อิสลามควรเอาอย่างจีนเรื่องสงครามสื่อครอบโลก
โดย เบ๊นซ์ สุดตา
ประเทศกลุ่มมุสลิมแม้ว่าจะมีพลานุภาพทั้งด้านการเงินและทรัพยากรยุทธศาสตร์เช่น
น้ำมัน อยู่มากมายและมหาอำนาจต่างต้องเกรงใจและหันมาสัมพันธ์ด้วยก็ตาม
แต่ในปัจจุบันที่โลกของการสื่อสารไร้พรมแดนได้รุดหน้าไปมาก
ทำให้การแข่งขันทางอำนาจต้องมีการปรับรูปโฉมไปอย่างมาก และหนึ่งในเครื่องมือทางอำนาจที่ขาดไม่ได้เลย
และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทาง บทบาท
และสถานภาพทางอำนาจในระเบียบระหว่างประเทศ (International Order) ก็คือ การมีสื่อครอบโลกในมือ
เป็นที่น่าแปลกใจมากว่า
ในช่วงเริ่มสหัสวรรษใหม่ได้ไม่นาน สื่อตัวแทนโลกอาหรับและมุสลิมอย่าง Al Jazeera ของประเทศกาตาร์จะสามารถปักธงและยึดหัวหาดบนแผนที่อำนาจของสงครามสื่อครอบโลกได้
และทำให้ตะวันตกต้องหันมาใส่ใจเสียงของชนชาติอาหรับและชาวมุสลิมในเวทีโลกมากขึ้น
ขณะที่ประเทศสหรัฐฯเองกลับต้องประสบความเสียหายด้านภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในสายตาชาวโลกไปมากระหว่างช่วงสงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะการยกทัพบุกอิรัก
การเกิดขึ้นของ Al
Jazeera เองถือว่าเป็นหลักชัยสำคัญของโลกมุสลิมในการตอบโต้อำนาจสื่อครอบโลกของตะวันตก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากช่วงเหตุการณ์
11 กันยายน 2001 และสงครามถล่มอิรักก็คือ
กระแสและการกล่าวขวัญถึงสื่อจากโลกมุสลิมกลับแผ่วบางลงไป
ไม่ร้อนแรงเหมือนช่วงตอนต้นสหัสวรรษนี้ ทั้งๆที่สามารถตั้งหลักได้ดีในช่วงแรกๆ
ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าสื่อจากโลกมุสลิมนั้นหมดพลังลงไปมากเมื่อเทียบกับตอนช่วงหลัง
11 กันยาฯและสงครามอิรัก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ Al Jazeera เองเกาะกระแสช่วงนั้นได้เป็นผลสำเร็จ
แต่อย่างไรก็ตามหากดูในบริบทปัจจุบันก็ยังต้องยอมรับว่าสื่อตะวันตกทั้งสื่อโทรทัศน์
หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ และ แวดวงวิชาการนั้น
สื่อของโลกมุสลิมยังไม่มีอำนาจมากพอในการแผ่อิทธิพลอย่างรอบด้านเหมือนสื่อตะวันตก
สื่อมุสลิมเป็นได้อย่างมากแค่การถ่วงดุลสื่อตะวันตกในประเด็นภูมิภาคและโลกมุสลิมเท่านั้น
ขาดอำนาจในการสำเสนอและชี้นำอยู่
แต่สิ่งที่โลกมุสลิมควรดูเป็นแบบอย่างและลองมาปรับใช้ก็คือ
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนกระบวนทัพองค์กรสื่อของจีนที่มีความพร้อมเพรียงและมีอิทธิพลขยายตัวอย่างรวดเร็วมากในปัจจุบัน
ทั้งนี้ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สื่อจีนเองมีบทบาทมากขึ้นตามการผงาดของจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
รวมถึงด้านเทคโนโลยีด้วย ดังนั้นแง่หนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกมุสลิมควรให้ความสำคัญกับการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจให้มากกว่านี้
หรือพูดในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองก็คือ การขยายฐานอำนาจด้านการสื่อสารและวัฒนธรรมผ่านการขยายอำนาจตลาดและเศรษฐกิจ
ซึ่งจุดนี้เองจะทำให้ทั่วโลกหันมาจับจ้องโลกอิสลามกันมากขึ้นด้วย
ไม่ใช่เฉพาะศักยภาพทางเศรษฐกิจจะนำมาซึ่งการหันมาสนใจและฟังเสียงประชาคมมุสลิมมากขึ้นเท่านั้น
แต่การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจผ่านการวางเครือข่ายอันใหญ่โตไปทั่วโลกจะช่วยนำมาซึ่งการขยายฐานการครอบคลุมของสื่อและทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการพัฒนาองค์กรสื่อทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพด้วย
ทั้งนี้การที่จีนมีการค้าและการลงทุนแผ่ขยายไปทั่วโลกทำให้ในแงหนึ่งการรับรู้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายของประเทศจีนเป็นสิ่งจำเป็นต่อนักธุรกิจต่างประเทศที่ติดต่อค้าขายกับจีนมาก
ซึ่งด้วยบทบาททางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเองทำให้หนังสือพิมพ์อย่างไชน่าเดลี่ (China Daily) ของจีนเองสามารถวางจำหน่ายในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอื่นๆไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก
ลอนดอน บรัสเซลส์ รวมถึงเมืองใหญ่ๆในเอเชียนอกเหนือจากในฮ่องกง
ขณะเดียวกันสื่อของรัฐบาลเองอย่างซินหัวซึ่งถือเป็นแม่ทัพหลวงขององค์กรสื่อจีนยังมีความใส่ใจต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้วย
ซึ่งในปัจจุบันซินหัวและสถานีโทรทัศน์ลูกอย่าง CNC World มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆอย่างรอบด้านทั้งอินเตอร์เน็ต
โทรศัพท์มือถือ ไอโฟน ไอแพด ทีวีผ่านดาวเทียม เคเบิ้ล
อีกทั้งทางการจีนยังมีนโยบายชัดเจนในการทำตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิตอลในต่างประเทศมากขึ้นด้วย
นอกจากนั้นแล้ว
การขยายสถานีเครือข่ายและการรายงานข่าวได้หลากหลายภาษายังเป็นอีกความได้เปรียบหนึ่งซึ่งสื่อจีนค่อนข้างล้ำหน้ากว่าสื่อตะวันตกมาก
ซึ่งสื่อตะวันตกส่วนใหญ่มักจะสื่อสารกับผู้คนเป็นภาษาอังกฤษ
ซึ่งนัยหนึ่งหมายความว่า
มหาอำนาจโลกต้องการให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลเพียงหนึ่งเดียวของโลก
เป็นการลดความสำคัญของระบบท้องถิ่นนิยมทั่วโลกลง
และยังเป็นการควบคุมการเข้าถึงความรู้และการสร้างอิทธิพลทางความคิดครอบงำประชาคมโลกด้วย
แต่รัฐบาลจีนกลับทำตรงกันข้ามกับสื่อตะวันตก
โดยรัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อการขยายการรายงานข่าวในภาษาท้องถิ่นอื่นๆให้มากขึ้น
ซึ่งตัวอย่างนี้ให้ได้ชัดเจนจากเว็บข่าวซินหัวของทางการจีนซึ่งจะมีตัวเลือกภาษาเป็นภาษาหลักอื่นๆของโลกด้วย
นอกจากนั้นแล้วสถานีโทรทัศน์ CNC World ของซินหัวเองยังได้มีการขยายบริการการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ในภาษาอื่นๆด้วย
ทั้งนี้สื่อจีนมีความครอบคลุมภาษาอื่นๆด้วยทั้งฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี
สเปน และอาหรับ ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่จีนถือเป็นปรัชญาก็คือ
การพยายามสื่อสารโดยตรงให้ทั้งคนจีนและคนในประเทศอื่นๆมีความเข้าใจซึ่งกันและกันที่ตรงกัน
โดยไม่ต้องผ่านมุมมองของสื่อตะวันตก ทั้งนี้การใช้ภาษาและคนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลถือเป็นกุญแจสำคัญข้อหนึ่ง
โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การออกนิตยสาร China Today ฉบับภาษาเติร์ก ซึ่งมีการให้พื้นที่เนื้อหาที่ทั้งเรื่องจีน
เรื่องตุรกี และมุมมองของคนตุรกีต่อจีนด้วย ก่อให้เกิดการสื่อสารแบบ 2
ทางและเข้าใจความต้องการของคนตุรกีมากกว่า
ดังนั้นแล้วหากประชาคมมุสลิมต้องการพลังในการสื่อสารและสร้างอิทธิพลทางความคิดในระดับโลกควรดูตัวอย่างการสร้างยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในลักษณะองค์รวมของจีน
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งในตอนนี้ก็คือ โลกอิสลามนั้นมีความหลากหลายมากกว่าจีนมาก
ความง่ายของจีนก็คือ เป็นประเทศใหญ่ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวทางเชื้อชาติและภาษา
ดังนั้นโลกมุสลิมควรหันมาตระหนักความเป็นพี่น้องร่วมกัน ก้าวผ่านพรมแดนของรัฐชาติ
ทั้งนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศมุสลิมควรมีสำนักข่าวและสถานีโทรทัศน์รวมถึงสำนักพิมพ์ที่เป็นประเทศมุสลิมเป็นเจ้าของร่วมกัน
ซึ่งช่องทางนี้สามารถทำได้ผ่านองค์กรอย่าง OIC ซึ่งความจริงแล้ว
โลกอิสลามก็มีสื่อสากลของตัวเองก็คือ สำนักข่าวอิสลามนานาชาติหรือ IINA
ทั้งนี้ IINA ควรมีทรัพยากรทางการเงินและบุคลากรที่มากกว่านี้
และมีการเข้าสู่ธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น มีการปรับระบบบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีความร่วมมือกับสื่อท้องถิ่นอื่นๆทั้งโทรทัศน์
สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ในประเทศมุสลิมให้มากขึ้น
ทั้งนี้สื่อสิ่งพิมพ์โดยประเทศมุสลิมจำเป็นจะต้องตั้งเป้าในการเผยแพร่เนื้อหา
แนวคิด และความเห็นในเชิงวิชาการถ่วงดุลกับสื่อจีนและโลกตะวันตกมากขึ้น
ซึ่งการสื่อสารค่านิยมที่ถูกต้องของโลกอิสลามและภาพในด้านอื่นๆของมุสลิมทั้งสังคม
เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้มุสลิมมีปัญหาในการจัดการกับสงครามสื่อครอบโลก
การจัดพิมพ์หนังสือ ตำรา และวารสาร/นิตยสารทางวิชาการและธุรกิจจึงเป็นช่องทางสำคัญในระยะยาวที่จะช่วยให้ทั่วโลกเข้าใจจุดยืนทางความคิดได้ดีกว่าสื่ออื่นๆ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1381 ครั้ง