่ใช่คำตอบของการประกอบการที่จะสามารถบริหาร จัดการ ให้มีกำไร
นายกผู้ประกอบการ กล่าวต่ออีกว่า โอกาสของผู้ประกอบการ ที่มีงานรับจ้างเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้จะมีสินค้าพืชผลทางการเกษตรออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้น หลายรายที่เคยประสบภาวะขาดทุน จนถึงขั้นเลิกกิจการไปในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ต่างได้หันกลับมาฟื้นฟูธุรกิจขึ้นใหม่ แต่เหมือนมรสุมที่ยังตามมาหลอก หลอน ต้นทุนหลัก ในส่วนราคาเชื้อเพลิง น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่ไม่นิ่ง ปรับขึ้นตามตลาดโลก จะทำให้ผู้ประกอบการ ฯ ต้องมาทบทวน หาแนวทางปรับลดต้นทุน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในภาวการณ์นี้ ดังนั้นจึงอยากที่จะให้รัฐบาล ช่วยตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้สูงขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังอยู่ในทิศทางที่ดี และ ผู้ประกอบการ กำลังปรับตัวรับสภาพได้ โดยราคาของน้ำมันดีเซล ไม่ควรเกิน 30 บาท ต่อลิตร ส่วนก๊าซธรรมชาติ เอ็นจีวี 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี ต้องไม่ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ เนื่องจากก๊าซ เอ็นจีวีจะผูกติดกับราคาน้ำมัน หากปรับราคาขึ้นผู้ประกอบการก็จะหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแทน และจะต้องมีการสำรองก๊าซ ฯ ไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการด้วย
“ รัฐบาล จะต้องกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และ ก๊าซธรรมชาติ ให้ชัดเจน จะอ้างกลไกตลาดโลกไม่ได้ คาดว่า ในห้วงอาทิตย์หน้า ตัวแทน สมาคม ฯ จะนัดเวลาขอเข้าพบ รมว.พลังงาน และ รมว.คลัง เพื่อชี้แจงผลกระทบที่เกิดขึ้น และขอคำตอบในการควบคุมราคาเชื้อเพลิงทั้งสองประเภท พร้อมกับขอความช่วยเหลือแหล่งเงินทุน ที่ปล่อยให้กู้ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ และเงื่อนไขไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ในการดัดแปลงการใช้น้ำมันมาเป็นก๊าซ ฯ ที่ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายต่อคันไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท เพื่อจะได้ช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง หากไม่มีความคืบหน้า และการช่วยเหลือเป็นรูปธรรม เราจะนัดหารือในการเคลื่อนไหวอีกครั้ง “ นายกสมาคมรถบรรทุกอีสาน กล่าว
ด้าน “ เจ้เกียว “ นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมรถโดยสารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขอยืนยัน เจ้เกียว ไม่ได้ให้ข่าวว่าจะปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร แม้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง จะปรับขึ้น แต่ผู้ประกอบการ ยังคงยอมแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น วันนี้เป็นวันหยุดราชการ การติดต่อประสานงานยังไม่ครอบคลุม ในช่วงวันจันทร์ (13 ธ.ค.)นี้ ตนจะนัดกรรมการสมาคม ฯ หารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพื่อขอเข้าพบ อธิบดีขนส่งทางบก ชี้แจงปัญหา หากเป็นไปได้จะขอความเห็นใจที่พวกเราไม่ได้เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งๆที่ราคาน้ำมัน ฯ มีส่วนต่างจากระดับขั้นการคิดค่าโดยสารห่างกันถึง 5 ขั้น โดยจะขอปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มจากเดิม 6 สตางต์ ต่อหนึ่งกิโลเมตร เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนในการบริหาร จัดการ
นายควง วงศ์เบญจรัตน์ ประธานบริหาร บริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด เปิดเผยในฐานะ ประธานชมรมรถโดยสารประจำทางโคราช กล่าวว่า การคิดอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน ที่เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการรถโดยสาร กับ กระทรวงคมนาคม จะใช้ในระดับขั้นที่ 12 คือคิดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทดีเซล 24.71 บาท ต่อลิตร แต่สถานการณ์ในขณะนี้ ราคาน้ำมัน ปรับขึ้นไปกว่าเดิม 6 บาท ตามหลักความเป็นจริง จะต้องใช้คิดค่าโดยสารในระดับขั้นที่ 17 ในส่วนผู้ประกอบการขนส่งที่อยู่ในชมรม ฯ 120 ราย มีรถโดยสารร่วม 1 พันคัน จะต้องแบกรับภาระ เพิ่มขึ้นอีก เราจะไปดัดแปลงรถให้ใช้ก๊าซ ฯ แทน เฉพาะเครื่องยนต์ จะต้องใช้เงินกว่า 4 แสนบาท หากปรับเปลี่ยนให้สมบูรณ์แบบ จะตกอยู่ร่วม 1 ล้านบาท และยังมีข้อจำกัดในเกี่ยวกับปั๊มก๊าซ ฯ ในต่างจังหวัด จึงมีเพียงน้อยรายที่ยอมลงทุนในส่วนตรงนี้ จึงอยากให้ รัฐบาล ช่วยเหลือเร่งด่วน และชัดเจน ว่าจะทำอย่างไร มิเช่นนั้นปัญหาในการบริการโดยสาร จะต้องมีขึ้นตามมาอย่างแน่นอน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1524 ครั้ง