โรงไฟฟ้าถ่านหินนครศรีฯเจอชาวหัวไทรต้านหนักนับพันคน แถลงการณ์เลิกโครงการทันที นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านไทยออกโรง พร้อมเป็นแกนกลางประสานทำประชาคมด้าน กฟผ.เคลื่อนไหวเอาใจพาชาวบ้านในพื้นที่-ดีเจ วิทยุชุมชน-สื่อท้องถิ่นทัวร์ภาคเหนือ
ที่สนามเทศบาลตำบลหัวไทร อ.หัวไทร นครศรีธรรมราช ตั้งแต่เวลา 17.00 น.ของวันที่ 12 ธ.ค.จนถึง 01.00 น.ของวันที่ 13 ธ.ค.53 ได้มีการจัดกิจกรรมประกาศตัวต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของ กฟผ.ที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อก่อสร้างโครงการในพื้นที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะที่ อ.หัวไทร ค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการก่อสร้างโครงการในพื้นที่นี้
ทั้งนี้ มีการต่อต้านโครงการดังกล่าวจากหลายองค์กรและประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วยกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.หัวไทร กลุ่มเครือข่ายพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำปากพนัง อาสาสมัครสิ่งแวดล้อม อ.หัวไทร ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสิทธิมนุษยชนลุ่มน้ำปากพนัง รวมทั้งประชาชนจาก อ.หัวไทร และมีประชาชนจาก อ.ท่าศาลา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช อ.จะนะ จ.สงขลา อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่กว่า 2,500 คน โดยบุคคลที่เข้าร่วมทั้งหมดนั้นต่างแต่งชุดดำ มีข้อความ “หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน”
บนเวทีมีการแสดงพลังในการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะมีขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยกลุ่มแกนนำนับสิบคน พร้อมออกแถลงการณ์ เพื่อยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.หัวไทร โดยนายครองศักดิ์ แก้วสกุล ประธานกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร โดยมีสาระสำคัญคือ การเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ทันที และให้มีการทบทวนแผนงานโครงการฟาร์มกังหันลมขึ้นมาทดแทนเนื่องจากพื้นที่ อ.หัวไทร มีความเหมาะสมที่สุด
นายยงยศ แก้วเขียว กำนันตำบลเขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช ในฐานะนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเข้ามาสังเกตการณ์และเป็นกำลังใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า การคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดจากความต้องการของพี่น้องประชาชนไม่มีการยุยงส่งเสริมแต่อย่างใด หลักคือเขาไม่ต้องการโรงไฟฟ้า ตนประสานกับทุกภาคส่วนพบว่า ไม่มีการทำประชาคม หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าจริงต้องมีการทำประชาคมอย่างทั่วถึง โดยประชาชน 70 %ในหมู่บ้านมาประชุมฟังคำชี้แจง ลงมติกันว่าจะเอาหรือไม่เอา นี่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่
“ผมในฐานะคนในพื้นที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าต้องการหรือไม่ จึงขอฝากไปยังผู้ที่มาตั้งโรงไฟฟ้าได้รับรู้ว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่เขาไม่ต้องการ ต้องให้ประชาชนรับรู้ถึงที่มาที่ไปอย่างครบถ้วนตามกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างน้อยประชาชนจะได้ตัดสินใจว่าเขาจะดำเนินวิถีชีวิตของเขาเองว่าต้องการอะไร ในฐานะนักปกครองท้องที่พร้อมที่จะเป็นแกนกลางให้กับชาวบ้าน พร้อมเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้ามาชี้แจงกับชาวบ้าน แต่ขณะนี้ชาวบ้านที่มารวมตัวชุมนุมต่อต้านในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเข้ามาในพื้นที่ และมีการเปิดเวทีออกมาต่อต้านกันแล้วชั้นนี้การทำ อีไอเอนั้นไม่มีความสำคัญ ไม่ต้องการแล้ว ขอให้หยุดอีไอเอไว้ก่อน แล้วมาทำประชาคมกับชาวบ้านจะได้รู้ว่าเขาต้องการหรือไม่ต้องการ” นายยงยศกล่าว
นายครองศักดิ์ แก้วสกุล อดีตข้าราชการครู ในฐานะประธานกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร เปิดเผยว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ให้ความจริงกับชาวบ้านเลย เพียงแต่บอกว่าไฟฟ้ามีประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ ให้ความจริงไม่รอบด้าน โดยด้านเสียหาย ด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่บอกเลย ประชาชนมีบทเรียนมาแล้วประสบปัญหามาแล้วอย่างเช่นโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง และที่มาบตาพุด ซึ่งชาวบ้านได้รับสารพิษซึ่งมีกรณีตัวอย่างมามากแล้ว เพราะฉะนั้นคนในท้องที่ อ.หัวไทร มีความเครียดมากเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่
“เราต้องการไฟฟ้าจากพลังธรรมชาติ แต่ไม่ต้องการไฟฟ้าถ่านหิน เพราะหากเกิดขึ้นในพื้นที่จะส่งผลกระทบรอบด้าน ทั้งเรื่องมลพิษ ส่วนที่มีกระแสว่าโรงไฟฟ้าเข้ามาดำเนินการอย่างชัดเจนแล้วนั้น ในฐานะเครือข่ายฯ และกลุ่มคัดค้านฯ จะเร่งให้ความรู้ประชาชนทุกหมู่บ้าน ตำบล เรื่องมลพิษที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองเรา มันทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างไร เพราะพื้นที่พัฒนาลุ่มน้ำปากพนังแห่งนี้เป็นเขตโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นเราต้องการวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ต้องการดำเนินชีวิตอยู่มลพิษ อยู่สารพิษรอบตัว ซึ่งเราไม่ต้องการแบบนั้น” นายครองศักดิ์ กล่าว
นายสุเทพ คงมาก อดีตรองประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอหัวไทรเปิดเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้ยืนยันมาตลอดว่าเราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะมันขัดกับโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาชีวิตนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ เราต้องการน้ำ ต้องการชีวิตแบบพอเพียง ต้องการอาหารที่ไร้สารพิษ เกษตรปลอดภัย ๆไม่ใช่ว่ามีสารพิษมาเจือปน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อสู้แบบชาวบ้าน
“กฟผ.มาทำงานในพื้นที่หาเสียงแบบการเมือง ถ้าเป็นการเมืองต้องโดนใบแดงไปแล้วมีการจัดตั้งมวลชนมาต่อต้านกลุ่มที่คัดค้าน แจกจ่ายสิ่งของ โฆษณาชวนเชื่อ พาชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายไปเที่ยว สนับสนุนผู้ใหญ่บ้านกำนัน ทุ่มทอดกฐินตามวัดต่างๆ คนที่ต่อต้านคัดค้านโรงไฟฟ้าจะถูกสร้างกระแสให้เป็นคนที่แปลกแยก ที่อำเภอหัวไทรเป็นพื้นที่ที่มีกระแสลมดีที่สุดในประเทศไทยมีการตั้งฟาร์มกังหันลม เราต้องการแบบนี้สะอาดและปราศจากมลภาวะกับชาวบ้าน”นายสุเทพกล่าว
สำหรับบนเวทีปราศรัยนั้นได้มีนักวิชาการเช่น ผศ.ประศาสตร์ มีแต้ม จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้ทรงภูมิรู้ด้านสิ่งแวดล้อมจากกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าจะนะ กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นให้ความรู้กับชาวบ้านถึงผลประทบของโรงไฟฟ้ารวมทั้งความไม่ปกติของแผนผลิตไฟฟ้า แผนพลังงานสำรองหรือที่เรียกว่าแผน พีดีพี 2007 และ พีดีพี 2010 อย่างดุเดือด
ส่วนสาระสำคัญในเนื้อหาแถลงการณ์ ที่ออกโดย ประชาชนหัวไทร ลุ่มน้ำปากพนัง คือขอปกป้องแผ่นดินบรรพบุรุษอย่างสุดชีวิต พร้อมเดินตามรอยพ่อตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทุกพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเป้าหมายของกลุ่มทุน มีโครงการขนาดใหญ่เข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งบางโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร เปิดศูนย์ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ เน้นการแจกของให้หน่วยงานต่างๆ สร้างอิทธิพลคุกคามชาวบ้านที่ต่อต้าน เพิกเฉยต่อความคิดเห็นของชาวบ้าน ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นจริง แต่ในความเป็นจริงนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพลังงานสกปรกที่สุดในโลก จึงขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกโครงการทันที
“และให้ทีมงานทั้งหมดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมทั้งทีมศึกษาโครงการออกไปจากพื้นที่ทันทีเช่นกัน และขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการการใช้ไฟฟ้าพลังงานลมขึ้นมาทดแทน เนื่องจากพื้นที่ อ.หัวไทร เหมาะสมในการพัฒนาพลังงานด้านนี้มากที่สุด และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจะเป็นต้นแบบการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนต่อไปของประเทศ หากไม่มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ภาคประชาชนจะมีมาตรการเชิงรุกและเฉียบขาดต่อกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมทั้งหมดเช่นกัน”
ส่วนความเคลื่อนไหวของ กฟผ.ในพื้นที่ มีการส่งคนเข้ามาปะปนติดตามการชุมนุมของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด และพบว่ามีแผนที่จะนำกลุ่มแกนนำที่มีการจัดตั้งไปทัวร์ศึกษาดูงานในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือเป็นระยะๆ และล่าสุดในวันที่ 20-24 ธ.ค.53 มีการเชิญบรรดานักจัดรายการในสถานีวิทยุชุมชน และสื่อท้องถิ่นร่วมเดินทางไปท่องเที่ยวศึกษาดูงานในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ที่แสดงความจำนงเดินทาง เป็นบรรดาผู้จัดรายการวิทยุชุมชนเป็นส่วนมาก
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2412 ครั้ง