นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจสอบผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีในต่างจังหวัดตามที่เกษตรกรจำนวนมากร้องเรียนเข้ามา พบว่ามีการจำหน่ายปลีกปุ๋ยเคมีเกินกว่าราคาที่กรมฯ กำหนดจริง ละได้ตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ผลิต ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีรายใหญ่ทั้งหมด พบว่าได้ฉวยโอกาสขึ้นราคาปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 จากตันละ 1.1 หมื่นบาท เป็นตันละ 1.2-1.25 หมื่นบาท
เบื้องต้น กรมฯ เตรียมดำเนินคดีกับผู้นำเข้ารายดังกล่าว เพราะขณะนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้ปรับราคา และการปรับราคาจะต้องเป็นไปตามมาตรการที่กฎหมายกำหนดว่าผู้ผลิต ผู้นำเข้า จะต้องแจ้งราคาจำหน่าย และห้ามมีการเปลี่ยนแปลงราคาก่อนได้รับอนุญาต
“หากผลพิจารณาพบว่าผู้นำเข้าดังกล่าวผิดจริง จะดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะถือเป็นการจำหน่ายปุ๋ยเคมีเกินราคาแนะนำที่กำหนดไว้ ซึ่งหากเกษตรกรรายใดได้รับความเดือดร้อนจากการหาซื้อปุ๋ยเคมีไม่ได้ หรือซื้อแพงกว่าราคาแนะนำ สามารถแจ้งความเดือดร้อนได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่อไป” นางวัชรีกล่าว
นายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้า 7 กลุ่มที่มีกระแสข่าวว่าผู้ผลิตได้ยื่นขอปรับขึ้นราคาอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้ยังไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคา หากผู้ผลิตรายใดแอบขึ้นราคาและจับได้ว่าเป็นยี่ห้อไหน จะขึ้นบัญชีดำห้ามปรับขึ้นราคาทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า จากปัญหาน้ำมันปาล์มยังขาดแคลนและมีราคาแพง และแม้จะมีการควบคุมราคาขายปลีกแบบบรรจุปี๊บและถุงก็ตาม แต่ยังพบมีการจำหน่ายเกินราคา ส่งผลให้สินค้าที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบเริ่มมีการปรับขึ้นราคาขึ้น เช่น ร้านขายปาท่องโก๋บางรายปรับขึ้นราคาจากตัวละ 1 บาท เป็น 2 บาท รวมทั้งร้านขายไก่ทอดปรับราคาเพิ่มขึ้นชิ้นละ 5 บาท เช่น สะโพก จากชิ้น 30 บาท เป็น 35 บาท เป็นต้น
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ จะหารือร่วมกับคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยที่ผ่านมาภาคเอกชนเคยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลราคารสินค้าขึ้นมาในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) หลายครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้า ซึ่งโดยหลักการแล้ว ภาคเอกชนเห็นด้วยที่คณะทำงานคอยดูแลราคาสินค้า แต่ถ้ามีการตรึงราคาสินค้านานเกินไป ถือว่าไม่ปกติ เพราะทำให้กลไกโครงสร้างตลาดบิดเบือน
“คิดว่าถ้ารัฐบาลดูแลแค่ 3 เรื่องหลัก คือ การค้ากำไรเกินควร การกักตุนสินค้าจนเกิดปัญหาขาดแคลน และภาวะการผูกขาดตลาดได้ ก็ควรปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด แล้วคอยดูราคาเป็นช่วงๆ ก็พอ เพราะปัจจุบันมีสินค้าควบคุม และสินค้าเฝ้าระวังที่เวลาจะขอปรับขึ้นราคาแต่ละทีก็ลำบาก ทำให้เปรียบเหมือนการคุมราคาสินค้าไปในตัวอยู่แล้ว” นายพยุงศักดิ์กล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1389 ครั้ง