โอ๊ค –เอม เฮ!ศาลภาษีฯ สั่งสรรพากรงดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นแอมเพิลริช ชี้แม้วเป็นเจ้าของตัวจริง
วันที่ 29 ธ.ค.ที่ห้องพิจารณา 306 ศาลภาษีอากรกลาง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งในคดีที่ นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชาย และบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้แทนคดีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากร ,นายสุทธิชัย สังขมณี ,นายศิริศักดิ์ พันธ์พยัคฆ์ และนายณัฎฐภพ อนันตรสุชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินภาษีของกรมสรรพากร เป็นจำเลยที่ 1 – 4 เรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประเมินภาษีของนายพานทองแท้จำนวน5,677,136,572 บาท และของ น.ส.พิณทองทา จำนวน5,675,676,860.08 บาท
โจทก์ระบุฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2550 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมิน ภาษีเงินได้ แบบ ภงด.12 ปี 2549 ว่าโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้อง เนื่องจากตรวจพบว่า เมื่อปี 2549 โจทก์เป็นกรรมการ บริษัทแอมเพิล ริช อินเวสเมนต์ จำกัด ได้ซื้อหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยทําการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2549 จำนวน 164,600,000 หุ้นในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่หุ้นชินคอร์ปฯมีราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หุ้นละ 49.25 บาท หุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัท แอมเพิล ริช ฯขายให้โจทก์เป็นหุ้นชนิดไร้ใบหลักทรัพย์ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ จะนำหุ้นลักษณะนี้ไปฝากไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศไม่ได้ การซื้อหุ้นไม่ว่าในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ลงบันทึกบัญชีของผู้ฝากหลักทรัพย์ในสำนักหักบัญชีของบริษัทศูนย์ฝากหลักทรัพย์ และพบว่าได้มีการโอนหลักทรัพย์หุ้นชินคอร์ปฯจากผู้รักษาทรัพย์ช่วง คือ ธนาคารซิติแบงก์ฯ ไปยังโบรกเกอร์ คือ บริษัท หลักทรัพย์ยูบีเอส จำกัด (มหาชน) จำนวน 164,000,000หุ้น ดังนั้นการซื้อขายหุ้นของโจทก์จึงเป็นการซื้อขายหุ้นในประเทศไทย การที่บริษัทแอมเพิล ริชฯ ขายหุ้นชินคอร์ปฯให้กับโจทก์ในวันดังกล่าว จึงมีผลส่วนต่าง ที่คำนวณได้เป็นเงิน 7,941,950,000บาท
โดยถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทแอมเพิล ริชฯได้รับประโยชน์ เข้าลักษณะพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40 (2) แต่โจทก์ได้ยื่นแบบ ภงด.90 โดยไม่นำเงินได้ส่วนต่างจำนวน 7,941,950,000 บาท มารวมคำนวณเสียภาษี ถือว่าสำแดงรายการต้องเสียภาษีไม่ครบ ดังนั้นโจทก์ทั้งสอง จะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับอีก สองเท่า โดยของโจทก์ที่1รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,904,791,172.29 บาท โจทก์ที่2 รวม 5,676,860,088บาท นั้นโจทก์ไม่เห็นด้วย จึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 , 3 และ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ย.52 คณะกรรมการอุทธรณ์ฯได้ลดภาษีให้บางส่วน แต่ยังคงให้โจทก์ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตามเดิม
โจทก์ขออุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานการประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯทุกประเด็น และขอให้ศาลมีคำสั่งปลดภาษี และเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงาน และขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯพร้อมขอลดเบี้ยปรับด้วย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีที่ อม.1/2553 ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา(ขณะนั้น) ผู้คัดค้านที่ 1 นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 2 นางสาวพิณทองทา ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 3 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้คัดค้านที่ 4 กับพวกรวม 22 คน โดยศาลฎีกาฯได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวว่าหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,419,490,150 หุ้นที่พิพาทในคดีดังกล่าว (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหุ้นที่พิพาทในคดีนี้) ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานโดยให้นายพานทองแท้ (โจทก์ที่ 1 ในคดีนี้) และนางสาวพิณทองทา (โจทก์ที่ 2 คดีนี้) เป็นผู้ถือหุ้นแทนในระหว่างที่ พ ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณได้โอนหุ้นจำนวน 32,900,000 หุ้น ให้แก่บริษัท แอมเพิล ริช ฯ โดยพ.ต.ท.ทักษิณยังคงเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริงอยู่
ต่อมาบริษัท แอมเพิล ริชฯ ได้มีการจดทะเบียนลดมูลค่าหุ้นจากที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เหลือหุ้นละ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า และเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2549 บริษัท แอมเพิลริชได้โอนหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดให้นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาคนละ 164,600,000 หุ้น ต่อมาในวันที่ 23 ม.ค. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณได้รวบรวมหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ตนเองยังคงเป็นเจ้าของที่แท้จริงขายให้แก่เทมาเสก ประเทศสิงคโปร์ เงินที่ได้มาจากการขายหุ้นดังกล่าวตลอดจนเงินปันผลของหุ้นที่พ.ต.ท.ทักษิณได้รับเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคล และผลประโยชน์ส่วนรวมในขณะที่ดำรงตำแหน่ง และศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาให้ยึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นรวมทั้งเงินปันผลของหุ้นดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาโจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นคู่ความอยู่ในคดีดังกล่าว และแม้ว่ากรมสรรพากรจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในคดีนี้ จะมิได้เป็นคู่ความโดยตรงในคดีดังกล่าวแต่ก็ถือเป็นหน่วยราชการและเจ้าพนักงานของรัฐในการปฏิบัติราชการตามกฎหมายเช่นเดียวกับอัยการสูงสุดซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว ย่อมถือว่าคู่ความในคดีดังกล่าวและคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาฯ วินิจฉัยไว้ว่าหุ้นที่พิพาทยังคงเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานจึงมีผลผูกพันคู่ความในคดีนี้ด้วยตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
ดังนั้นจึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่านายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา มิใช่บุคคลที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นที่พิพาท เงินได้ที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นดังกล่าวจึงเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินภาษีของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 150,000 บาท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฟังคำพิพากษาในวันนี้นานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ฝ่ายโจทก์มีนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ทนายความและผู้ติดตามอีก 3 คนเดินทางมาศาล ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีจำเลยหรือผู้แทนมาศาลแต่อย่างใด ภายหลังทนายความโจทก์ กล่าวว่า หลังจากนี้ก็จะรายงานผลคำพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองทราบ ซึ่งเชื่อว่าศาลได้พิจารณาด้วยความเป็นธรรม และหากว่ากรมสรรพากรจะยื่นอุทธรณ์ ก็สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายโจทก์ก็จะรวบรวมหลักฐานต่อสู้คดีต่อไป