การเงินอิสลามในระบบการเงินโลกตอนที่ 4 – การพัฒนาการเงินอิสลามในแถบเอเชีย
ทวีปเอเชียถือเป็นแหล่งของความมั่งคั่งของโลกในอนาคต และคาดว่าเอเชียจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงินของโลกในอนาคตด้วยภายใต้การนำของจีนและอินเดีย ขณะเดียวกันนอกจากที่นี่จะกลายเป็นชุมทางของเงินทุนจากทั้งโลกแล้ว ที่เอเชียยังมีประชากรที่เป็นมุสลิมจำนวนมหาศาลอาศัยอยู่ด้วย หากนับประเทศที่เป็นมุสลิมล้วนๆล่มาตั้งแต่ปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จะพบว่ามีคนมุสลิมมากกว่า 600 ล้านคน และถ้ารวมในจีน อินเดีย ที่อื่นๆในเอเชียอาคเนย์ก็จะได้จำนวนคนมุสลิมอีกกว่า 240 ล้านคน ดังนั้นประชากรมุสลิมมากกว่า 2 ใน 3 อยู่ที่เอเชียนั่นเอง และด้วยตลาดการเงินอิสลามที่กำลังเติบโตทำให้หลายประเทศจ้องที่จะเข้าสู่สมรภูมิแห่งนี้ตามรอยประเทศในตะวันออกกลางและในยุโรปด้วย โดยเมืองที่มีศักยภาพในแถบเอเชียที่จะแข่งขันด้านนี้ได้นั้น ได้แก่
ฮ่องกง โดยฮ่องกงอาศัยความได้เปรียบของการเป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชียและของโลกในอนาคต อีกทั้งใช้กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศซึ่งก็คือ ดูไบ ท่าอากาศยานฮ่องกงก็ประกาศไว้เมื่อมิถุนายน 2008 ว่าจะออกพันธบัตรอิสลามเป็นครั้งแรกเช่นกัน ฮ่องกงประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระสำคัญของตัวเองเพื่อแข่งกับลอนดอน ความได้เปรียบอีกอย่างที่น่าสนใจของฮ่องกงคือ การเชื่อมต่อกับเซี่ยงไฮ้ ซึ่งนั่นเป็นไม้ตายของฮ่องกงในการใช้เผด็จศึกกับคู่แข่งในสงครามการเงินครั้งนี้ ความน่าสนใจอีกประการคือ แม้ว่าการออกพันธบัตรอิสลามในลอนดอนหรือที่อื่นๆจะมีปริมาณมากกว่าที่นี่ซึ่งเพิ่งประกาศแผน แต่ฮ่องกงอาจเลือกการใช้ “การเติบโตของจีน” ให้เป็นประโยชน์ ภายใต้แผนการยกเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินโลก มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการออกพันธบัตรอิสลามในรูปเงินหยวนเพื่อขยายโอกาสการลงทุนแลการค้าระหว่างตะวันออกกลางหรือมุสลิมกับจีน
โตเกียว การโดนบีบคั้นจากคู่แข่งทั้ง โซล สิงคโปร์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ลอนดอน และนิวยอร์ค ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการหาทางออกให้กับตลาดหุ้นโตเกียวซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่าตลาดมากกว่าตลาดหุ้นนิวยอร์คในยุค 80 อันรุ่งโรจน์ ขณะนี้นักลงทุนสถาบันของญี่ปุ่นซึ่งกอดเงินมูลค่ามหาศาล 20-30 ล้านล้านดอลลาร์ ยังคงเก็บเงินไว้ในตราสารหนี้เป็นหลัก ขณะที่ตลาดหุ้นโตเกียวมีผลตอบแทนไม่ค่อยดีนัก ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่านความร่วมมือแบบต่อเนื่องให้นักลงทุนตะวันออกกลางมาลงทุนในตลาดหุ้นโตเกียว โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเน้นความร่วมมือไปที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWFs) ซึ่งมีเงินทุนมหาศาล และต้องการลงทุนระยะยาว ต้องไม่ลืมอีกประเด็นคือ ญี่ปุ่นมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์กับตะวันออกกลาง ญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้นำเข้าน้ำมันและแหล่งรายได้ของกลุ่มโอเปกในตะวันออกกลางอันดับ 2 ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ที่ผ่านมาบริษัทสาธารณูปโภคและน้ำมันญี่ปุ่นก็ยังคงไปลงทุนในตะวันออกกกลางอย่างต่อเนื่อง และประเทศที่เป็นกุญแจสำคัญของญี่ปุ่นตอนนี้คือ สหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์ แต่ความต่างจากฮ่องกงคือ ญี่ปุ่เลือกที่จะจับคู่กับขาใหญ่ของประเทศคือ Abu Dhabi และ Abu Dhabi Investment Authority (ADIA) ซึ่งมีเงินหนาและปัญหาน้อยกว่าดูไบมาก ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับดาวโจนส์ จัดทำดัชนีหุ้นอิสลาม เพื่อใช้เป็นดัชนีอ้างอิงของนักลงทุนจากโลกมุสลิมในการลงทุนใตลาดหุ้นโตเกียว
สิงคโปร์ อาศัยการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกและเป็นชุมทางเงินแข่งกับฮ่องกงเป็นจุดแข็ง สิงคโปร์มีความได้เปรียบด้านภาษี และยังเป็นชุมทางของเงินจากทั้งญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง เป็นศูนย์กลางธุรกิจ Private Banking แทนที่ซูริคแน่ๆแล้ว เนื่องจากซูริคโดนแรงบีบจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปเรื่องการเป็นแหล่งเลี่ยงภาษี นอกจากนี้การมีระบบธนาคารและตลาดทุนที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถในการปรับตัวสูงทำให้สิงคโปร์เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอีกที่หนึ่ง ขณะเดียวกันสิงคโปร์มีช่องทางการติดต่อกับนักลงทุนตะวันออกกลางอยู่ 2 ช่องทางด้วยกัน ข้อที่หนึ่งคือ การติดต่อโดยตรง โดยที่นักลงทุนตะวันออกกลางใช้สิงคโปร์เป็นแหล่งบริหารเงินในเอเชีย และข้อที่สองคือการเข้ามาหาโอกาสในสิงคโปร์เอง อีกช่องทางที่น่าสนใจคือ ใช้กลยุทธ์เดียวกับญี่ปุ่นคือ ติดต่อผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (SWFs) โดยสิงคโปร์ก็มี SWFs ของตัวเองอยู่แล้วคือ Temasek Holdings และ GIC ซึ่ง GIC เองก็มีการติดต่อกับSWFs จากตะวันออกกลางอยู่แล้ว ทำให้เป็นความได้เปรียบ สิงคโปร์มีความได้เปรียบในการออกแบบผลิตภัณฑ์จำพวก ETF เพราะมีบริษัทจากต่างประเทศมาจดทะเบียนจำนวนมาก ขณะเดียวกันสิงคโปร์ยังอยู่ในฐานะได้เปรียบทางภูมิศาสตร์คือ การเป็นประตูไปสู่เอเชียอาคเนย์
กัวลาลัมเปอร์ เมืองแห่งนี้มีความได้เปรียบในฐานะเจ้าตลาดเดิม ซึ่งยังครองส่วนแบ่งในตลาดการออกพันธบัตรอิสลามในระดับสูงอยู่ และที่ผ่านมาแม้จะโดนดูไบเบียดไปบ้าง แต่จากวิกฤตการเงินก็ทำให้ดูไบเสียหายอย่างหนัก มาเลเซียมีความได้เปรียบในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับมาอย่างยาวนาน มีการพัฒนาระบบธนาคารอิสลามที่เป็นระบบ นอกจากนั้นยังได้แรงหนุนจากทุนเปโตรดอลลาร์จากตะวันออกกลางที่สนใจมาลงทุนในอุตสาหกรรมธนาคารอิสลามที่นี่เป็นจำนวนมาก ความเชี่ยวชาญ เครือข่าย กฎระเบียบทำให้กัวลาลัมเปอร์และมาเลเซียมีความได้เปรียบ อีกทั้งในปี 2008 ก็เคยมีข่าวว่าบริษัทชั้นนำของโลกจากสหรัฐฯและแคนาดาก็ต้องการมาออกพันธบัตรอิสลามที่นี่ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่อง กฎระเบียบและโครงสร้างทางสถาบันที่ออกมารองรับ
จาการ์ตา จาการ์ตานั้น คือ เมืองหลวงของประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก รัฐบาลอินโดนีเซียเอาจริงกับเรื่องนี้มาก การออก Sovereign Sukuk หรือตราสารหนี้รัฐบาลในรูปพันธบัตรอิสลามถือเป็นการเบิกฤกษ์ อุตสาหกรรมธนาคารของประเทศมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ขนาดของตลาดที่ใหญ่ทำให้อินโดนีเซียอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ แต่ก็ดูจะตามหลังคนอื่นๆคือเรื่องระบบตลาดทุนที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ซึ่งตรงนี้จะดึงให้เงินไปยังฮ่องกง สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์แทน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1905 ครั้ง