ซาอุดิอาระเบียรู้สึกกังวลว่า ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่
วโลกอาจดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้
นได้ แต่ยืนยันประเทศยังเหนียวแน่นกั
บการผูกค่าเงินริยัลกับดอลลาร์
สหรัฐฯอยู่ ผู้ว่าการธนาคารกลางซาอุดิ
อาระเบียเปิดเผยวานนี้ (จันทร์ที่ 24 มกราคม 2011)
อัตราเงินเฟ้อในซาอุดิอาระเบียพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือนมาอยู่ที่ 6.1% เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว จากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและที่อยู่อาศัย นับจากนั้นอัตราเงินเฟ้อก็คลายตัวลงมา แต่บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่า แรงกดดันด้านราคาที่มากขึ้นกำลังจะกลับมา
“หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เรากังวลคือเรื่องเงินเฟ้อ” นายมูฮัมหมัด อัลจัสเซอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางซาอุดิอาระเบียกล่าวในที่ประชุมทางธุรกิจในนครริยาดวานนี้
ข้อคิดเห็นของนายอัลจัสเซอร์สอดรับกับนายอิบราฮิม อาลัสซาฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งกล่าวไว้ว่า เงินเฟ้อคลายตัวลงมาเล็กน้อยแต่ชาติสมาชิกกลุ่ม G20 ควรต้องระมัดระวังตัวอยู่
อัตราเงินเฟ้อในซาอุดิอาระเบียชะลอตัวลงมาเหลือ 5.4% ต่อปีเมื่อเดือนธันวาคม 2010 ที่ผ่านมา จากระดับ 5.8% ต่อปีเมื่อเดือนพฤศจิกายน แต่การพุ่งขึ้นของราคาอาหารโลกที่คาดการณ์กันไว้ในปีนี้อาจเพิ่มแรงกดดันทางราคาให้กับซาอุซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร
“เงินเฟ้อด้านอาหารในบริบทโลกถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่มาก” นายจอห์น สะฟาเคียนาคิส (John Sfakianakis) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารบองก์ ซาอุดิ ฟรานซี่ (Banque Saudi Fransi)
“ซาอุดิอาระเบียพึ่งพาการนำเข้าอาหารอย่างมาก ความกังวลไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นมามากในช่วงไม่นานมานี้อย่างข้าวสาลีและธัญพืชอื่นๆเท่านั้น แต่แน่นอนราคาข้าวด้วย” เขากล่าว
ซาอุดิอาระเบียกลายเป็นผู้ซื้อข้าวสาลีรายใหญ่และต้องการสร้างสำรองยุทธศาสตร์ของโภคภัณฑ์พื้นฐานต่างๆเช่น ข้าวสาลี ข้าว น้ำมันปรุงอาหารชนิดต่างๆ และน้ำตาล เพื่อรับมือกับราคาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูง
ล่าสุด ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ในเดือนธันวาคม 2010 ระบุว่า พวกเขาคาดว่าเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของซาอุดิอาระเบียจะอยู่ที่ 5% โดยเฉลี่ยในปีนี้ หลังจากแตะระดับ 5.3% ในปี 2010
เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่อง
นายอัลจัสเซอร์กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ควรจะพอๆกับระดับ 3.8% ในปี 2010 หากไม่ไดีไปกว่านี้ ต่อมาเขากล่าวที่งานแถลงข่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจซาอุสามารถไปได้ถึง 4.5% ตอกย้ำว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปีนี้จะโตขึ้นเช่นกัน
การคาดการณ์ของผู้ว่าแบงก์ชาติซาอุดีกว่าผลสำรวจของรอยเตอร์เล็กน้อย ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจซาอุดิอาระเบียในปีนี้จะเติบโต 4.3%
นอกจากนั้นนายอัลจัสเซอร์ยังได้ย้ำท่าทีของซาอุดิอาระเบียถึงการคงระบบการตรึงค่าเงินริยัลซาอุดิอาระเบียกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯเอาไว้ โดยกล่าวว่า ระบบนี้ยังทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของประเทศได้ดีอยู่
ในช่วงที่ดอลลาร์อ่อนค่าหลายต่อหลายครั้งมักจะก่อให้เกิดคำถามถึงความยั่งยืนต่อระบบการตรึงค่าเงินไว้กับดอลลาร์ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอ่าวเนื่องจากความเสี่ยงด้านเงิอเฟ้อที่เกิดจากการนำเข้า คูเวตเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอ่าวที่ยกเลิกการตรึงค่าเงินตัวเองไว้กับดอลลาร์ โดยโยกไปใช้ระบบตะกร้าเงินแทนในปี 2007 เพื่อควบคุมเงินเห้อที่ตอนนั้นพุ่งสูงขึ้นมาก
เงินดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อวานนี้ (จันทร์ที่ 24 มกราคม 2011) ที่ระดับ 1.3648 ดอลลาร์ต่อยูโร เงินยูโรพุ่งขึ้นกว่า 6% เศษๆในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากความกังวลถึงปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปที่คลายตัวลง
ธนาคารกลางของประเทศภูมิภาคอ่าวต้องคงอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของสหรัฐฯเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันที่มากเกินไปต่อระบบการตรึงค่าเงินไว้กับดอลลาร์เนื่องจากอาจเกิดการทะลักเข้าของเงินเก็งกำไร ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ธนาคารกลางเหล่านี้ไม่สามารถใช้เครื่องมือด้านนโยบายการเงินเพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารโลกได้โดยตรง
นายอัลจัสเซอร์ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังไม่มีเส้นตายสำหรับสหภาพการเงินของภูมิภาคอ่าวซึ่งล่าช้ามานาน ซึ่งสหภาพการเงินจะประกอบไปด้วยซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ และบาห์เรน
ที่มา ข่าว Real Time จากโปรแกรม Reuters 3000 Xtra
ไอดีข่าว nLDE70N0JN
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday